โควิด-19 รอบสัปดาห์ ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง พบป่วยพุ่ง 1.3 หมื่นรายต่อสัปดาห์

8 พ.ค. 2568 - 09:09

  • สถานการณ์โควิด-19 รอบสัปดาห์ ปี 2568 ล่าสุดติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง เกือบ 6,000 ราย

  • สัปดาห์ที่แล้ว (28 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2568) พีคสูงสุดในรอบปี 1.3 หมื่นราย

  • เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปี 68 อยู่ที่ 15 ราย สัดส่วนวัยกลางคน-เด็กเล็กเพิ่มสูง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ระบุว่า ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 19 ปี 2568 ระหว่างวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2568 (ข้อมูล ณ. วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 12.05 น.) มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 5,945 ราย รักษาสะสมตั้งแต่ต้นปี 2568 อยู่ที่ 45,958 ราย  รักษาในโรงพยาบาล 518 ราย ที่น่าสนใจคือในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบ สัดส่วนผู้ป่วยวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-49 ปี และเด็กเล็ก 0-4 ปี ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 

จากข้อมูลพบว่า ใน กทม. มีผู้ป่วยสูงสุด 1,256 ราย ขณะที่พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ยอดสะสมผู้เสียชีวิต ปี 2568 อยู่ที่ 15 ราย

หากย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์แล้ว ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 18 ปี 2568 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน -  3 พฤษภาคม 2568 พบจำนวนผู้ป่วยพุ่งไปถึง 13,139 ราย ผู้ป่วยในกทม.สูงทะลุไป 4,065 ราย พบเสียชีวิตในสัปดาห์นี้เพิ่ม 2 ราย ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว

 

แพทย์เตือนโควิด-19 ป่วยพุ่ง ชี้ระบาดหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ เกี่ยวกับโควิด ว่า ระหว่างวันที่ 27 เมษายน-3 พฤษภาคม 2568 ตัวเลขในระบบโควิด-19 รายงานไว้ 8,446 ราย ที่ป่วยไป รพ. ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไม่รวมคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้ไปรักษาที่ รพ.

จะเห็นว่าป่วยกันทุกช่วงอายุ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กเล็ก 0-4 ปีก็ป่วยกันเยอะทีเดียว ไม่ใช่แค่วัยทำงานและวัยสูงอายุ โดย กทม.เคสเยอะสุด เดี๋ยวเปิดเทอม ผู้ปกครองและคุณครูคงต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ให้ดี

นพ.ธีระ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยจากโควิดสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย หากใครมีอาการป่วยตอนนี้ แนวโน้มจะเป็นโควิดมากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2:1 หรือน่าจะมีโอกาสเป็นโควิด-19 ราว 67%

ในขณะที่หากย้อนดู 2 สัปดาห์ที่แล้ว จะพบว่าโควิด เสียชีวิตไป 2 ราย ไข้หวัดใหญ่ไม่มีเสียชีวิต และหากย้อนดู 4 สัปดาห์ที่แล้ว โควิด เสียชีวิตไป 5 ราย ไข้หวัดใหญ่ 2 ราย

ทั้งนี้ ตัวเลขป่วยในระบบข้างต้นไม่นับคนที่ไม่ได้มารับการรักษาที่ รพ.

นพ.ธีระ ยังระบุด้วยว่า ในกรุงเทพฯ ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ระหว่างโควิด และไข้หวัดใหญ่ พบว่าในช่วง 4 วันที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ 19 ปี 2568) มีผู้ป่วยโควิดมากกว่าไข้หวัดใหญ่ 6.7 เท่า โดยเป็นเพศหญิงมากกว่าชายราว 2 เท่า ส่วนไข้หวัดใหญ่ สัดส่วนหญิงชายพอๆ กัน

นอกจากนี้ในกลุ่มที่เป็นโควิด มีเด็กเล็ก 0-4 ปีในสัดส่วนราว 5% ในขณะที่กลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น เด็กเล็ก 0-4 ปี มีราว 13%

ทั้งนี้ กลุ่มวัยทำงานถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดในทั้งสองโรค ด้วยทิศทางนี้ พอประเมินกันได้เองว่า หากป่วยตอนนี้มีโอกาสเป็นโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่พอสมควร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์