เริ่มแล้ว! 7 วันอันตราย สงกรานต์ปีนี้ ดับแล้ว 27

12 เม.ย. 2568 - 05:34

  • เปิดฉาก 7 วันอันตรายสงกรานต์68! ดับสังเวยบนท้องถนน 27 ราย บาดเจ็บระนาว 201 คน

  • เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ‘กทม.-มุกดาหาร’ ขึ้นนำยอดสูญเสียสะสม ‘ซิ่ง-เมาขับ’

  • สาเหตุหลัก ‘ศปถ.’ กำชับจังหวัดบูรณาการพื้นที่ใช้ 5 มาตรการหลักเข้มบังคับใช้กฎหมาย

first-day-songkran-12apr25-SPACEBAR-Hero.jpg

โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12 เม.ย.2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 เป็นวันแรก โดยในปีนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 11–17 เม.ย. เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ผ่าน 5 มาตรการหลัก ได้แก่ การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนในสังคม ซึ่งในปีนี้เป้าหมายของการดำเนินการคือการลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุดโดยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิชาการชี้ว่า อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลัก ดังนั้นจึงขอฝากให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลข้อควรปฏิบัติในการขับขี่ให้กับประชาชน ตลอดจนการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น

first-day-songkran-12apr25-SPACEBAR-Photo01.jpg

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ ‘ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ’ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย.68 เกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 201 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.76 ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.64 และดื่มแล้วขับ 22.75

S__1335318.jpg

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.64 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.26 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 51.66 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 22.75 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.27 

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. เวลา 18.01 – 21.00 น. และเวลา 12.01 – 15.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 20.18 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,737 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,647 คน 

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่กรุงเทพมหานคร (5 ราย)

“จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในวันนี้ พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขอให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด โดยให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เน้นการควบคุมและดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยจะต้องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนดและไม่จำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด ใช้กลไกด่านชุมชนและด่านครอบครัวเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น ตลอดจนจัดตั้งจุดบริการประชาชน จุดอำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ โดยมอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดตรวจจับความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ ผ่านระบบ GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วและชั่วโมงการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง”

โอภาส กล่าว

ด้าน สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า นอกเหนือจากความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนที่เล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่แล้ว ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดบริการประชาชน โดยขอให้พิจารณาเลือกพื้นที่ที่ปลอดภัยในการตั้งจุดบริการประชาชน ไม่ตั้งกีดขวางช่องทางการจราจร มีระยะห่างจากขอบทาง หากพื้นผิวจราจรเปียกน้ำหรือมีน้ำขังให้ติดตั้งเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นจุดบริการประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันอันตรายจากถนนลื่น ไม่ออกไปยืนนอกจุดบริการ เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ปฏิบัติงาน

first-day-songkran-12apr25-SPACEBAR-Photo04.jpg

ทั้งนี้ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 12–14 เมษายนนี้ บริเวณภาคเหนือตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าในบางพื้นที่ ขอให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ลดความเร็วในการขับขี่ลง หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังในการจัดงานกลางแจ้งช่วงเทศกาลสงกรานต์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์