คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยผลการสอบสวนปากคำ 3 ผู้ต้องหาชาวไทย ‘ประจวบ ศิริเขตร - มานัส ศรีอนันท์ และโสภณ มีชัย’ กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ว่า วานนี้ (21 เม.ย.) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสอบปากคำ 3 ผู้ต้องหานานกว่า 10 ชม. โดยเสร็จสิ้นการสอบสวนปากคำเวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 3 รายล้วนให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแทนของ ‘บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ’ อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ปากคำแต่อย่างใด และหากเปรียบเทียบกับคำให้การของนายชวนหลิง จาง ที่ได้ให้ปากคำกับพนัก งานสอบสวนเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีคำให้การประมาณ 10 หน้าเอกสาร ซึ่งแตกต่างจาก 3 กรรมการชาวไทยที่ให้การเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยบางช่วงบางตอนเมื่อพนักงานสอบสวนพยายามสอบ ถามประเด็นกับ 3 กรรมการชาวไทย ผู้ต้องหาออกอาการงงคำถาม จึงทำให้ทนายความส่วนตัวต้องช่วยอธิบายคำถามให้
ภายหลังจากคืนวานนี้ พนัก งานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนปากคำ 3 ผู้ต้องหาชาวไทยเสร็จสิ้น จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าว ภายใต้การอำนวยการของ ‘วิทวัส สุคันธรส’ ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ ‘วุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา’ ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าว เข้าควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาจากห้องสำนักงานรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 ย้ายไปควบคุมตัวไว้ที่ห้องขัง ชั้น 6 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเตรียมนำตัวไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญารัชดาภิเษกผัดแรก โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 รายไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน รวมถึงท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้มีการคัดค้านการขอประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ามามอบตัวด้วยตนเอง
ต่อมาเวลา 10.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ (ปพ.) ได้ควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาชาวไทยออกจากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อไปฝากขังผัดแรกกับศาลอาญารัชดาภิเษก โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามผู้ต้องหา ‘ประจวบ ศิริเขตร’ ว่าคุณประจวบ มีสิ่งใดอยากปฏิเสธหรือไม่ และได้เข้าไปนั่งเป็นนอมินีให้บริษัทจริงหรือไม่ หรือยืนยันว่าเข้าไปบริหารเองจริง ๆ หรือมีใครบังคับให้เข้าไปนั่งตำแหน่งนั้นหรือไม่ ต่อมาในส่วนของ ‘มานัส ศรีอนันท์’ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามอีกว่า มีอะไรอยากพูดหรือไม่ ขณะที่ ‘โสภณ มีชัย’ ผู้สื่อข่าวก็ได้ถามอีกว่า ได้เข้าไปถือหุ้นจริงหรือไม่ หรือมีใครบังคับให้ต้องพูดอะไรหรือไม่ รวมถึงในวันที่ตึก สตง. ถล่ม ทุกคนไปอยู่ที่ไหนกันมา หนีไปอยู่ที่ไหน มีใครให้ที่พักพิงหรือไม่ หรือเหตุใดก่อนหน้านี้ไม่ยอมมาเข้าพบพนัก งานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น
แต่ทั้ง 3 ผู้ต้องหาก้มหน้ารับฟังคำถามอย่างเดียว ไม่เอ่ยปากตอบคำถามใดกับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ ระหว่างถูกควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหาได้ถูกใส่กุญแจมือและใช้ผ้าปิดคุมไว้เพื่อป้องกันกรณีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีสภาพอิดโรย และยังสวมใส่เสื้อผ้าตัวเดิมกับเมื่อวานนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ ปพ. ได้คุมตัวขึ้นรถตู้เอนกประสงค์ 2 คัน ทะเบียน ฮม 1251 กรุงเทพมหานคร และทะเบียน ฮม 1247 กรุงเทพมหา นคร ออกจากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปยังศาลอาญารัชดาภิเษก
กระทั่งเวลา 10.30 น. ‘พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ’ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบ สวนคดีพิเศษ ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปาก คำ 3 ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในภาพรวม ได้มีผู้ต้องหา 1 ราย คือ ‘โภณ มีชัย’ ที่ยอมให้การ ขณะที่อีก 2 ราย คือ ‘ประจวบ ศิริเขตร’ และ ‘มานัส ศรีอนันท์’ แจ้งความประสงค์ขอชี้แจงเป็นเอกสารภายใน 30 วัน โดยการชี้แจงผ่านหนังสือจะไม่ได้มีผลต่อรูปคดี เพราะผู้ต้องหาย่อมให้การอย่างไรก็ได้ แต่ทุกคำให้การจะถูกนำมาพิสูจน์ทั้งหมด
โดยประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติม คือ การถือหุ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและผู้ถือหุ้น รวมถึงที่มาของเงินที่ใช้ในการลงทุน และอำนาจทางการบริหาร อย่างไรก็ตาม ระหว่างข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้การกับข้อมูลที่ดีเอสไอรวบรวมมานั้น พบว่าบางส่วนไม่ตรงกัน ทั่งนี้ เหตุใดก่อนหน้านี้ทั้ง 3 รายไม่ยอมเข้ามาพบดีเอสไอก่อนมีหมายจับของศาล เราได้สอบถามประเด็นนี้ แต่พวกเขาไม่ตอบ แต่เขาแจ้งว่าพอเห็นหมายจับจึงเข้ามาพบพนักงานสอบสวน และไม่ได้ให้ข้อมูลว่าไปอาศัยอยู่ด้วยกันหรือไม่
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า สำหรับความสัมพันธ์รู้จักกันของ 3 กรรมการชาวไทยและชาวจีน 2 ราย อย่าง ‘บินลิง วู’ และ ‘ชวนหลิง จาง’ นั้น มีการให้ข้อเท็จจริงว่ารู้จักกัน โดยเฉพาะในส่วนของประจวบ และมานัส ที่ทำงานกับบริษัทอื่นที่มีคนจีนไปเกี่ยวข้อง โดยทั้ง 2 คนไม่ได้เริ่มต้นจากการเข้ามาเกี่ยวข้องในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แต่ไปเริ่มต้นกับบริษัทอื่นมาก่อน ถ้าจำไม่ผิดคือ บริษัทสันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ส่วนใครเป็นคนชวนให้เข้ามาเป็นกรรมการและถือหุ้นนั้น ในคำให้การกล่าวอ้างของโสภณ เจ้าตัวระบุว่าประจวบและมานัส คือผู้ชักชวน แต่คำให้การของผู้ต้องหา ต้องนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกครั้ง
พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า ในการสอบปากคำโสภณ มีชัย ระหว่างการสอบสวนปากคำ เจ้าตัวมีการตอบเอง แต่บางครั้งทนาย ความก็จะช่วยอธิบายคำถามบ้าง เพราะบางทีบางประเด็นเขาอาจเข้าใจไม่ละเอียด นอกจากนี้ ในประเด็นของการถือหุ้นของทั้ง 3 ราย พบว่าหุ้นมันมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 61-68 มีการสลับเพิ่ม-ลง
"ตอนนี้เราแบ่งเงินที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินลงหุ้น และเงินที่กู้ยืมมาเพื่อทำธุรกิจ ตรงส่วนนี้ เราจะไล่ย้อนหลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน ดังนั้น เส้นทางการเงินจะสอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ ต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนตรวจสอบก่อน เพราะเพิ่งได้รับข้อมูลรายงาน รายได้และเงินคงค้างในบัญชีของ 3 กรรมการชาวไทย ดีเอสไอพอมีข้อมูลว่า เป็นเงินจำนวนไม่เยอะ บางคนเหลือเงินติดบัญชีแค่หลักหมื่นบาท”
โฆษกดีเอสไอ ระบุ