‘อธิบดีโยธาฯ’ ขอ 90 วัน ทำแบบจำลองตึก ‘สตง.’

22 เม.ย. 2568 - 06:49

  • ‘อธิบดีโยธาฯ’ ขอเวลา 90 วัน สร้างแบบจำลองขั้นสูงตรวจสอบคู่ขนานปมตึก ‘สตง.’ ถล่ม ก่อนชง ‘ตร.-ดีเอสไอ’ ดำเนินการต่อ

  • ยัน ‘วิศวกรต่างชาติ’ ต้องขอ ‘ใบ กว.พิเศษ’ ให้ถูกต้อง หากไม่มีถือว่าผิดกฎหมาย

  • แนะ ‘ผู้รับเหมา-เจ้าของโครงการ’ ตรวจเช็ค สร้างความเชื่อมั่น

Director-General-of-the-Department-of-Public-Works-and- Urban-Planning-Building-collapse-SPACEBAR-Hero.jpg

‘พงษ์นรา เย็นยิ่ง’ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุการถล่มของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ว่า อย่างที่ได้เรียนกับนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยไป คือเราขอเวลา 90 วัน เพราะต้องสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงเพื่อไปวิเคราะห์เรื่องการออกแบบว่ามีข้อบกพร่องตกไหนที่ทำให้อาคารพังถล่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทำแบบจำลองโดย 4 สถาบันการศึกษา ร่วมกับกรมโยธาธิการฯ แบบต่างคนต่างทำแล้วจะนำมาเปรียบเทียบกัน การสร้างแบบจำลอง คณิตศาสตร์ต้องใช้เวลา เพราะต้องนำแบบก่อสร้างจริง ๆ ใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์ และจะประเมินด้วยการนำแรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใส่เข้าไป แล้วดูว่าตึกพังหรือไม่ ไม่จะเป็นการพิสูจน์ว่าพังเพราะการออกแบบหรือไม่ 

พงษ์นรา ยังกล่าวว่า ในเรื่องของการตรวจสอบการก่อสร้าง ก็ตรวจสอบจากเอกสารที่มีอยู่ เช่นรายงานประจำวันรายงานประจำสัปดาห์และเรื่องของเอกสารการขออนุมัติเทคอนกรีต เรื่องของการขออนุมัติรูปแบบการก่อสร้าง รวมถึงการเก็บตัวอย่างเหล็กและคอนกรีตไปทดสอบ ว่าดำเนินการตามมาตรฐานหรือไม่ซึ่งเป็นการทำแบบคู่ขนานไปทั้งสองด้าน ทางด้านการตรวจสอบเรื่องแบบและการก่อสร้าง 

เมื่อถามว่าผลการตรวจสอบครั้งนี้จะทำให้รู้ถึงสาเหตุและผู้ที่ต้องรับผิดชอบเลยหรือไม่ พงษ์นรา ระบุว่า ต้องรู้เพราะสาเหตุมีอยู่ 2 เรื่อง ไม่การออกแบบก็การก่อสร้างเราดูทั้ง 2 ทาง ว่าออกแบบ เป็นเหตุให้อาคารถล่มหรือไม่ซึ่งขณะนี้กำลังวิเคราะห์และแบบจำลองทางวิศวกรรมจะบอกเลยว่าพังหรือไม่พัง อีกเรื่องก็คือการก่อสร้างซึ่งมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก  

ส่วนผลหลังจากนี้จะนำไปสู่การดำเนินการอย่างไรต่อนั้น พงษ์นรา กล่าวว่า ทางกรมโยธาธิการฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงาน สืบสวนข้อเท็จจริงของอาคาร สตง. เมื่อได้ผลตรงนี้แล้วก็จะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือทางตำรวจและ กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI นำไปดำเนินการต่อเมื่อได้ผลออกมา 

ยัน ‘วิศวกรต่างชาติ’ ต้องขอ ‘ใบ กว.พิเศษ’ ให้ถูกต้อง 

นอกจากนี้ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี การสวมสิทธิ์จากวิศวกรจีนเข้ามาทำงานคุมไซต์งานก่อสร้างในประเทศไทย โดยอ้างว่าอาศัยวีซ่านักศึกษาเข้ามาทำงานในโครงการต่าง ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกรณีตึก สตง. ว่า การที่จะเข้ามาฝึกงานกรณีเป็นนักศึกษาต่างประเทศ และต้องการเข้ามาฝึกงานในประเทศไทยนั้นต้องขอวีซ่าฝึกงานในสถานที่ก่อสร้าง หรือศูนย์ราชการ หรือนักศึกษาต่างชาติแต่เนียนอยู่ในประเทศไทย เมื่อจะฝึกงานก็ต้องมีการออกหนังสือรับรองโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องไปตรวจสอบแหล่งที่มา ว่าผู้ที่มาฝึกงานนั้นมาจากที่ใด ขอถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่มี 

เมื่อถามว่าต้องมีการไปตรวจสอบตามไซต์งานต่าง ๆ หรือไม่เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น พงษ์นรา กล่าวว่า ตัววิศวกรที่ควบคุมงาน มี พ.ร.บ.วิศวกรที่ดูแลโดยสภาวิศวกร การที่จะมีคนต่างชาติ มาทำงานด้านวิศวกรรมโยธาในประเทศไทยตามกฎหมายสามารถทำได้แต่ต้องไปยื่นสอบกับสภาวิศวกร เมื่อผ่านการทดสอบหรือผ่านการสัมภาษณ์แล้ว ก็จะออกใบอนุญาตที่เรียกว่า ใบประกอบวิชาชีพภาคีพิเศษ ซึ่งจะระบุไว้ด้านหลังว่าทำงานด้านใดบ้าง ซึ่งต้องออกโดยสภาวิศวกร หากต่างชาติไปควบคุมการก่อสร้างอาคารโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หรือ ใบ กว.พิเศษ ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษจำและปรับ  

เมื่อถามต่อว่า พอมีกระแสข่าวแบบนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจได้อย่างไรบ้าง พงษ์นรา กล่าวว่า วิศวกรเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีผู้คุมงานและกรรมการ สามารถตรวจสอบได้จากผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่แจ้งได้ว่ามีใครเป็นผู้ควบคุมงานก็ต้องเช็ค ส่วนคนที่เป็นวิศวกรต่างชาติหรือเข้ามาฝึกงาน ก็ต้องฝึกงานภายใต้วิศวกรที่ได้รับอนุญาตโดยกฎหมายไทยและเป็นคนเซ็นให้ควบคุมงานนั้น ๆ จึงคิดว่าเจ้าของโครงการเองก็ต้องไปตรวจสอบผู้คุมงาน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์