โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 3 ผ่านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท (Digital Wallet) สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี รวมทั้งหมด 2.7 ล้านคน ขณะนี้อยู่หว่างทดสอบระบบการชำระเงิน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงก่อนสงกรานต์
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษาที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
ตุลารัตน์ แสงหา อายุ 20 นักศึกษาคณะบริหาร สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น บอกว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลมีโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 ให้กับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ถึง 20 ปี

“ถ้าได้เงินส่วนนี้จะนำไปใช้จ่ายเป็นทั้งค่าครองชีพ เพราะการเป็นนักศึกษา ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ จะได้ประหยัดเงินที่ผู้ปกครองทางบ้านส่งให้ด้วย เพราะปกติก็จะมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าอื่นๆ ประมาณเดือนละ 10,000 กว่าบาท” ตุลารัตน์ กล่าว
“การที่รัฐบาลจะให้เป็นเงินดิจิทัลก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะปกติการใช้จ่ายต่างๆ ก็ใช้ผ่านแอพฯ อยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลจ่ายเป็นก้อนครั้งเดียวจบ 10,000 บาทไม่ต้องแบ่งจ่าย ส่วนเงื่อนไขหรือกติกาอื่นๆ ส่วนตัวก็พร้อมจะศึกษาและทำตามเงื่อนไขของรัฐบาล”
ตุลารัตน์ แสงหา นักศึกษา

ขณะที่ เจนจิรา จันทรเสนา อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะบริหาร สาขาการจัดการโลจิสติกส์ บอกว่า รัฐบาลควรจะเพิ่มอายุให้มากกว่า 16-20 ปี เพราะมองว่าเป็นช่วงอายุที่แคบเกินไป โดยเฉพาะตนเอง อายุ 23 ปี จบมหาวิทยาลัยปีนี้ ก็อยากได้เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลมาช่วยเหลือ เนื่องจากยังไม่มีงานทำ

“ถ้าได้เงินส่วนนี้มาก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางสมัครงาน หรือเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างรอทำงาน ค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐาน เพราะอาจจะต้องหางานทำที่ต่างจังหวัด” “ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเคยลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหยุดอยู่ที่ขั้นตอนที่ 3 มานานแล้ว คืออยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่วนตัวยังมีความหวังว่ากลุ่มต่อไปตนเองคงจะได้รับเงิน”
เจนจิรา จันทรเสนา

ด้าน ดร.อิมรอน โสะสัน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนความคิดเห็นถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า เหตุผลที่รัฐบาลเลือกกลุ่มคนอายุ16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน ส่วนหนึ่งคิดว่ามาจากเรื่องงบประมาณที่จำกัด โดยเฉพาะงบประมาณปี 2568 ที่อาจจะเหลือระยะเวลาไม่นานก็จะสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งนโยบายนี้จะต้องใช้งบผูกพันธ์หลายปี อาจจะลากยาวไปจนถึงปีงบประมาณ ปี 2569-2570 แต่ส่วนตัวเชื่อว่าถึงอย่างไรรัฐบาลคงจะต้องให้ทั้งหมดทุกกลุ่ม ตามนโยบายที่หาเสียงไว้

ดร.อิมรอน กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่บอกว่ากลุ่มคนอายุ 16-20 ก็เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่สิ่งที่กังวลคือไม่มั่นใจว่าเงินเหล่านี้จะไปใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุผลที่แจกวัยรุ่น 16-20 ปี เพราะหวังฐานเสียง เตรียมเลือกตั้งปี 2570 นั้นมองว่าก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะอีก 2 ปีข้างหน้า กลุ่มนี้ก็กลายเป็นนิวโหวตเตอร์ ซึ่งยอมรับว่าการแจกให้คนกลุ่มนี้ก่อน อาจจะได้ใจประชาชนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งกลุ่มคนเหล่านี้จะเลือกหรือไม่เลือกพรรคเพื่อไทย
“หากถามว่า จนถึงวันนี้การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลดีหรือผลเสียต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยกันแน่ เพราะที่ผ่านมามักถูกโจมตี ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ชี้วัดได้ยาก ยกตัวอย่างการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นโยบายนี้ก็ถูกนำไปพูดบนเวทีหาเสียง แต่บางสนามพรรคเพื่อไทยก็แพ้ บางพื้นที่ก็ชนะ แต่ที่แน่ๆ นโยบายนี้เพื่อไทยต้องทำให้สำเร็จ แต่จะสำเร็จแบบไหนไม่รู้ เพราะพรรคเพื่อไทยพยายามจะสร้างให้ประชาชนเห็นว่า ทุกนโยบายยากๆ พรรคเพื่อไทยทำได้จริง ซึ่งนี่คือโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย”
ดร.อิมรอน โสะสัน
แม้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ประชาชนทุกคนอยากได้ และรัฐบาลก็พยายามผลักดันให้สำเร็จ เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าว จะกลายเป็นภาระผูกพันธ์ให้กับประเทศชาติในอนาคต
ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เดิมทีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องการจะใส่เงินเข้าไปในระบบครั้งเดียวจำนวน 5 แสนล้าน ซึ่งเป็นเงินมหาศาล เพื่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลต้องแบ่งจ่ายเป็นเฟส ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยเฟส 1ได้จ่ายไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2567 ครอบคลุมคนกลุ่มใหญ่ จำนวน 10 ล้านคน คือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มคนพิการ ส่วนเฟส 2 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3-4 ล้านคน จ่ายไปแล้วช่วงต้นปี 2568 ขณะที่เฟส 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยให้กับวัยรุ่น เยาวชน อายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน
“หากถามว่า เฟส 1 และ เฟส 2 ที่เม็ดเงินออกไปแล้วเป็นอยางไรบ้าง ถ้าถามความรู้สึกของคนในระบบเศรษฐกิจหรือคนค้าขาย นักธุรกิจ ดูเหมือนจะไม่ค่อยกระตุ้นเท่าไหร่นัก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ทั้ง 2 เฟส คือ เห็นการใช้จ่ายเงินกับสินค้าที่จำเป็น”


ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวอีกว่า เดิมทีเฟส 3 คาดว่าจะเป็นคนกลุ่ม 16-59 ปี ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ประมาณ 30 ล้านคน แต่รัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มวัยรุ่น 16-20 ปี คำถามที่ตามมาคือการแจกให้กลุ่มนี้จะไปตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการมากน้อยแค่ไหน จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเกิดพายุหมุนตามที่รัฐบาลคาดการณ์หรือไม่ โดยการหมุนเวียนเงินของระบบเศรษฐกิจต้องทำเป็นระบบ
“ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลโอนเงิน 100 บาท ให้นาย ก. แล้วนาย ก.ใช้เงิน 100 บาทต่อ เงิน100 บาทก็จะไปอยู่กับนายข. และนายข.ก็ใช้เงินต่อไปยังนายค. เป็นต้น ถ้าเงินหมุนหลายรอบยิ่งดี อีกคำถามคือเงินที่หมุนเป็นการหมุนเพื่อซื้อสินค้าและบริการชนิดไหน มีการชำระด้วยวิธีใด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อระบบการกระตุ้นเศรฐกิจทั้งสิ้น”

“จากการติดตามข้อมูล เฟส 3 การหมุนรอบที่ 1 จ่ายด้วยแอพฯ การจ่ายรอบที่ 2 ก็เป็นแอพฯ ส่วนการจ่ายรอบที่ 3 มีความน่าสนใจ อาจจะจ่ายทั้งแอพฯ และถูกถอนออกมาเป็นเงินสดนำไปใช้จ่ายตามความพอใจมากขึ้น นั่นแปลว่า หากถอนออกมาเป็นเงินสดในรอบที่ 3 ของการหมุนเงิน จะไม่ได้ระบุว่าเข้าร้านที่ร่วมรายการ แต่จะไปในเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้นที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลกำหนด เพราะฉะนั้นแปลว่าถ้าร้านค้าที่ร่วมรายการจะได้รับประโยชน์แน่ๆ จากการแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 คือรอบที่ 1 และ 2 แต่รอบที่ 3 อาจจะไปในพื้นที่อื่น เช่น ร้านค้าที่ยกเว้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมรายการได้ เช่นร้านทอง ร้านขายเพชร หรือร้านขายสุรา ที่อยู่นอกเหนือ หรือไม่อาจจะกลายเป็นเงินออม เงินชำระหนี้ เป็นไปได้หลายทาง ซึ่งยังไม่เห็นความชัดเจนตรงนี้”
ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา
ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ารัฐบาลคิดว่าการวัดผลความสำเร็จผ่านจีดีพี นั่นแปลว่ารัฐอาจจะให้เงินหมุนไปที่กลุ่มร้านค้าที่ถูกยึดโยงกับจีดีพี แต่ถ้าเงินออกนอกร้านค้าที่ยึดโยงกับจีดีพี ก็ไม่สามารถวัดได้อย่างชัดเจน
“เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าเศรษฐกิจกระตุ้นได้หรือไม่ เป็นพายุหมุนหรือเปล่า ต้องดูหลายองค์ประกอบรวมกัน ทั้งประเภทสินค้า ร้านค้า และวิธีการชำระเงิน และกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น 16-20 ปีจะมีพฤติกรรมการใช้เงินไม่เหมือนกลุ่มเฟส 1 เฟส 2 รัฐบาลก็ต้องออกแบบการใช้เงินเพื่อประสิทธิภาพของโครงการ”
ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า ดิจิทัลเฟส 1 - 2 การหมุนของเงินน้อย คือรอบของการหมุนแค่ 2-3 รอบ ส่วนเฟส 3 ขนาดเงินที่ลงมาประมาณ 2.7 หมื่นล้าน ก็ถือว่าไม่เยอะ ถ้าเงินจำนวนนี้หมุน 2-3 รอบ ก็จะได้ประมาณแสนล้าน ถ้าหมุนได้มากกว่านั้นก็จะดี แต่คิดว่าจากตัวเลขที่นักวิชาการเคยให้ไว้ ถ้ามองว่าเงินหมุนได้ 2-3รอบ จะเป็นการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณแสนล้าน ถ้ากลุ่มเป้าหมาย 2.7 ล้านคน คูณ 10,000 บาทต่อคน ก็จะได้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านต่อรอบ
“ถามว่าแสนล้านตรงนี้จะไปอยู่ในร้านค้ากลุ่มไหน ก็อยู่ที่ว่ากลุ่มคนอายุ 16-20 ปี มีพฤติกรรมการใช้เงินหรือใช้สินค้าบริการกลุ่มใด ถ้าเงินไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะหมุนต่อไหม ถ้าไปซื้อโชว์ห่วยก็จะไปช่วยเศรษฐกิจฐานราก”
ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่า เม็ดเงินมหาศาลที่ลงมาตั้งแต่ เฟส 1- 3 รวมกันก็ถือว่าเยอะมาก เม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ถ้าบริหารจัดการไม่ดีมันมีค่าเสียโอกาส เงินจำนวนเดียวกันอาจจะนำไปทำโครงการอื่น เช่นนำไปลงทุนเรื่องของการศึกษา หรือการใช้เงินไปกับการสร้างทักษะอาชีพ หรือนำเงินไปลงทุนในระบบสาธารณสุข ซึ่งสุดท้ายปลายทางหากเงินไม่ได้หมุนอย่างที่หวังมันจะกลับมาเป็นโจทย์ใหญ่ คือหนี้ที่รัฐสร้างมาเพื่อทำโครงการจะชำระอย่างไร และจะเป็นการเพิ่มภาระการคลัง เพิ่มภาระหนี้สาธารณะด้วย
ผศ.ดร.จักรกฤช ยังสะท้อนว่า ทุกพรรคที่หาเสียงแบบประชานิยม พอหาเสียงแล้วก็ต้องรับผิดชอบนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน ส่วนตัวอยากให้มีการกำกับว่าเวลาออกนโยบายควรจะพูดให้ชัดเจนว่าจะรับผิดชอบอย่างไร หากรัฐบาลทำมาแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้จีดีพีโตตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลัง หรือ รัฐบาลต้องวัดออกมาให้ได้ว่าเงินที่ใช้ไปแล้วมีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
“ถ้าไม่มีการวัดผล อนาคตก็จะใช้นโยบายประชานิยมในลักษณะเดียวกัน และจะเพิ่มภาระให้กับรัฐบาล และทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น ซึ่งหนี้สาธารณะคือหนี้ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนั้นรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด”


ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1 เฟส 2 และเฟส 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปคนที่รับก็มีความสุข ซึ่งนโยบายในลักษณะ short run เปรียบเสมือนเวลากินอาหารแล้วรสชาติอร่อยขึ้น เหมือนเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงสั้นๆ
“ที่ผ่านมารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตด้วยนโยบาย โดยใส่เม็ดเงินเข้าไป แต่ไม่ได้แก้ที่โครงสร้าง เพียงแต่เข้าไปกระตุ้นระยะสั้นๆ เท่านั้น เหมือนจุดไฟลุกแล้วดับ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาโจทย์ใหญ่ของประเทศ นั่นคือปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นแล้ว และกำลังเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการหมุนเวียนรายได้ในระบบเศรษฐกิจ เช่น กำลังแรงงานลดลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยน ควรเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สร้างทุนมนุษย์ และทดแทนด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งการลดขนาดของภาครัฐที่ใหญ่มากๆ เป็นต้น”
