แม้จำนวน ‘ผู้สูงวัย’ ที่กลาย ‘ผู้เสียหาย’ จากการลงทุน ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมหลายคน ให้ความเห็นตรงกันว่าว่า มีปะปนกับ ‘เหยื่อ’ ช่วงวัยอื่นอยู่ไม่น้อย จนเป็นข้อกังวลที่ทุกคนจำเป็นต้องร่วมตกผลึก มิเช่นนั้นการเดินหน้าเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ อย่างเต็มตัว จำนวนคนแก่ที่จะตกเป็นเหยื่อ ‘แชร์ลูกโซ่’ อาจเพิ่มขึ้น ตามอัตราประชากรที่สูงขึ้นตามพลวัตรสังคมมที่เปลี่ยนแปลงไป
ตั้งหลักดูรูปแบบธุรกิจ ประเภทขายสินค้าผ่านดิไอคอนกรุ๊ป เชื่อว่ามีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนใจดูแลความงามและสุขภาพ แต่ตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้มีคู่แข่งค่อนข้างสูง ดังนั้นการจะมาสนใจลงทุน เพื่อทำให้เกิดรายได้ย่อมยาก รูปแบบของดิไอคอน จึงไม่ได้มีการนำเสนอ (โชว์) สินค้าโดยตรง แต่ใช้วิธีชักชวนคนผ่านการเรียนขายของออนไลน์ก่อน
จุดดึงดูดคือการโฆษณาขายคอร์สราคาถูก เพื่อประชาสัมภาษณ์ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการทำโปรโมชันที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ พร้อมๆ กับการชักชวนร่วมลงทุน จนเกิดผู้สนใจจำนวนมาก นำไปสู่การเข้าร่วมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ อย่างไม่ทันตั้งตัว
“ยิ่งคนสูงวัย หากได้รับข้อมูลเหล่านี้ เขาคงจะเห็นว่าเป็นการหารายได้ทางหนึ่ง ในวันที่เขาไม่มีงานประจำทำแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนที่มาพร้อมกับสโลแกนรวยเร็ว ยิ่งทำให้การตัดสินใจเป็นเรื่องง่าย”
เป็นความกังวลของ ‘โสภณ หนูรัตน์’ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ต่อกรณีผู้สูงวัย ที่มักตกเป็นเหยื่อของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่มาหลายสิบปี ไม่เว้นแม้แต่ ดิไอคอนกรุ๊ป ที่ปะปนเป็นผู้เสียหายอยู่จำนวนไม่น้อย
โดย โสภณได้จำแนกเหยื่อที่เป็นผู้สูงวัยได้ 2 กลุ่ม
- ผู้สูงอายุที่ทรัพย์สินจากการเกษียณอายุงาน มีเงินเก็บสะสมอยู่เป็นทุนเดิม เป็นคนมีความรู้ มีฐานะทางครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง - ระดับสูง วัตถุประสงค์การลงทุน คือการต่อยอดทางการเงิน หรือการหารายได้ในช่วงยุติงานประจำ (กลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อ)
- ผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวระดับล่าง ที่สถานะไม่มั่นคง ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงตัดสินใจกู้ทรัพย์สิน หรือหยิบยืมเงินจากคนใกล้ชิดมาลงทุน ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นจากการถูกฉ้อโกง อาจทำให้มีภาระที่หนักหน่วงกว่าผู้สูงกลุ่มแรก เพราะมีทั้งหนี้สินจากกู้ ผนวกกับสถานการณ์ส่วนตัวที่ลำพังชักหน้าไม่ถึงหลัง (กลุ่มผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อ)
ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มล้วนตกเป็นผู้เสียหายจากการชักชวนและโน้มน้าวผ่านเครือข่าย รวมถึงการหลงเชื่อการทำคอนเทนต์โฆษณาที่ทำโดย ‘ดารา’ ทั้งสิ้น
“กลุ่มคนแก่ที่อยู่บ้านมีทั้งกลุ่มที่มีเงินเก็บ และคนที่สถานะทางการเงินไม่ดี ซึ่งการใช้ชีวิตช่วงบั้นปลาย ทำให้มีเวลาต่อการรับทราบข่าวประชาสัมพันธ์ - โฆษณาเชิญชวนบนโลกอินเทอร์เน็ต บางคนใช้เงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ไปกับการลงทุน เพื่อหวังผลทางกำไรและเพื่อให้ชีวิตที่มีอยู่ดีขึ้น มันไม่ใช่แค่ดิไอคอนกรุ๊ป แต่ก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นว่า ทั้ง forex แม่มณี ฯลฯ ก็ล้วนมีผู้เสียหายเป็นคนแก่จำนวนไม่น้อย”
โสภณ กล่าว
โสภณ มองถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะ ‘สังคมสูงอายุ’ มาแล้วระยะหนึ่ง จึงมีความกังวลว่า หากหน่วยงานภาครัฐอย่าง ‘สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค’ (สคบ.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ยังไม่เดินหน้าดูแลธุรกิจ (ลักษณะดิไอคอนกรุ๊ป) แบบเชิงรุก ปล่อยให้กฎหมายที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคมีช่องโหว่และจุดอ่อน ย่อมส่งผลต่อผู้สูงอายุที่กำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกๆ วันได้
ดังนั้นหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องมองภาพใหญ่ ว่า ‘การขายตรง’ เป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวเป็น ‘แชร์ลูกโซ่’ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามความคืบหน้าจากประเด็นร้องทุกข์ของประชาชน และจะต้องส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันทางความคิด จำแนกธุรกิจขาวดำได้
อย่าง การขายตรงที่ถูกกฎหมายจะเน้นการขายสินค้าหรือบริการจริง มีความโปร่งใส และจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกับ สคบ. และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสมาคมขายตรงแห่งประเทศ ขณะที่ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มักใช้การชักชวนหาสมาชิกใหม่มากกว่าการขายสินค้า ซึ่งเป็นระบบที่เสี่ยงต่อการล่มเมื่อไม่มีสมาชิกเพิ่ม
ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีการจัดตั้งหน่วยงานรอง ที่จะมารับผิดชอบกับปัญหาเหล่านี้โดยตรง อย่างการตรวจสอบว่า ธุรกิจดังกล่าวมีสินค้าจริงตามที่มีการโฆษณาหรือไม่ หรือต้องเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยการระงับ - เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เพราะหากรัฐยังนิ่งเฉย - ใช้วิธีตามแก้ปัญหาแบบเดิมๆ จะไม่เป็นผลดีต่อพลวัตรทางสังคม (สูงอายุ) ซึ่งในวันข้างหน้าจะมีคนแก่ที่กลายเป็นผู้เสียหายมากขึ้น เพราะลักษณะของการหลอกลวงกลุ่มเปาะบาง จะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
อย่าให้ ‘เงินก้อนสุดท้าย’ ของประชาชนต้องสูญไปอย่างไร้ค่า