จังหวัดตรัง ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่พบพะยูนมากที่สุดกว่า 200 ตัว มากที่สุดในประเทศไทย จนได้ฉายาว่า ‘เมืองพะยูน’ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการสำรวจของหน่วยงานภาครัฐและอาสาสมัคร กลับพบเห็น ‘พะยูน’ ลดน้อยลง
ส่วนพื้นที่ที่พบอยู่บ่อยครั้ง คือ พื้นที่ รอบเกาะลิบง เกาะมุก อ.กันตัง และพื้นที่โดยรอบอาณาเขตจังหวัดตรัง หลังจากนั้นเริ่มพบพะยูนในพื้นที่ จ.กระบี่ ทั้งที่มีชีวิตและตาย ในช่วง 2566-2567 และพบเห็นพะยูนในพื้นที่ จ.ภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่ จ.พังงา บริเวณที่มีหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน พฤติกรรมของสัตว์ทะเล คือ พะยูน อพยพย้ายถิ่นฐานไปหากินหญ้าทะเลเพื่อดำรงชีวิต
จากรายงานของกระทรวงทรัพย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับผลจากการสำรวจเบื้องต้น...
1.บริเวณอ่าวพังงา เกาะยาวใหญ่ พบพะยูนจำนวน 3 ตัว
2.จังหวัดภูเก็ต บริเวณอ่าวปากคลอก พบพะยูนจำนวน 40 ตัว
3.บ้านป่าหล่าย พบพะยูนจำนวน 2 ตัว
4.สะพานสารสิน พบพะยูนจำนวน 7 ตัว
5.อ่าวตังเข็น พบพะยูนจำนวน 7 ตัว
6.อ่าวราไวย์ พบพะยูนจำนวน 2 ตัว
รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 58 ตัว และจังหวัดตรัง บริเวณแหลมจูโหย พบพะยูนจำนวน 3 ตัว ชายหาดบ้านปากคลองกะลาเสใหญ่ พบพะยูนจำนวน 2 ตัว รวมพบพะยูนทั้งสิ้น 5 ตัว
การบินสำรวจในรอบนี้ เป็นตัวบงชี้ว่า ‘พะยูน’ เริ่มอพยพย้ายถิ่นหาอาหารแหล่งใหม่เพื่อการอยู่รอด



เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล หลังพบพะยูนเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดตรังอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่
จากการสำรวจหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่า
1.จังหวัดพังงา สำรวจ 4,824 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,071 ไร่
2.จังหวัดภูเก็ต สำรวจ 3,348 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,360 ไร่
3.จังหวัดกระบี่ สำรวจ 23,302 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 7,670 ไร่
4.จังหวัดตรัง สำรวจ 23,038 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 12,380 ไร่
5.จังหวัดสตูล สำรวจ 2,963 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเล 1,427 ไร่
รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เตรียมเร่งแก้ปัญหาวิกฤติพะยูน โดยแบ่งมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลออกเป็น 4 ด้าน คือ 1.การสำรวจติดตามเฝ้าระวังประชากรพะยูน 7 พื้นที่หลัก 45 พื้นที่ย่อย ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติที่เป็นแหล่งอาศัยและเส้นทางหากินของพะยูน
2.กำหนดพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ในพื้นที่ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก
3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พะยูนอพยพย้ายถิ่น และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดตรังและภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอก เพื่อดูแลพะยูนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอในธรรมชาติ
4.เตรียมบ่อกุ้งร้างหรือสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน พร้อมทั้งเร่งศึกษานวัตกรรมฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นจำนวนเงิน 615,163,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล

“อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี แต่ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคส่วนประชาชน และท้องที่ ท้องถิ่น ที่มีส่วนร่วมการบูรณาการทุกภาคส่วนช่วยกันฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและอนุรักษ์พะยูน ในทุกจังหวัดส่วนหนึ่งจะต้องลดการสูญเสียชีวิตของพะยูนให้ได้ การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลต้องเร่งให้เร็วที่สุด”
“ปัญหานี้เป็นปัญหาของประเทศ เพราะพะยูนเป็นสมบัติของประเทศ ทุกจังหวัดจะต้องบูรณการร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อลดอัตราการตายและฟื้นฟูกลับมาให้ได้ ส่วนตัวมั่นใจว่าจะสามารถลดอัตราสูญเสียพะยูนได้ แต่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ส่วนเรื่องอาหารทดแทนขณะนี้กำลังเร่งทำกันอยู่ หากทำได้ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟู”
เฉลิมชัย ยังย้ำด้วยว่า กระทรวงทรัพยากรฯมีแผนดำเนินการย้ายปลูกหญ้าทะเลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล รวมถึงการจัดการปัญหามลพิษและควบคุมการใช้พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน
“หากมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล และยังมีการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง อาจยังมีโอกาสเห็นพะยูนอยู่ในน่านน้ำไทย และคงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแห่งนี้ต่อไปอีกนาน”


กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เฝ้าระวังพะยูนและคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล 13 แห่ง พร้อมขอความร่วมมือไปยังประชาชน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ องค์กรภาคเอกชน เครือข่ายจิตอาสาประชาสังคม ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบต่อพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณช่องปากพระบ้านสารสิน บริเวณอ่าวป่าคลอก อ่าวบางโรง บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ และบริเวณอ่าวตังเข็น เพื่อร่วมกันป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพะยูนในอนาคต

