กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด19 ปัจจุบันมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยสถานการณ์โรคโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่อัตราป่วยเสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ โดยหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568 ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น
“ข้อมูลก่อนสงกรานต์ วันที่ 1-10 เมษายน พบผู้ป่วยประมาณ 12,505 ราย หลังสงกรานต์พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 4-5หมื่นราย และข้อมูลปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นราย”
ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว โดยร้อยละ 84 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดยังคงเป็น XEC เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ก่อโรครุนแรง แต่แพร่กระจายเชื้อได้ดี
ทั้งนี้ อัตราการป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.03 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ผู้ที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจต้องสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสังคม เพื่อลดการแพร่เชื้อ เนื่องจากทั้งเชื้อโควิดและไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดที่สัมพันธ์กับกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก

“จึงต้องย้ำเตือนให้ดูแลป้องกันตนเองไว้ก่อน ยิ่งช่วงเปิดเทอมเริ่มภาคการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการรวมกลุ่มของนักเรียนจำนวนมาก มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญ”
“นอกจากนี้ การแสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ซึ่งจัดขึ้นในฮอลล์ที่ปิดทึบ อากาศไม่ถ่ายเท หรือการฝึกทหารใหม่ของกองทัพ ที่มีกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดติดกันปริมาณมาก ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นมาตรการที่ใช้ได้ผลเมื่อครั้งโควิด19 ระบาดใหญ่ ได้แก่ การสวมหนากากอนามัย ฉีดฆ่าเชื้อด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์หลังการจับต้องสัมผัสสิ่งต่างๆ จึงต้องนำกลับมาปฏิบัติอย่างเข้มข้นอีกครั้ง เพื่อป้องกันตนเองและลดการแพร่ระบาดของโรค”

ขณะที่กองทัพบก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีความห่วงใยเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโควิด จึงมอบหมายให้กรมแพทย์ทหารบก กำหนดมาตรการและดำเนินการแนะนำการปฏิบัติส่วนบุคคลเเละส่วนรวมในการฝึก และการดูแลความเป็นอยู่ของทหารใหม่ แจ้งไปยังหน่วยฝึกทั่วประเทศเพื่อให้การปฏิบัติในภาพรวมเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและเพื่อให้การฝึกทหารใหม่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ
โดยกองทัพบกได้กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้
1.สังเกตอาการทหารใหม่ หากพบอาการไอ เจ็บคอ ไข้สูง ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย มากกว่า 3นายขึ้นไป ให้รีบรายงาน
2.แจ้งหน่วยแพทย์ ติดต่อ รพ.ทบ.หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและควบคุมโรค
3.คัดกรองสุขภาพทุกวัน เช้าและเย็น ตรวจวัดอุณหภูมิ คัดกรองอาการเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
4.แยกทหารที่มีอาการ หากพบอาการเข้าข่าย ให้แยกการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
5.หาสาเหตุและตรวจสอบพื้นที่: เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
6.ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบจับสัมผัสบ่อยๆ และนำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มาตากแดด เพราะสุขภาพที่ดีของทหาร คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกภารกิจสำเร็จ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “โควิด19 หลากหลายสายพันธุ์ จึงยากที่จะป้องกันการติดเชื้อด้วยวัคซีนและimprint immunity หรือภูมิคุ้มกันที่จำไว้เดิม จะเป็นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม” ระบุว่า
โควิดไวรัส เป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและเกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างมากและรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ลดความรุนแรงของโรคลงตามกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ ระบบภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ จะยังคงความเดิมของสายพันธุ์เดิม หรือจำไว้เดิม
เมื่อได้รับสายพันธุ์ใหม่ หรือฉีดวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ ภูมิคุ้มกันจะไปกระตุ้นความจำเดิม imprint immunity ได้ดีกว่าสายพันธุ์ใหม่ ทั้งที่เราต้องการให้กระตุ้นสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่สายพันธุ์เดิม จึงเป็นเหตุผลที่ การฉีดวัคซีนซ้ำๆ หรือ การติดเชื้อซ้ำมาอีก ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นสายพันธุ์เดิมมากกว่าสายพันธุ์ใหม่ จึงทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง โดยเฉพาะจากวัคซีน
ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า การติดเชื้อ หรือวัคซีนที่เคยฉีด ร่างกายจะมีหน่วยความจำระดับเซลล์ ต่อตัวไวรัสโดยเฉพาะการทำลายไวรัสในระดับเซลล์ โดยภูมิที่สร้างความจำไว้ให้กับเซลล์ โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อ และหรือวัคซีน ทำให้การกำจัดไวรัสหลังการติดเชื้อ ได้ดีและเร็วขึ้น จึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคลง
“ปัจจุบันแม้จะพบผู้ป่วยได้มาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะน้อยลงและดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ เมื่อไม่มีอาการก็ไปโรงเรียนได้ไปทำงานได้ ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องหยุดกี่วัน สิ่งสำคัญคือ การป้องกันด้านสุขอนามัย ด้วยการล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ ถ้าป่วยให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคและการให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในการป้องกันโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคมือเท้าปากไปพร้อมๆ กัน จึงมีความสำคัญมากกว่า”