เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก คู่บ่าวสาวหลายคู่เลือกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันจดทะเบียนสมรส แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี เพราะมีกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ จูงมือกันจดทะเบียนสมรสอย่างคึกคัก หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คู่รัก LGBTQ+ หลายคู่ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกดีใจ เพราะเป็นความหวังที่รอมานาน

ผกาสินี หอวิจิตร อายุ 36 ปี และ ภัชราพร บุตรคุณ อายุ 34 ปี หนึ่งในคู่รักที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและจดทะเบียนสมรส ผกาสินี เปิดเผยว่า ได้คบหากับแฟน และดูแลกันมากว่า 8 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของความรักเกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยฝ่ายหญิงเป็นคนเข้ามาจีบเราก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มพูดคุยทำความรู้จัก ก่อนจะตัดสินใจคบหากันมาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งตอนเริ่มคบกันตนเองก็ยังไม่ได้บรรจุรับราชการ แต่แฟนสาวก็ยังอยู่ด้วยกันมาจนถึงวันนี้ จนกระทั่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ วันวาเลนไทน์ปีนี้จึงตัดสินใจว่า อยากจดทะเบียนสมรส เพื่อให้คนรักได้สิทธิสวัสดิการตามกฎหมาย เป็นการตอบแทนและดูแลกันและกัน เพราะเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่วันที่เรายังไม่มีอะไรเลยจนวันที่เราประสบความสำเร็จ เขาก็ยังอยู่และดูแลเราเหมือนเดิม
ภัชราพร แฟนสาว ของผกาสินี บอกว่า การได้เข้าร่วมพิธีจดทะเบียนสมรสในครั้งนี้ ตนเองรู้สึกดีใจมาก เพราะรอคอยวันนี้ที่ประเทศไทยเรายอมรับในเรื่องของการสมรสเท่าเทียม ที่ได้มีการเรียกร้องกันมานานแล้ว เมื่อวันนี้มาถึงก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ส่วนตัวมองว่าแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ในแง่ของการปฏิบัติกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติอย่างเท่าเทียม


ดร.ชีรา ทองกระจาย ประธานมูลนิธิเครือข่ายหลากหลายทางเพศภาคอีสาน เปิดเผยว่า การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเพียงก้าวแรก และเป็นนิมิตหมายอันดีที่สังคมไทยจะต้องยอมรับความหลากหลาย ซึ่งมูลนิธิฯ ก็เดินหน้าสร้างการรับรู้ สร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชน ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ เรื่องสวัสดิการ เรื่องการยอมรับ เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องตระหนัก กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่มีผลบังคับใช้แล้ว หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ต้องปฏิบัติกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม ปราศจากอคติทางเพศ
“อีกประเด็นที่สำคัญและหลายคนเป็นห่วงแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ในแง่ของการปฏิบัติกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ก็ยังเป็นสิ่งน่ากังวล โดยเฉพาะการจดทะเบียนสมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เจ้าหน้าที่รัฐจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร จะใช้คำพูดแบบไหน สิ่งเหล่านี้ต้องรณรงค์และให้ความรู้ เพื่อปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากชายหญิง แม้แต่น้องๆ บางคนไปพบแพทย์ หรือพยาบาล ยังถูกถามว่าแปลงเพศหรือยัง ซึ่งการใช้คำพูดที่อ่อนไหวควรต้องระมัดระวัง ซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนน้อยที่ยังไม่เข้าใจ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ต้องรอวันยอมรับ”
ประธานมูลนิธิเครือข่ายหลากหลายทางเพศภาคอีสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ปฏิกิริยาตอบรับของประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีกฎหมายรองรับ ทั้งภาครัฐและเอกชนตื่นตัวในการจัดกิจกรรมให้สังคมรับรู้ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองหรือสถานศึกษา แต่ยังมีการสร้างความรู้ไปยังพื้นที่รอบนอกต่างอำเภอ โดยทางจังหวัดก็ให้ความสำคัญมีการกำชับ และสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการในการปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ
“ยอมรับว่า การต่อสู้เรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีมานานตั้งแต่อดีต แต่การขับเคลื่อนของภาคประชาชนจะมีความเข้มข้นในช่วงปี 2550 ซึ่งก่อนหน้านี้จะมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ใช้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง คนต้องการประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ จึงทำให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันที่ใช้กับชายหญิง และในที่สุดก็ผ่านกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหากฎหมายจากเดิมระบุเพศเป็นชาย หญิง ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นคู่สมรส หมายถึงบุคคลสามารถสมรสกับบุคคล ต่อไปในทะเบียนสมรสจะไม่มีคำว่าชายหญิง แต่จะมีคำว่าคู่สมรสแทน” ดร.ชีรา กล่าว


ขณะที่ สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านการเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) กล่าวว่า ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สวยงามที่ประเทศไทยได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศต่อสู้และรอมานาน
“แต่ถ้าหากถามว่าการยอมรับความหลากหลายทางเพศจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และบริบทของสังคม ถ้าเป็นภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ถ้าเป็นรัฐอิสลาม อาจจะมีการยอมรับที่ต่ำกว่า เนื่องจากบริบทสังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ไม่เอื้อให้มีการแสดงออกของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากนัก ก็จะมีแรงต้านที่สูงกว่า”
“ในส่วนของประเทศไทยผู้คนก็ยอมรับมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลา เพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ทันที แต่อย่างน้อยก็ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว จะทำให้คนตระหนักรู้มากขึ้นว่า คนที่เป็นเพศเดียวกันสามารถรักกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยในภูมิภาคเอเชีย มีประเทศไต้หวัน เนปาล และประเทศไทย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม นับว่าเป็นความก้าวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้ก็ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง”

สุภาณี กล่าวถึงสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายด้วยว่า เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ย่อมได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สิทธิการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน, สิทธิในการรับมรดกคู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิในการใช้นามสกุลคู่สมรส, สิทธิในการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลกรณีคู่สมรสอยู่ในสภาวะให้ความยินยอมไม่ได้, สิทธิประโยชน์ในทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น
“อยากให้สังคมเปิดใจกว้างรับความแตกต่าง ความหลากหลาย เพราะในสังคมไม่มีแค่ชายหญิง แต่มีเพศอื่นๆด้วย ไม่อยากให้ใช้อคติส่วนตัวตัดสินกลุ่มคนเหล่านี้ไปก่อน อยากให้มองพวกเขาเป็นคนเหมือนกัน”
“แม้ว่าขณะนี้มีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ขณะเดียวกันก็ยังมี พ.ร.บ.ที่คุ้มครองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วย นั่นคือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2558 โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้กรมสตรีและกิจการครอบครัว ที่รับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ โดยมีกลไกลการทำงานที่เรียกว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ วลพ.”


ฉัฐพร งามเกลี้ยง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีขึ้นเพื่อคุ้มครองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งมีช่องทางในการร้องเรียน โดยสามารถยื่นคำร้องได้ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถไปที่กรมกิจการสตรีและสถานบันครอบครัว หรือกรณีอยู่ต่างจังหวัดให้ไปที่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจสอบคำร้อง
“ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นคำร้องที่ถูกต้อง ก็จะเสนอให้คณะกรรมการ วลพ.วินิจฉัยต่อไป และในกรณีที่คณะกรรมการ วลพ.วินิจฉัยว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้มีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสม เพื่อระงับและป้องกันไม่ให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งให้มีการชดเชย เยียวยา ผู้เสียหาย หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ฉัฐพร กล่าว


