‘ผู้ค้า VS ผู้เสพ’ ต้องมียาบ้ากี่เม็ดกันแน่?

13 ก.พ. 2567 - 08:06

  • แม้จะมีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ออกมาแล้ว แต่หลายคนยังคงสับสนว่า สรุปแล้ว ต้องมี ‘ยาบ้า’ ในครอบครองกี่เม็ด จึงจะถูกเรียกว่า ‘ผู้ค้า’ หรือ ‘ผู้เสพ’

drug-how-many-pills-addict-trader-SPACEBAR-Hero.jpg

หลายคนอาจจะเริ่มสับสน หลังจากมีข่าวการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับยาเสพติดว่า สรุปแล้ว มี ‘ยาบ้า‘ ในครอบครองกี่เม็ด ถึงจะกลายเป็น ‘ผู้ค้า หรือ ผู้เสพ’ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะมาตรการหลังการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567

รมว.สาธารณสุข ย้ำว่า การครอบครองยาเสพติด หรือ ‘ยาบ้า’ ไม่ว่าจะกี่เม็ดก็ถือว่า ‘มีความผิดตามกฎหมาย’ เพียงแต่ต้องคัดกรองตั้งแต่ ผู้เสพ ผู้ครอบครอง ผู้ค้า ร่วมกับพฤติการณ์ ซึ่งกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว กำหนดไว้ว่า หากมียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด และสมัครใจเข้าสู่การบำบัดรักษา ตามที่แพทย์กำหนด 3-4 เดือน เมื่อผ่านการรับรองจากทาง ผอ.สถาบันบำบัดยาเสพติด ถือเป็นการยุติโทษ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสังคมบำบัด ‘ชุมชนล้อมรักษ์’ ฟื้นฟูอาชีพป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ

แต่หากไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัด ก็ต้องรับโทษ โดยกรณีของ ‘ผู้เสพ’ จะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วน ‘ผู้ครอบครองยาเสพติด’ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 40,000 บาท ทั้งนี้ หากมี ‘ยาบ้า’ ไม่เกิน 5 เม็ด แต่กลับมีพฤติการณ์การค้า ก็จะได้รับโทษ จำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 20,000-1,500,000 บาทเช่นเดียวกับ กรณีที่มี ‘ยาบ้า’ มากกว่า 5 เม็ด และในทางกลับกัน หากพิสูจน์ได้ว่า การที่มี ‘ยาบ้า’ มากกว่า 5 เม็ดนั้น ไม่ใช่เพื่อการจำหน่าย ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้เช่นกัน โดยทุกขั้นตอนในการกฎกระทรวงฯ ออกมาเพื่อรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 107 วรรค 2 นั่นเอง

info-drug-how-many-pills-addict-trader.jpg

สถิติผลการจับกุมคดียาเสพติด

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566  พบว่า สถิติผลการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรง ดำเนินคดีไป 29,101 คดี และ ในช่วง 1 ต.ค.2566 – 11 ก.พ.2567 สามารถดำเนินคดี 35,183 คดี โดยเป็นการจับกุมซ้ำมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศของกรมราชทัณฑ์ สำรวจเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า มีผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 206,218 คน แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด 163,620 คน ,มีผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ,ไต่สวนพิจารณา และสอบสวน รวม 36,919 คน ผู้ถูกกักกัน 14 คน และ ผู้ต้องกักขัง 5,665 คน

สำหรับสถิติผู้ป่วยทั้งหมดที่เสพ ‘ยาบ้า’ เป็นยาเสพติดหลัก ร่วมกับยาอื่นๆ ของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ในปี 2566 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 2,035 คน เป็น ชาย 1,823 คน เป็นหญิง 212 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-34 ปี จำนวน 489 คน รองลงมา อายุ 25-29 ปี จำนวน 468 คน และ อายุ 35-39 ปี จำนวน 380 คน และยังพบกลุ่มคนอายุน้อยสุดที่ 0-14 ปี จำนวน 6 คน

ขณะเดียวกัน อาชีพ ที่พบมีพฤติกรรมเสพมากสุดได้แก่ กลุ่มคนว่างงาน 879 คน รองลงมารับจ้าง 794 คน ส่วนอัตราการเข้าบำบัดรักษาพบว่า มารับบริการครั้งแรก 1,238 คน และ มาเข้ารับการบำบัดซ้ำ 797 คน

จากสถิติที่เห็น สะท้อนถึงผลกระทบและความจำเป็นที่ ‘ผู้เสพ’ ต้องได้รับการบำบัด ซึ่งการออกกฎกระทรวงฯ นี้ อาจกลายเป็นความหวังให้กับ ‘ผู้เสพ’ ที่อยากกลับตัวกลับใจ ได้รับฟื้นฟูเพื่อเป็นคืนคนดีกลับสู่สังคม แทนที่จะส่ง ‘พวกเขา’ เข้าเรือนจำทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วังวนการกระทำผิดซ้ำได้มากกว่า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์