ชวนสูงวัยสร้างรายได้และทำสิ่งที่รัก เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ‘กาย’ แต่อยู่ที่ ‘ใจ’

15 มีนาคม 2567 - 13:08

Elder-market-for-silver-age-second-and-third-time-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปัญหาของผู้สูงวัย คือ รายได้และขาดการออมที่เพียงพอ รวมไปถึงโรคภัย และอื่นๆ แต่ผู้สูงวัยอาจสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ ด้วยพลังใจและการสนับสนุนที่ดี

“คุณต้องดูแลพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุหรือเปล่า หรือคุณมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านหรือเปล่า”

“ผู้สูงอายุในบ้านของคุณป่วยหรือไม่”

“และคุณวางแผนการใช้ชีวิต และการเงินอย่างไร เมื่อวันหนึ่งคุณต้องเป็นผู้สูงอายุ”

ในช่วงวัยรุ่น หรือวัยทำงาน เราอาจคิดว่าวัยชราหรือการเป็นผู้สูงอายุเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ถ้าตอบคำถามนี้แล้ว ไม่ว่าอย่างไรเราก็หนีไม่พ้น ‘ผู้สูงอายุ’ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว ชนิดที่เรียกว่า “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete- Aged Society) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จํานวน 13,064,929 คน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super - Aged Society) ในปี พ.ศ. 2576 และในปี พ.ศ. 2583 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 31.37 ของประชากรทั้งหมด 

ปัญหาที่สำคัญของสังคมผู้สูงอายุคือ การขาดแคลนแรงงาน เพราะจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ปัญหาด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุมักประสบกับโรคภัยต่างๆ ปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคลและครอบครัว เพราะผู้สูงวัย หรือที่เรียกว่าวัยเกษียณส่วนใหญ่ไม่มีรายได้หรือไม่ได้ออมไว้อย่างเพียงพอ จึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานในการดูแล ทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ภาครัฐอาจมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะการช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยการสงเคราะห์นั้นใช้งบประมาณสูงมากและทําเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ วิธีการที่ดีกว่าก็คือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และส่งเสริมการมีงานทํา

กายไม่พร้อม หรือใจไม่พร้อม

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว หรือจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายแรง หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงอาจเป็นอุปสรรคในการออกมาทำงานสร้างรายได้ด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่สำหรับ ลุงพล อนันต์ วิวัฒนผล ผู้ผลิตน้ำข้าวโพด Uncle Pol Shop วัย 65 ปี ที่เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูก จนต้องยอมเสียขาข้างขวาเพื่อรักษาชีวิต แม้คุณหมอจะเคยบอกเมื่อ 6 ปีที่แล้วว่า จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3-6 เดือน แต่ลุงพลไม่ยอมเป็นผู้ป่วยติดเตียงและลุกขึ้นมาฝึกขับรถด้วยขาซ้าย และช่วยเหลือตัวเองได้ จนมาพบว่าน้ำข้าวโพดมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงทำน้ำข้าวโพดขายในปัจจุบัน

ลุงพล กล่าวว่า “พอเรากลับมาทำงานได้ ชีวิต วิธีคิดมันเปลี่ยน เมื่อวิธีคิดมันเปลี่ยนทำไมเราจะไปจมปรักอยู่กับส่วนที่เรานอนรอความตาย...เราได้พบความจริงข้อหนึ่งว่าโอกาสอยู่รอบๆตัวเรา โอกาสจะมีประโยชน์กับเราเมื่อเราพร้อม เพราะฉะนั้นตัวเราเองต้องมี ‘ความพร้อม’ ถ้าเราพร้อม ทุกอย่างก็ทำได้ แต่ถ้าเราไม่พร้อม โอกาสมาถึงเราก็ทำอะไรไม่ได้ โอกาสก็จะช่วยเราไม่ได้”

“ร่างกายเราไม่ได้มีขีดจำกัด เราไม่ได้จำกัดว่าเมื่อเราไม่สบาย เราป่วยหรือเราแก่ เราต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ ความเป็นคนแก่ผมว่ามันโชคดีนะ เพราะมันมีคนสักกี่คนที่มีโอกาสได้แก่ เมื่อเราเป็นคนแก่ เราจะไปหยุดทุกอย่างไว้อยู่กับที่มันทำให้เราค่อยๆหมดพลัง

“มันจะมีอะไรใหม่ๆเข้ามาเสมอสำหรับชีวิต ถ้าคุณไม่พร้อม คุณจะปล่อยโอกาสนั้นไปแล้วคุณก็จะบอกตัวเองได้เพียงแค่ว่า ‘เราหมดสภาพแล้วนะ’ ‘เราแก่แล้ว’ ‘ที่ตรงนี้เหมาะสำหรับเรา’ ผมว่ามันไม่ใช่ ที่เหมาะกับเรามันทุกที่ มันอยู่ที่ใจเราพร้อมที่จะไปไหม”

อนันต์ วิวัฒนผล ผู้ผลิตน้ำข้าวโพด Uncle Pol Shop

IMG_0905.JPG
Photo: อนันต์ วิวัฒนผล ผู้ผลิตน้ำข้าวโพด Uncle Pol Shop

สูงวัยอีกคนที่ร่วมก่อตั้ง ร้านขนมปังย่างเนยใส่ไอศกรีมเจ้าดัง ‘เจ-ปัง’ ป้าอ้วน ฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ เริ่มธุรกิจใหม่นี้ด้วยอายุ 58 ปี (ตอนนี้อายุ 65 ปี) เพราะมองว่าอายุไม่ใช่อุปสรรค ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และไม่หยุดอยู่กับที่พร้อมรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง

ป้าอ้วน กล่าวว่า “อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ คิดว่าเราทำดีแล้วหรือยัง ทำเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าสิ่งที่เราทำและเรารักแล้วเราทำออกมาให้ดีที่สุด ส่งมอบสิ่งดีๆให้กับเพื่อน ให้กับลูกค้าของเรา มันก็เหมือนมอบสิ่งดีๆให้กับลูกหลาน ผลกลับมามันไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ แต่ในอนาคตข้างหน้า มันก็จะได้กลับคืนมา ความสุขที่เราได้ตรงนี้มากกว่าที่ได้ส่งมอบสิ่งดีๆให้กับเพื่อนร่วมโลก”

“อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเราจะได้กำไร แต่คาดหวังว่าเราทำในสิ่งที่เรารักแล้วถูกใจคนอื่นไหม ถ้าเราทำแล้วถูกใจคนอื่น มันน่าภาคภูมิใจมากกว่า”

ฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘เจ-ปัง’

Elder-market-for-silver-age-second-and-third-time-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘เจ-ปัง’

ชวนผู้สูงวัยมาปล่อยพลัง

กรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมกับ นิตยสารโอ-ลั้นลา จัดกิจกรรมโอ-ลั้นลามาร์เก็ต เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและมีศักยภาพได้ฟื้นฟูทักษะ (Reskill) หรือพบอาชีพใหม่ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความสามารถในการสร้างรายได้

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอกย้ำให้เห็น “พลัง” ของผู้สูงวัย สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังช่วยปูทางการสร้าง “อาชีพที่สอง (Second Career)” หลังเกษียณ เพื่อพึ่งพิงตนเองได้ในอนาคต

งานนี้ไม่ใช่แค่ตลาดที่มีร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าวัย 55+ ที่ทําด้วยรัก คัดด้วยใจ กว่า 60 ร้านค้า แต่เป็นชุมชนปล่อยพลังคนวัยซ่า มีสีสันและกิจกรรมที่หลากหลาย อย่าง เริงลีลาศ ร้อง เต้น เล่นดนตรีโดยวัยซ่ารุ่นใหญ่ ทอล์กสร้างแรงบันดาลใจจากสูงวัยไอดอล เวิร์กชอปสุขภาพ เวิร์กชอปศิลปะด้านภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า และสมัครงานกับองค์กรสายตาไกลรับสูงวัยเข้าทํางาน

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 7 เมษายน 2567 ณ สถานีรถไฟหัวลําโพง และ ระหว่างวันที่ 26 – 29 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์