กฎหมายกับวิถีชีวิต ‘ช้างเลี้ยงคน VS คนเลี้ยงช้าง’

9 ต.ค. 2567 - 13:36

  • ‘ช้างเลี้ยงคน’ หรือ ‘คนเลี้ยงช้าง’ เมื่อบทบาทของ ‘คนและช้าง’ แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย วิถีชีวิตในยุคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว

  • กฎหมายที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างที่ใช้มานานกว่าหลายสิบปี ยังใช้ได้ดีอยู่หรือเปล่า

  • ความท้าทายอีกบทของปางช้างเชียงใหม่กับการฟื้นฟูหลังน้ำลด

elephant-caretaker-laws-og-SPACEBAR-Hero.jpg

วิถีชีวิต : ช้างเลี้ยงคน

ประเทศไทย นับว่าเป็นดินแดนที่มีความผูกพันกับช้างมาเนิ่นนาน ช้างไม่เพียงเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของชุมชนหลายแห่ง เช่น ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ในอดีต ‘ช้าง’ มีบทบาทสำคัญต่อการขนส่ง และการถูกใช้แรงงานในภาคการเกษตร ทั้งการลากไม้และการขนส่งสินค้าผ่านภูเขา 

แต่เมื่อยุคสมัยแปรเปลี่ยน เทคโนโลยีได้เข้ามาลดบทบาทของช้าง โดยเฉพาะด้านการใช้แรงงานและการขนส่ง ไม่เพียงเท่านี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ยังส่งผลให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาการทารุณกรรมช้างมากขึ้น และหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เน้นเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพช้างเป็นหลัก ส่งผลให้การท่องเที่ยวแบบ ‘โชว์ช้างแสดง’ และ ‘ขี่ช้าง’ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากสืบค้นข้อมูลของ ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า (Center of Elephant and Wildlife Health) พบว่า ปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรช้างเลี้ยง อยู่ประมาณ 838 เชือก กระจายอยู่ใน 10 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดย อ.แม่แตง มีจำนวนประชากรช้างมากที่สุด จำนวน 418 เชือก โดยช้างเลี้ยงส่วนใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ เป็นช้างเลี้ยงที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย

วิถีช้าง : ในชีวิตคน

ช่วงต้นเราพูดถึง ‘บทบาทของช้าง’ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกันไปแล้ว ต่อมาเราจะพูดถึง ‘บทบาทของคนเลี้ยง’ และกฎหมายที่คุ้มครองสวัสดิภาพช้างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการปูพื้นกันก่อน ในประเทศไทย ‘ช้าง’ ถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ‘ช้างบ้าน’ และ ‘ช้างป่า’ หากวัดกันตามสายพันธุ์ทั้งคู่ไม่มีความต่างกันเลย เป็น ช้างเอเชีย (Elephas maximus) เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างคือ ‘วิถีชีวิตและการใช้งาน’

ไม่เพียงเท่านี้ ‘ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง’ ยังมีความต่างจาก ‘ช้างในปางช้าง’ อีกด้วย โดย ‘ช้างบ้าน’ คือช้างที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ และสามารถถูกใช้งานในหลายกิจกรรม เช่น การขนส่ง การเกษตร หรือการแสดง ช้างบ้าน ยังเป็นทรัพย์สินของเจ้าของโดยตรง และจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการจัดทำ ‘ตั๋วรูปพรรณ’ เพื่อระบุรายละเอียดของช้าง 

ส่วน ‘ช้างในปางช้าง’ มีความต่างช้างบ้าน ในด้านการใช้งานและวิธีการดูแล โดยช้างบ้านอาจมีวิถีชีวิตประจำวันในชุมชน ขณะที่ช้างในปางช้างจะถูกใช้เพื่อการท่องเที่ยว และมีมาตรฐานการดูแลเฉพาะตามกฎหมาย

ส่วนจำนวนประชากรของช้างบ้าน จากข้อมูลของ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย เมื่อปี 65 พบว่าเหลือเพียง 3,800 เชือก แบ่งเป็นช้างภายใต้ความดูแลของชาวบ้าน ควาญช้าง และเอกชน (ปางช้าง) ประมาณ 3,200 เชือก

ขณะที่ช้างในความดูแลของภาครัฐ มีประมาณ 100 เชือกเท่านั้น เช่น ช้างในองค์การส่วนสัตว์ และบางส่วนเป็นช้างขององค์กรหรือมูลนิธิ ขณะที่ช้างอีก 200-300 เชือก เป็นช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากควาญช้าง

กฎหมาย : คนเลี้ยงช้าง

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงช้าง พบว่าหลักๆ มี 3 อย่าง คือ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 , พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563

โดยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้มั่นใจว่าช้างจะได้รับการปกป้องและดูแลอย่างเหมาะสมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะกฎหมายการจัดการสวัสดิภาพช้างในปางช้าง ที่นอกจากป้องกันเรื่องการทารุณกรรมแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับอุตสากรรมการท่องเที่ยว และยกระดับการอนุรักษ์ช้าง โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญที่น่าสนในหลายแง่มุมดังนี้  

  • สวัสดิภาพด้านสุขภาพและการดูแลช้าง

ผู้เลี้ยงช้างและปางช้างต้องจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีอาหารและน้ำที่เพียงพอสำหรับช้าง เพื่อให้ช้างมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสุขภาพช้างเป็นประจำ และช้างต้องได้รับการดูแลเมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ

  • การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ปางช้างต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับช้างที่มีความปลอดภัยและมีพื้นที่เพียงพอสำหรับช้างในการเคลื่อนไหว การดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมนี้ช่วยลดความเครียดของช้างที่อาจเกิดขึ้นจากการเลี้ยงในพื้นที่จำกัด​

  • การฝึกอบรมผู้ดูแลช้าง

ย้ำถึงความสำคัญของการฝึกอบรมควาญช้างและผู้ดูแลช้าง เพื่อให้พวกเขามีความรู้และความเข้าใจในการดูแลช้างอย่างถูกต้อง รวมถึงฝึกวิธีการจัดการช้างในสถานการณ์ต่างๆ

  • การรับรองมาตรฐานปางช้าง

ปางช้างที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์​

  • การสนับสนุนการอนุรักษ์ช้าง

เน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ช้างและการส่งเสริมปางช้างเชิงอนุรักษ์ โดยปางช้างจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการไม่ทำร้ายหรือใช้ช้างในกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของช้าง

ช้างเลี้ยงคน : คนเลี้ยงช้าง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่ประกาศบังคังใช้ มีการสอดรับกับวิถีชีวิตของคนและช้างในหลายมิติ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนกับช้าง’ ว่าท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาต่างพึ่งพาอาศัยกัน เกื้อหนุนกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ช้างกลายเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้จากภาคอุตสหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อช้างอยู่ได้ คนย่อมอยู่ได้เช่นกัน นี่จึงเป็นความท้าท้ายที่สำคัญระหว่างคนและช้างในการที่จะสู้และก้าวเดินไปด้วยกัน 

โดยเฉพาะช้างและผู้ดูแลช้างในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่กำลังเผชิญกับความท้าท้ายเรื่องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่คลี่คลาย และการรับมือกับปัญหาอุทกภัยในปีถัดๆ ไป ที่ถูกคาดการณ์ว่ามีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่เดิมอีกครั้ง 

ขณะที่ ‘ปางช้างเชียงใหม่’  ส่วนใหญ่พบว่าตั้งอยู่ใกล้กับริมแม่น้ำหรือแหล่งน้ำ เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าหากกฎหมายเกี่ยวข้องกับการดูแลช้าง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการสวัสดิภาพช้างประสบความสำเร็จในแง่ปฏิบัติจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับช้างต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือดีที่สุดคือไม่เกิดการสูญเสียเลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์