ประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงข่าวความคดีหน้าคดีสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังอัยการสูงสุดเพิ่งได้รับสำนวนจากตำรวจมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 หรือผ่านมากว่า 19 ปี คดีเพิ่งจะมีความคืบหน้า
โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หน้า สภ.ตากใบ เวลาประมาณ 10.00 น. มีประชาชนมารวมตัวกัน 300-400 คน เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกจับหลังถูกกล่าวหาว่านำปืนลูกซองที่ราชการมอบให้ ไปให้คนร้าย แล้วแจ้งความเท็จว่าปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์
ต่อมาเวลา 13.00 น. เริ่มมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก และเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาช่วยเจรจาให้เลิกชุมนุม แต่ไม่เป็นผล เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการพล.ร.5 ในขณะนั้น จึงสั่งสลายการชุมนุม
โดยมีผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว 1,370 คน ผู้ถูกควบคุมที่เป็นผู้ชายถูกมัดมือไพล่หลัง นำตัวขึ้นรถบรรทุกทหาร จำนวน 25 คัน คันละ 40-50 คน ด้วยการนอนทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ เพื่อนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 150 เมตร แต่เมื่อถึงที่หมายปรากฏว่ามีผู้ถูกควบคุม เสียชีวิต จำนวน ทั้งหมด 78 คน

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า คดีนี้สำนักงานอัยการสูงสุด รับผิดชอบ 2 สำนวน คือ คดีวิสามัญฆาตกรรมที่พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ 8 นาย ที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกผู้ชุมนุมขึ้นรถ จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน และสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยคดีวิสามัญฆาตกรรมมีผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ได้แก่
1. พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร
2. ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส
3. วิษณุ เลิศสงคราม
4. เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร
5. ปิติ ญาณแก้ว
6. พันจ่าตรีรัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ
7. พันโทประเสริฐ มัทมิฬ
8. ร้อยโท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์
โดยก่อนหน้า พนักงานสอบสวน ‘เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง’ ในสำนวนคดีนี้ โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่
แต่ต่อมาสำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คน พบว่าการตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลา ได้ไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ และได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ สำนักอัยการจังหวัดปัตตานี โดยพนักงานอัยการได้ส่งสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมด 'พร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรม' ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง
โดย อัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เมื่อรับสำนวนแล้ว อัยการสูงสุดมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็นและกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2567
กระทั่งวันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เพราะ เพราะเห็นว่ากระบวนการบรรทุกผู้ต้องหากระทำอย่างไม่เหมาะสม และเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลว่าผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตายได้

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ย้ำว่าหลังจากนี้ ‘เป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 มาส่งฟ้องต่อศาลให้ได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ก่อนที่คดีจะขาดอายุความ’ และหากหมดอายุความแล้วจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
ส่วนคดีที่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้พิจารณาเอาผิดเจ้าหน้าที่ จำนวน 7 คน ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ในข้อหาฆ่าผู้อื่น , พยายามฆ่าผู้อื่นและกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนัดตรวจหลักฐานเมื่อวันที่ 12 กัยยายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากจำเลยทั้งหมดไม่ได้เดินทางมา ศาลจึงออกหมายจับและหมายเรียกผู้ต้องหารวม 7 คน
แต่เนื่องจาก พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาฯ ศาลจึงทำได้เพียงออกหมายเรียกและออกหนังสือขออนุญาตจับกุม พร้อมนัดใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่าเป็นคนละส่วนกับที่ อสส. ดูแลอยู่ เพียงแต่มีชื่อของ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร เป็นจำเลยที่ซ้ำกับ อสส. เท่านั้น ส่วนจะมีการรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้พิจารณา
ส่วนอายุความของคดีที่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 คนส่งศาลได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคม ถือว่าขาดอายุความด้วยหรือไม่นั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงในทางกฎหมาย ต้องไปพิจารณากันว่าเมื่อศาลประทับรับฟ้อง และคดีอยู่ในกระบวนการชั้นศาลแล้ว จำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหามาก่อน 25 ตุลาคมด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่คดีนี้ถูกดองอยู่ในชั้นตำรวจกว่า 19 ปี จนคดีเกือบขาดอายุความ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ โดยบอกว่าประชาชนน่ามีคำตอบในใจกันอยู่แล้ว ย้ำว่า อสส. ทำหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจของตัวเองแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาล ให้ทันก่อนคดีหมดอายุความ
แต่หากคดีหมดอายุความไปแล้ว ครอบครัวผู้เสียชีวิต รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้หรือไม่ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอไม่ตอบคำถามในประเด็นนี้