โควิด-19 ขาขึ้นลากยาว 2-3 เดือน ไม่รุนแรง เสียชีวิตลดลง แต่ยังคงกระทบเป้าหมายสุขภาพยั่งยืน

23 พ.ค. 2568 - 04:28

  • โควิด-19 ระบาดขาขึ้นยังไม่ถึงจุดพีค สธ.คาดกราฟยังสูงต่อเนื่อง 2-3 เดือน แต่อาการไม่รุนแรง “ชลบุรี-กทม.” พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด

  • สถานการณ์โควิด-19 แต่ละครั้งทำความยั่งยืนด้านสุขภาพ (SDG 3) และการขจัดความยากจน (SDG 1) เผชิญแรงกระแทก

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง พร้อมแนวโน้มการระบาดต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขย้ำความสำคัญของการป้องกันในกลุ่มเปราะบาง ท่ามกลางข้อกังวลในระดับโลกต่อผลกระทบระยะยาวต่อระบบสุขภาพและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของปี 2568 (11–17 พฤษภาคม) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 49,065 ราย ทำให้ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 136,348 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 29 ราย และในช่วงต้นสัปดาห์ถัดมา (เริ่ม 18 พฤษภาคม) พบผู้ป่วยใหม่อีก 1,447 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 337,303 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 33 ราย

สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 36,580 ราย ชลบุรี 9,931 ราย นนทบุรี 7,241 ราย ปทุมธานี  5,374 ราย และสมุทรปราการ 5,327 ราย โดยกรมควบคุมโรคระบุว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน จาก 0.14% ในช่วงการระบาดก่อนหน้า เหลือเพียง 0.02% ในปัจจุบัน


“สิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือกลุ่มเปราะบาง 608 ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงโรคอ้วนผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกาย (BMI > 35) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หญิงมีครรภ์ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นกลุ่มที่ต้องปกป้องเป็นพิเศษไม่ให้ป่วยทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมนี้ เราเน้นย้ำให้สถานศึกษามีระบบคัดกรองที่เข้มงวด และขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากในพื้นที่เสี่ยง”

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ แพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าว

ความยั่งยืนด้านสุขภาพ (SDG 3)  และความยากจน (SDG 1) ยังเผชิญแรงกระแทก

แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะดูมีแนวโน้มควบคุมได้ดีขึ้น แต่อย่างน้อยในระยะสั้น การระบาดระลอกใหม่ยังคงสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 3 (SDG 3) ที่มุ่งเน้นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการดูแลสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

องค์การสหประชาชาติ (UN) และธนาคารโลก (World Bank) รายงานว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบบริการสุขภาพทั่วโลกลดระดับประสิทธิภาพลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อยที่ประสบปัญหาการหยุดชะงักของบริการพื้นฐาน เช่น การฉีดวัคซีนแม่และเด็ก การรักษาโรคเรื้อรัง และการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ

ในปี 2020–2021 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผลกระทบทางอ้อมรวมกันกว่า 14.9 ล้านคน ทั่วโลก ขณะเดียวกันปัญหาสุขภาพจิตในหลายประเทศก็ทวีความรุนแรง โดยอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% จากช่วงก่อนการระบาด

ข้อมูลจากรายงาน UN SDG Report 2024 ยังระบุว่า กว่า 90% ของประเทศสมาชิกเผชิญกับการหยุดชะงักของบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนยังคงเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา 

ขณะเดียวกัน การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อ เป้าหมาย SDG 1: ขจัดความยากจน โดยย้อนรอยความก้าวหน้าที่โลกได้สะสมมานานหลายทศวรรษ ธนาคารโลกระบุว่าในปี 2020 เพียงปีเดียว มีประชากรโลกกว่า 90 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะในประเทศรายได้น้อยที่ระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการล็อกดาวน์และการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

มาตรการเชิงรุกและความร่วมมือคือคำตอบ

แม้โควิด-19 จะมีอาการไม่รุนแรงในปัจจุบันและวัสดุอุปกรณ์ป้องกันมีเพียงพอในประเทศไทย แต่กระแสการระบาดที่กลับมาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นสัญญาณเตือนให้ทั้งภาครัฐและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบบสาธารณสุขที่มีความยั่งยืนและสามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำถึงบทบาทของสุขอนามัยส่วนบุคคล การคัดกรองในโรงเรียน และการปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอการระบาด พร้อมระบุว่าหากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างเข้มข้น คาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ภายใน 2-3 เดือน

ความยั่งยืนเริ่มต้นที่การไม่ประมาท

แม้โควิด-19 จะไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเช่นเดียวกับช่วงวิกฤตในปี 2563–2564 แต่การระบาดที่ยังเกิดขึ้นในปี 2568 สะท้อนว่าความยั่งยืนด้านสุขภาพไม่ใช่เพียงเรื่องของการมีเตียงพอหรือยารักษาเพียงพอเท่านั้น หากแต่รวมถึงการเตรียมความพร้อมในระดับโครงสร้าง การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ และการสร้างวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจเป็นเพียงบททดสอบอีกบทหนึ่งของระบบสุขภาพ แต่ก็เป็นบททดสอบสำคัญที่อาจกำหนดความสามารถของสังคมไทยในการสร้าง “ความยั่งยืนด้านสุขภาพ” อย่างแท้จริงในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์