‘แรงงานไทย’ ไปทำงาน ‘อิสราเอล’ ต้องจ่ายอะไรบ้าง ?

15 ตุลาคม 2566 - 08:27

Cost-of-Thai-People-working-in-Israel-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปิดค่าใช้จ่าย ‘แรงงานไทย’ ไปทำงาน ‘อิสราเอล’ ร่วม 7 หมื่นบาท

  • ‘รองโฆษกฯ สำนักนายกรัฐมนตรี’ ยันไม่มีเรียกเก็บค่าบัสไปสนามบินเพิ่ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสราเอล ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานชาวไทย เดินทางไปประกอบอาชีพมากที่สุด หากเทียบกับประเทศในแถบดินแดนตะวันออกกลาง โดยจากข้อมูลของกรมการจัดหางาน ที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2561 - 2565 พบคนไทยจำนวนกว่า 35,576 คน เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  

ผนวกกับข้อมูลของสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่รายงานใกล้เคียงกันว่า อาชีพส่วนใหญ่ที่แรงงานเลือกทำ คือ พ่อครัว แม่ครัว ในธุรกิจร้านอาหาร และช่างฝีมือด้านต่างๆ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนในระดับที่สูงกว่าสายอาชีพ (ดังกล่าว) ในเมืองไทย ซึ่งแรงงาน 1 คน จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนร่วม 70,000 บาท ในการเข้าร่วมโครงการ 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุการแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายการเดินทาง (เท่าที่จ่ายจริง) ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง 1,500 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 3,250 บาท ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปยังอิสราเอล ประมาณ 25,000 บาท และค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท  

และค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงอิสราเอล ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจัดหางานที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานในรัฐอิสราเอล และค่าธรรมเนียมของโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล รวมประมาณ จำนวน 3,549 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 40,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ตามข้อกฎหมายแห่งรัฐอิสราเอล ซึ่งต้องจ่ายเมื่อเดินทางไปถึงรัฐอิสราเอล  

ในส่วนกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลระบุว่า แรงงานจำเป็นต้องจ่ายค่ารถโดยสารจากกระทรวงแรงงาน (เขตดินแดง กทม.) ไปสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 2,500 บาท นั้น ‘คารม พลพรกลาง’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยวันนี้ (15 ตุลาคม 2566) ว่าไม่เป็นความจริง และย้ำว่าไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากที่กระทรวงระบุไว้ 

ซึ่งตั้งแต่การเข้าโจมตี ‘อิสราเอล’ แบบสายฟ้าแลบของ ‘กลุ่มฮามาส’ กองกำลังติดอาวุธแห่ง ‘ปาเลสไตน์’ ที่รุกคืบจากฉนวนกาซา จนเกิดการปะทะกับ ‘อิสราเอล’ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ความคืบหน้าของสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ  

ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิต จำนวน 28 ราย (รอยืนยัน) บาดเจ็บ 16 ราย (ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์การเดินทางกับทางสถานทูตฯ จำนวน 7,540 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 7,446  ราย  และ แจ้งความประสงค์ไม่ขอกลับ จำนวน 94 ราย และขณะนี้ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 187 ราย

info-Cost-of-Thai-People-working-in-Israel.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์