เตือนขบวนการ 'รุกป่าเขาใหญ่' อย่าทำแบบ 'ลักหลับ'

22 ก.พ. 2567 - 06:59

  • อ่านสถานการณ์ ‘หมุด ส.ป.ก.’ ที่ ‘เขาใหญ่’ และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ประเทศอาจต้องสูญ ‘พื้นที่อนุรักษ์’ นับแสนไร่ กับ ‘ดำรงค์ พิเดช’ อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ

Damrong-Pidej-Ministry-of-Agriculture-Khao-Yai-Conservation-Area-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นศึก 2 กระทรวง ที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ กับ ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ กรณีข้อพิพาท ‘หมุดนิรนาม ส.ป.ก. 4-01’ ในเขตพื้นที่ ‘อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ ซึ่งมองเรื่องนี้ได้ 2 มิติ คือ มุมการเมืองระหว่าง ‘เจ้ากระทรวง’ ซึ่งมีสายสะดือใช้ร่วมกัน ภายใต้อุทรของ ‘พรรคพลังประชาชน’ กับอีกมุม คือกรณีการพยายามรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ โดยหวังว่า จะใช้ ส.ป.ก ในการเปลี่ยนเป็นโฉนดในอนาคตได้ 

ในมิติที่ 2 นี้ ‘ดำรงค์ พิเดช’ อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยความเห็นกับทีมข่าว SPACEBAR ว่า กระทรวงเกษตรไม่สามารถนำหมุดไปปักได้ตั้งแต่ต้น เพราะยังไม่ได้มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศยกเลิกการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ ‘เขาใหญ่’ จึงตีความได้ว่า ‘มีการเข้ากระทำอย่างพลการ’ ทำให้การแจ้งความของ ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ เป็นไปโดยชอบธรรม เพราะสุดท้ายใครเป็นผู้ลงนามก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. 

ส่วนระเบียบของ ‘สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร’ (ส.ป.ก.) ก็มีระบุไว้ชัดเจนในการประกาศเขตปฏิรูปแล้ว แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนไปก็อาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเชื่อว่ามาจากความตั้งใจของใครบางคร 

แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะมีใครอยู่เบื้องหลังการกระทำหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ยังคงเป็นที่กังวลของแวดวงอนุรักษ์ เพราะการเปิดเผยของ ‘ชัยวัฒน์’ ที่ออกมายืนยันว่า ยังมีอีก 43 อุทยานแห่งชาติจาก 156 แห่ง เนื้อที่นับแสนๆ ไร่ ถูกรุกล้ำในลักษณะนี้จาก ‘ขบวนการรุกป่า’

“แต่ทีนี้เขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชกฤษฎีการ 2505 หากคุณจะปักหมุดได้ คุณต้องยกเลิกเพิกถอยส่วนนี้ก่อน แต่นี่มันเหมือนเข้าไปลักลอบเสมือนคนบุกรุกป่าทั่วไป แม้นคุณจะมีกฎหมายในมืออยู่ แต่กฎหมายกระทรวงทรัพย์ฯ เขาก็มี มันก็เหมือนคุณลักหลับเข้าไปทำลายป่า ดังนั้นคนปฏิรูปที่ดินใครเป็นคนเซ็นต์ก็ต้องจับคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามถือว่ากระทำโดยผิดกฎหมาย อาจจะเป็นผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ก็ได้”

ดำรงค์ พิเดช กล่าว

อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ลักษณะที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับการ ‘ลักหลับ’ เนื่องจาก เป็นการแอบทำ โดยไม่รู้เห็นจากคนในชุมชน ชาวบ้านที่ออกโฉลด ส.ป.ก. ก็ไม่ทราบเรื่องราวทั้งหมด ทั้งนี้เชื่อว่าเรื่องทั้งหมดต้องจบที่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต่อมาจะดำเนินการเวนคืนพื้นที่อยู่แล้ว แต่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องมีการสู้กันในชั้นศาล ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าระหว่างนี้จะมีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกพื้นที่ต่อหรือไม่   

อย่างไรก็ดี การที่ ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ กับ ‘พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ หรืออีกนัยคือเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือพูดคุยกัน ถือเป็นมิติที่ดี และส่วนตัวพึงพอใจกับการให้สัมภาษณ์ของ ‘ผู้กองธรรมนัส’ ที่ออกตัว ‘ถอย’ และพยายามชี้แจงกับสังคม ว่าจะป้องกันไม่ให้ ส.ป.ก. เข้ามารุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีก ผ่านแนวคิดการสร้าง ‘พื้นที่กันชน’ เพื่อไม่ให้ราษฎรเข้าไปประกอบการเกษตรในอุทยานฯ ส่วนนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป  

แต่สำหรับกรณีที่จะใช้ ‘วันแม็ป’ ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ดำรงค์มองว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะสุดท้ายการออกแผนที่กลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายใช้พิจารณาร่วมกันอาจไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าหน่วยที่รับผิดชอบจัดทำมีความตรงไปตรงมาแค่ไหน อย่างที่ดินของนายทุนหรือผู้มีอำนาจ อย่าง สนามกอล์ฟ หมู่บ้าน และบ้านพักตากอากาศ ที่มักจะอยู่ติดกับพื้นที่อนุรักษ์ ย่อมอาจทำให้แผนที่ที่ออกมาไม่เป็นธรรมตามความจริงได้ จากการเอื้อรับเงินจากผู้ปฏิบัติงาน อย่างหลายๆ พื้นที่ที่เคยประสบมาแล้ว โดยการ ‘ตัดหัวเพิ่มหาง’ ไม่ให้ไปกินพื้นที่ของผู้ทรงอิทธิพล ส่วนตัวสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดี ก็เคยเจอกรณีของ อุทยานแห่งชาติศิรินาท จังหวัดภูเก็ต มี ‘การตัดหัว’ ภูเขาสูงๆ 2,900 กว่าไร่ออก แล้วไป 'เพิ่มหาง' ให้พื้นที่อนุรักษ์เท่าเดิม

“เรื่องวันแม็ปผมไม่หวังอะไร เพราะมันมีการทุจริตมาแล้วหลายครั้งจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งถึงเวลาตอนนี้ ผ่านมาหลายสิบปีก็เกษียณไปแบบไม่ถูกดำเนินคดี สำหรับผู้ลักหลับผมเชื่อว่า ยังไงก็ไม่พ้นโดนคดี จริงๆ ต้องจับเป็นรายกระทงแบบคุณ ปรีณา (ไกรคุปต์) เพราะ พื้นที่ ส.ป.ก. มันแบ่งเป็นแปลงๆ เกิน 20 ไร่ก็โทษหนัก ส่วนการแก้ไขระยะยาว สำนักงานปฏิรูปที่ดินก็ต้องไปแก้ไขตัวเอง โดยการไปฟังนโยบายรัฐมนตรี (ร้อยเอกธรรมนัส) ใครไม่ฟังก็ต้องลงโทษ”

ดำรงค์ พิเดช กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดทั้งมวลนอกจาก ‘ส.ป.ก.’ ที่อาจจะต้องทบทวนข้อจำกับ และศึกษากฎหมายอย่างครอบคลุมแล้ว เจ้าหน้าที่ของ ‘อุทยานฯ’ ก็ต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา พบเห็นหมุดรุกล้ำพื้นที่เมื่อใด ต้องแจ้งทางการให้ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป รวมถึงประชาชน หรือ 'ผู้ทรงอำนาจ' ที่อยู่เบื้องหลังต้องตระหนัก ด้านความถูกต้องด้วย

มิฉะนั้น ‘ป่าเมืองไทย’ อาจจะต้องศูนย์เสียมากกว่านับแสนไร่ อย่างที่เขานำข้อมูลมาเปิดเผยกับสาธารณะ…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์