เหตุการณ์สะเทือนขวัญโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ล่าสุดวันนี้ (18 ม.ค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ทยอยนำร่างผู้เสียชีวิตที่พบในพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ เพื่อนำไปพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่ ‘วัดโรงช้าง’ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร ก่อนมอบร่างคืนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
ขณะที่เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมฝ่ายปกครองจังหวัดสุพรรณฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าคดีที่วัดโรงช้าง
‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์’ บอกว่าวันนี้ลงมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยตอนนี้พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย ส่วนอีก 1 ราย เจ้าหน้าที่กำลังค้นหาอยู่ และต้องทำเเข่งกับเวลา เพราะศพถูกแรงระเบิดและไฟไหม้ด้วย หากใช้เวลานานจะส่งผลต่อสภาพศพ ทำให้พิสูจน์อัตลักษณ์ได้ยาก
ส่วนการเคลียร์พื้นที่เจ้าหน้าที่อีโอดีและพิสูจน์หลักฐาน ลงพื้นที่ไปแล้ว เป็นงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังเพราะไม่รู้ว่ายังมีความเสี่ยงที่จะระเบิดซ้ำหรือไม่ อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้รอดชีวิตเลย ดังนั้นการเก็บพยานหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์หาสาเหตุด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนการดำเนินคดีหลังจากนี้ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์’ อธิบายว่าโรงงานนี้มีใบอนุญาตถูกต้อง และมีตำรวจ-ฝ่ายปกครองเข้ามาตรวจสอบบ่อย แต่ต้องไปดูว่าโรงงานนี้มีการเก็บดินระเบิดมากน้อยแค่ไหน ยืนยันว่าทางคดีทำเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนการเยียวยาต่างๆ ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ
และมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่โรงงานแห่งนี้อยู่ห่างไกลจากชุมชน เบื้องต้นได้หารือกับฝ่ายปกครองเกี่ยวกับการวางแผนป้องกันระยะยาวว่า ต้องเร่งนำโรงงานลักษณะนี้ออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อลดผลกระทบ รวมถึงกำหนดโซนนิ่งห้ามมีพื้นที่ชุมชนโดยรอบอย่างน้อยในรัศมี 5 กิโลเมตร
ส่วนข้อสงสัยว่าโรงงานแห่งนี้เคยระเบิดมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2565 แล้วมีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เหตุใดถึงกลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้ง เรื่องนี้ ‘ดรณ์ สมิตะเกษตริน’ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงว่า โรงงานนี้เคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บ 4 คน
แต่ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยในการอนุญาตให้ประกอบกิจการและจำหน่ายสินค้าพวกดอกไม้ไฟ เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง เป็นการต่อใบอนุญาตแบบปีต่อปี ซึ่งการอนุญาตเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างอาคารว่ามีอุปกรณ์ดับเพลิงและมีผนังดินกั้นหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้ดำเนินการตามที่ระเบียบกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ใบอนุญาต ส่วนสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้คืออะไรขอให้ตรวจสอบอย่างชัดเจนก่อน
“ในความเห็นส่วนตัวของผม อาจเป็นข้อบกพร่องทางกฎหมาย เพราะการที่เขาผลิตแล้วเก็บไว้เท่าไหร่ ก็ไม่ได้ระบุว่าให้อำนาจฝ่ายปกครองเข้าไปตรวจสอบว่าเขาเก็บไว้เท่าไหร่ ซึ่งเมื่อวานนี้ท่านที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย ท่านรัฐมนตรีเกรียง ได้ลงมารับทราบข้อมูลว่าต้องแก้กฎหมายให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น”
— ‘ดรณ์ สมิตะเกษตริน’ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าแม้โรงงานดังกล่าวจะเกิดเหตุระเบิดมาแล้ว ยังสามารถได้รับโอกาสต่อใบอนุญาตได้อีกใช่หรือไม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ย้ำว่าได้ เพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ ไม่เหมือนการโซนนิ่งสถานบริการที่กำหนดว่าห้ามเปิดบริการกี่ปี ประกอบกับครั้งนี้ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเป็นอีกคนด้วย