แผ่นดินไหวทีไร ญี่ปุ่นเตือนภัยไว แล้วไทยล่ะ

5 มกราคม 2567 - 12:00

Earthquake-thailand-ready-prepare-disaster-reduce-death-damage-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นักวิชาการแผ่นดินไหวไทย มองว่าการรับมือแผ่นดินไหวของไทย ให้เกรด D+ แต่มีโอกาสพบรอยเลื่อนใหม่

วันปีใหม่ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องผวากับเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.6 และอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้ง ซึ่งเมื่อพูดถึงแผ่นดินไหว กับประเทศญี่ปุ่น หลายคนก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนไปแล้วที่มีการเตรียมพร้อมรับมือเป็นอย่างดี ทั้งเทคโนโลยีเตือนภัย การสร้างบ้านอาคารที่เหมาะสม และการเอาชีวิตรอด ทำให้ลดการสูญเสียได้อย่างมาก เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ไทยพร้อมรับมือแผ่นดินไหวได้ดีแค่ไหน

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเตือนภัยของญี่ปุ่นแล้ว ไทยอยู่ในชั้นไหน

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวพอสมควร ถึงพร้อมมาก จากสถานการณ์แผ่นดินไหวโดยภาพรวมของประเทศ คือเราได้ยินข่าวแผ่นดินไหวเป็นระยะแต่แทบไม่มีใครเสียชีวิต เรียกว่ามีแผ่นดินไหวเป็นเพื่อน เราไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติ และเรารับปรากฏการณ์นี้ได้จากเครื่องมือที่เรามี

สำหรับเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวทั่วประเทศ ในฐานะนักวิชาการไม่ติดปัญหาถือว่าข้อมูลทำได้ดีขึ้น คือสามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้สมบูรณ์ ซึ่งตัวบ่งชี้คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็ก เพราะในการประเมินแผ่นดินไหว ต้องดูว่าลูกเป็นแบบนี้ พ่อเป็นไหน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถวัดขนาดเล็กได้มากขึ้น เป็นการบ่งชี้เชิงประจักษ์ ทำให้ศักยภาพสูงขึ้น

โดยการตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวไม่จำเป็นต้องตั้งบนรอยเลื่อน หรือใกล้รอยเลื่อน ขอแค่ได้คลื่นแผ่นดินไหว ที่ผ่านมาทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน ตรวจวัดได้ ก็ถือว่าทำงานสมบูรณ์ มีโครงข่าย ครบแล้ว โดยมีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นผู้ประกาศแผ่นดินไหว

แต่เมื่อเทียบกับการเตือนภัยของญี่ปุ่น ขอให้เกรดของไทยเป็น D+ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็น A เพราะเทคโนโลยีเขาก้าวกระโดดไปมาก คือเป็นระบบเตือนภัยแบบอัตโนมัติ แบ่งเป็นการตรวจวัด และการส่งข่าว ทำได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวหลายแห่ง หนาแน่นทุกตำบล เมื่อพบคลื่นแผ่นดินไหวแล้วเตือนได้ทันที ส่วนของไทยไม่มี เพราะต้องทุ่มงบมหาศาล ซึ่งไม่จำเป็น เพราะแผ่นดินไหวเราไม่ดุมาก 

แน่ใจไหมว่าไทยจะไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง

หลังมีข่าวอยู่ดีๆกลางดึก เมื่อเวลา 00.17 น. ของวันที่ 29 มิ.ย.2566 ตรวจพบแผ่นดินไหว ขนาด 4.5 มีจุดศูนย์กลาง ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ เป็น_รอยเลื่อนซ่อนตัว_ที่ไม่เคยไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี หรือพูดง่ายๆก็คือเป็นรอยเลื่อนใหม่ที่ไม่เคยสำรวจพบมาก่อน คำถามคือ แล้วจะเกิดรอยเลื่อนใหม่ในไทยขึ้นอีกหรือไม่ และจะรุนแรงหรือไม่

ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า โอกาสที่ไทยจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจากรอยเลื่อนเดิม เรามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ส่วนตัวให้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้นที่จะมีแจ๊กพ็อต อย่างเช่น กรณีแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย หนึ่งรายถูกผนังบ้านทับศีรษะ อีกหนึ่งรายหัวใจวาย

แต่ที่เราควรตระหนัก คือมีโอกาสที่จะเกิดรอยเลื่อนใหม่ได้ ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย มันราบเรียบและเป็นตะกอนแม่น้ำ ดินอ่อน ทำให้ไม่เห็นข้างใต้ การสำรวจพบว่ามีโอกาสที่จะมีรอยเลื่อน แต่ไม่สำรวจละเอียดเพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ไทยไม่ได้จัดลำดับความสำคัญมาตรงนี้ เพราะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน 

ถ้าสึนามิมา จะเตือนภัยทันไหม

แผ่นดินไหวที่สามารถก่อให้เกิดสึนามิได้ต้องมีศูนย์กลางอยู่ในทะเล ขนาด 6.5 ขึ้นไป และมีความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร รวมทั้งต้องเกิดจากรอยเลื่อนย้อน (Reverse Fault) สำหรับการแจ้งข่าวโอกาสการเกิดสึนามิที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะใช้ (1) การวิเคราะห์แผ่นดินไหวจากสถานีตรวจวัดที่เป็นเครือข่ายทั่วโลก บริเวณทะเลอันดามันจะใช้ขนาด 6.6 ขึ้นไปที่ความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร (คลื่นสึนามิใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาทีถึงประเทศไทยหลังเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดใกล้ที่สุด) ส่วนบริเวณอ่าวไทยจะใช้ขนาด 7.8 ขึ้นไปที่ความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร (คลื่นสึนามิใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-6 ชั่วโมง ถึงประเทศไทยหลังเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดใกล้ที่สุด) ประกอบกับ (2) การวิเคราะห์ข้อมูลการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนว่ามีการยกตัวของพื้นทะเลหรือไม่ โดยในการตรวจสอบว่าเกิดสึนามิขึ้นจริงจะใช้การเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงจากสถานีวัดระดับน้ำที่อินโดนีเซียเป็นหลัก เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดสึนามิ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสึนามิได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 22 นาที ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายงานแผ่นดินไหวได้ที่เว็บไซต์

Screenshot 2567-01-05 at 18.37.16.png
Photo: ตำแหน่งทุ่นตรวจคลื่นสึนามิ สีเหลืองใช้งานได้ตามปกติ สีแดงไม่สามารถใช้งานได้ ภาพจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือ NOAA

ทุ่นตรวจคลื่นสึนามิ จำเป็นหรือไม่ เพราะพบว่าบางทุ่นใช้งานไม่ได้ 

ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ทุ่นสึนามิ อยู่ไกลมาก ยากที่จะไปดูแล โลมาไปกัดไปเล่นจนพัง มีไหลไปที่อินเดียด้วย แต่ที่จริงแล้วเราไม่ได้เตือนภัยด้วยทุ่น เราใช้ข้อมูลจากเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหว ส่วนทุ่นมีหน้าที่แค่ใช้ยืนยันว่าเป็น สึนามิ จริงหรือไม่ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแล้วเตือนสึนามิ เมื่อเวลาผ่านไป 5 ชม. แล้วทุ่นบอกว่าไม่มีสึนามิ ก็จะใช้ข้อมูลจากทุ่นบอกว่าปิดการเตือนภัย ไม่สามารถใช้เตือนภัยได้เพราะมันนานมากกว่าจะคำนวณว่านี่คือคลื่นสึนามิ

สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทย

จากข้อมูลของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยมีระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว สถานีหลัก 72 แห่ง โดยมีสถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน 54 แห่ง และสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก 13 สถานี ศ.ดร.สันติ อธิบายว่าประเภทของแต่ละสถานีตรวจวัดต่างกันคือ

  1. สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว วัดคลื่นแผ่นดินไหว เอามาวิเคราะห์จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาดแผ่นดินไหว ต้นเหตุของแผ่นดินไหวเกิดจากการเลื่อนตัวแบบไหน 
  2. สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน เพราะแผ่นดินไหว คือการเคลื่อนที่แบบแรงกระชาก ความเร่งไม่เป็นศูนย์ ตึก อาคารกลัวการกระชาก ซึ่งการตรวจวัดทำให้รู้อัตราเร่งของจุดนั้น แล้วนำมาคำนวณกับความห่างของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว (ยิ่งห่างจากจุดศูนย์กลางความเร่งจะน้อยกว่า) รู้ว่าห่างเท่านี้ จะเหลือความเร่งเท่าไหร่เพื่อนำไปประเมินแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ เวลาจะสร้างตึก อาคารต่างๆ จะต้องใช้ข้อมูลอัตราความเร่งด้วย
  3. สถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก เพื่อดูว่าพื้นที่ตรงไหนกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน เป็นข้อมูลวิชาการ และเป็นข่าวสารด้านภัยพิบัติ

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของโลก ขึ้นอยู่กับขนาดไหนจะสร้างความเจ็บปวดให้คนเรา ถ้าเดือดร้อน ก็คือภัยพิบัติ

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์