เพจเฟซบุ๊ก DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์ ประกาศรางวัลให้ผู้ที่แจ้งเบาะแสคดีการเสียชีวิตของ ‘โทโมโกะ คาวาชิตะ’ นักท่องเที่ยวสาว ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกฆาตกรรม เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2550 บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยผู้ใดที่แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การจับตัวคนร้ายได้ จะได้รับเงิน จำนวน 2,000,000 บาท เป็นรางวัล
ช่องทางการเเจ้งเบาะเเส
- แจ้งข้อมูลโดยตรงกับ ‘วรพจน์ ไม้หอม’ รองผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง : 06-3203-9624
- สายด่วน DSI : 1202
- แจ้งผ่านเว็บไซต์ https://www.dsi.go.th

— ประวัติ ‘โทโมโกะ คาวาชิตะ’ —
‘โทโมโกะ’ เป็นนักแสดงละครเวทีให้กับโรงละครคารัปปาเระ (Karappare) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดโอซากะ ผู้ว่าจ้างของเธอ ‘นาโอโกะ โอกาเบะ’ ให้สัมภาษณ์กับอาซาฮิชินบุงว่า โทโมโกะพึ่งได้ร่วมการแสดงละครเวทีเปิดตัวโรงละครได้ไม่นานก่อนที่เธอจะเดินทางไปยังประเทศไทย และมักได้รับบทตัวละครที่เป็นน้องสาวอยู่บ่อยครั้ง หลังจากโทโมโกะสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เธอได้ทำงานพิเศษที่ร้านเค้กและในขณะเดียวกันก็แสดงละครเวทีด้วยเช่นกัน
— การฆาตกรรม —
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2550
- หลังจาก ‘โทโมโกะ’ เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟในจังหวัดสุโขทัย เธอได้กลับไปยังบ้านรับรองของเธอและทิ้งกระเป๋าสัมภาระไว้ที่นั้น
วันที่ 25 พฤศจิกายน
-
‘โทโมโกะ’ ได้เช่าจักรยานเพื่อขี่ชมทิวทัศน์รอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จากนั้นจึงเดินทางไปยังวัดสะพานหินเพื่อไหว้สักการะ เมื่อมาถึง โทโมโกะถูกซุ่มโจมตีและถูกใช้มีดปาดคอและลำตัวของเธอ จนทำให้เธอช็อคจากการเสียเลือดและเสียชีวิตลงในที่สุด
-
เดอะเนชั่น กล่าวว่าเวลาในการฆาตกรรมนั้นอยู่ในกรอบเวลา 09.00 น. จนถึง 10.30 น. ร่างของเธอถูกพบที่ทางขึ้นวัดสะพานหิน
-
ตำรวจสันนิษฐานว่าโทโมโกะพยายามขัดขืนการดักชิงทรัพย์ของผู้ก่อเหตุและวิ่งหนีลงเขา จากนั้นเธอจึงล้มลงและถูกผู้ก่อเหตุนำมีดปาดคอ ส่วนกระเป๋าที่เธอห้อยคออยู่นั้นมีพาสปอร์ตและกล้องดิจิทัลหายไป ส่วนเงินสดจำนวน 2,877 บาทไม่ได้ถูกขโมย อีกทั้งในกระเป๋าของเธอยังมีบัตรผู้เข้าชมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในจังหวัดลำปางซึ่งเป็นวัตถุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงชื่อและสัญชาติของโทโมโกะ
-
ระหว่างที่ ‘โทโมโกะ’ ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เธอได้เขียนบล็อคลงบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อประเทศไทย หนึ่งในข้อความที่เธอเขียน เช่น “คนไทยมีแต่คนดีๆ!” และ “ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยม” เป็นต้น
-
ขณะที่ ‘ยาซูอากิ คาวาชิตะ’ บิดาของโทโมโกะ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่าเขารู้สึกเสียใจที่ลูกสาวต้องมาเสียชีวิตที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ลูกสาวชื่นชอบและใฝ่ฝันที่จะมาเที่ยวตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
— การสืบสวนและสอบสวน —
-
การสืบสวนและสอบสวนในคดีเหตุฆาตกรรม ‘โทโมโกะ’ อยู่ในความดูแลของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย
-
‘พล.ต.ต.ศิรินทร์ ผดุงชีวิตร์’ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้น ระบุว่า การสืบสวนและสอบสวนอาจเป็นไปอย่างล้าช้า เนื่องจากผู้ก่อเหตุไม่ทิ้งหลักฐานพยานวัตถุใดๆ ไว้ในที่เกิดเหตุเลย ยกเว้นเนื้อเยื่อที่พบในซอกเล็บของโทโมโกะ
-
ปี 2552 ตำรวจได้ยุติการสืบสวนและสอบสวนไว้ชั่วคราว
-
ปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมได้รับคดีการเสียชีวิตของ ‘โทโมโกะ’ ไว้เป็นคดีพิเศษหลังมีคำขอร้องมาจากกระทรวงการท่องเที่ยว
-
หลังการโอนคดีมาเป็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ได้พยายามติดตามหากล้องถ่ายรูปดิจิทัลของโทโมโกะที่หายไปจากกระเป๋าห้อยคอของเธอ โดยการประกาศรับซื้อกล้องถ่ายรูปรุ่นเดียวกันกับที่เธอมี หรือการติดต่อโรงรับจำนำในพื้นที่เพื่อขอซื้อ แต่ไม่พบกล้องถ่ายรูปของโทโมโกะ การสืบสวนและสอบสวนยังคงดำเนินต่อไป แต่ไม่พบผู้ต้องสงสัย
-
ปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุติการสืบสวนและสอบสวนชั่วคราว
-
วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ได้จำกัดวงรัศมีในการค้นหาผู้ต้องสงสัย 200 เมตร จากจุดที่ค้นพบร่างของโทโมโกะ โดยผู้ที่อยู่ในวงรัศมีนั้นจะถูกเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อนำไปเทียบกับวัตถุพยาน แต่ก็ไม่พบผู้ต้องสงสัย
-
ขณะที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการนัดสอบปากคำพยานที่ให้ข้อมูลว่าเคยได้ยินบุคคลในฟาร์มหมูพูดถึงการนำมีดเล่มหนึ่งแทงคนอื่นเสียชีวิตมาก่อน เมื่อเดินทางไปตรวจสอบฟาร์มหมูดังกล่าวพบว่าได้ปิดกิจการไปแล้ว
-
ส่วนผู้ต้องสงสัยดังกล่าวก็พบว่าได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2553 และเมื่อตรวจสอบ DNA ก็ไม่ตรงกันกับที่พบบนร่างของโทโมโกะ
-
เมื่อหวังจะสกัดดีเอ็นเอจากกระดูกก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากศพถูกเผาในอุณหภูมิกว่า 900 องศา เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจเก็บ DNA ของพี่สาวและลูกชายของผู้ต้องสงสัยแทน
-
เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่าง DNA ชาวไทยไปกว่า 400 คน และขยายรัศมีในการค้นหาจาก 200 เมตรเป็น 938 เมตรตามที่มีผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย
-
‘กรวัชร์ ปานประภากร’ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขณะนั้น เปิดเผยในงานแถลงผลการการตรวจ DNA ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุว่าไม่พบ DNA ของชาวไทยคนไหนที่ตรงกับขอบกางเกงของโทโมโกะ
-
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า DNA บนขอบกางเกงของโทโมโกะตรงกับกลุ่มประเทศ 7 กลุ่มได้แก่ ออสโตร-เอเชียติก เอสโตเนียน ดราวิเดียน อินโด-แปซิฟิก เจแปนิส โคเรียน และไทเคได
-
‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า DNA ที่พบบนกางเกงของโทโมโกะ ไม่มีความสมบูรณ์ จากโครโมโซมของมนุษย์ที่มีอยู่ 23 คู่ สามารถเก็บได้อย่างสมบูรณ์อยู่ 3 จุด ในส่วนที่เหลือเก็บได้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังพบ DAN ของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี และอาจมาจากการสัมผัสกับบุคคลเหล่านั้น
-
‘โทโมยูกิ ฟูจิยามะ’ หัวหน้านายตำรวจญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอบคุณรัฐบาลไทยและจะร่วมมือในการสอบสวนต่อไป
-
ส่วนกรณีของชาวญี่ปุ่น 1 คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยซึ่งได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นไปแล้วและปฏิเสธในการให้ความร่วมมือ ‘กรวัชร์’ ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นในการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและได้มีการประสานงานไปทางตำรวจสากลแล้วด้วยเช่นกัน
-
การที่ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ออกมาว่าผู้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่คนไทย ‘สมศักดิ์’ จึงมีความเห็นให้ปิดคดีและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่น โดยให้เหตุผลอีกว่าการสอบสวนในประเทศไทยนั้นสมบูรณ์แล้ว
-
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ‘ยาสึอากิ คาวาชิตะ"’ บิดาของโทโมโกะ ได้เข้าพบ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม และ ‘พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ’ รรท.อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามผลคำร้องเมื่อปี 2562 ว่าคดีลูกสาวสามารถไม่มีอายุความได้หรือไม่ หลังกฎหมายไทยจำกัดอายุความไว้ที่ 20 ปี แต่คดีของลูกสาวจะหมดอายุความในปี พ.ศ. 2570 เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครคือฆาตกรที่แท้จริง จึงอยากให้ทางการไทยเร่งคลี่คลายคดี