‘พระราชพิธีแรกนาขวัญ’ วันแห่งความหวัง-ขวัญกำลังใจชาวนาไทย

9 พ.ค. 2568 - 00:05

  • พระราชพิธีแรกนาขวัญวันพืชมงคล ความสำคัญต่อเกษตรกรชาวนาไทย

  • พิธีเสี่ยงทายของพระโค บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ บำรุงขวัญและเป็นกำลังใจ ก่อนฤดูทำนาจะเริ่มขึ้น

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนาขวัญ พระราชประเพณีสำคัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่ทำเพื่อเสริมสร้างให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทย 

‘พระราชพิธีแรกนาขวัญ’ ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น แต่จะกำหนดเป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น ซึ่งในปี 2568 นี้ ‘พระราชพิธีพืชมงคลฯ’ ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดซ้อมใหญ่ ‘พระราชพิธีพืชมงคลฯ’ ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม โดย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร นางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นางสาว อภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมในการซ้อมใหญ่พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ก่อนวันพระราชพิธีจริงวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568

First-Rice-Planting-Ceremony-a-day-of-hope-and-encouragement-for-Thai-farmers-SPACEBAR-Photo01.jpg


ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีสองพิธีต่อเนื่องกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ ประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ส่วนอีกพระราชพิธี คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

ความหมายของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อต้องการให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในพระราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์ตลอดฤดูกาลที่ทำการเพาะปลูก 

ในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีทุกครั้ง ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาพระมหากษัตริย์ทรงกระทำเหมือนสมัยสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิ์และทรงจำศีลอย่างเงียบๆ เป็นเวลา 3 วันพอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น 

สำหรับพระราชพิธีในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ ผู้แทนพระองค์ จะทรงเป็นประธานในพิธี โดยผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนาก็คือปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบเงินและทองที่ทำหน้าที่หาบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้พระยาแรกนาหว่านในแปลงนาที่ท้องสนามหลวงจะเป็นข้าราชการหญิงในกระทรวงเกษตรฯ

พระราชพิธีอย่างย่อๆ ในพิธีแรกนา จะเริ่มด้วยกระบวนพระยาแรกนาในชุดเครื่องสูงจะทำพิธีเสี่ยงผ้านุ่ง ถ้าจับได้ผ้ากว้าง มีคำนายว่า น้ำจะมาก ถ้าจับได้ผ้าผืนกลางก็ทายว่าน้ำพอดี หากจับได้ผ้าผืนแคบทายว่าน้ำจะน้อย

จากนั้นพราหมณ์จะมอบไถเทียมพระโคคู่ให้พระยาแรกนา ลงมือไถ โดยเริ่มไถรี 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ และ ไถดะ 3 รอบ ในระหว่างนั้น พระยาแรกนาจะหยิบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานในหาบที่เทพีคู่หาบเงินและทองนำมาให้หว่านแล้วไถกลบอีก 1 รอบ 

จากนั้นพราหมณ์จะให้พระโคเสี่ยงทายด้วยของกิน 7 อย่างมีข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ และ หญ้า พระโคกินอะไร ทายว่าสิ่งนั้นจะสมบูรณ์

หลังจากเสร็จพระราชพิธีจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรและประชาชนที่มาร่วมพิธีเข้ามาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านไว้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและอาชีพของตนเองต่อไป 

First-Rice-Planting-Ceremony-a-day-of-hope-and-encouragement-for-Thai-farmers-SPACEBAR-Photo03.jpg


สำหรับพระราชพิธีฯในปี 2568 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดเตรียมพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน บรรจุในซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยม

ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน 7 พันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,590 กิโลกรัม ได้แก่

1) พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

2) พันธุ์กข 79

3) พันธุ์กข 85

4) พันธุ์กข 99 (หอมคลองหลวง 72)

5) พันธุ์กข 6

6) พันธุ์กข 24 (สกลนคร 72)

7) พันธุ์ข้าว กขจ 1 (วังทอง 72)  

ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่เหลือ กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาล ปี 2568 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

First-Rice-Planting-Ceremony-a-day-of-hope-and-encouragement-for-Thai-farmers-SPACEBAR-Photo04.jpg


รู้จัก 7 พันธุ์ข้าว ในพระราชพิธีพืชมงคลฯ 2568

1.พันธุ์ข้าวขางดอกมะลิ 105 ประวัติพันธุ์ ได้มาโดยนายสุนทร สีหะเนิน เจ้าพนักงานข้าว รวบรวมจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2493 - 2494 จำนวน 199 รวง แล้วนำไป คัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection) และปลูกเปรียบเทียบ พันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรงแล้วปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่น ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนได้สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 4-2-105

ลักษณะเด่น ขาวดอกมะลิ 105  ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม

2.พันธุ์ข้าว กข 79  ประวัติพันธุ์ ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง PSL00034-37-3-1-3 ต้านทานต่อโรคไหม้เป็น พันธุ์แม่ กับ PSBRc20 ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพันธุ์พ่อ ในฤดูนาปรัง 2550 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทปลูกคัดเลือกแบบสืบตระกูลชั่วที่ 2 ถึง 6 ทั้งฤดูนาปรัง และฤดูนาปี ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2551 ถึง ฤดูนาปรัง 2553 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท จนได้สายพันธุ์ CNT07018-26-1-1-1 และปลูกศึกษาพันธุ์ในฤดูนาปี 2553 ฤดูนาปรัง 2554 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี

ฤดูนาปรัง 2555 -ฤดูนาปี 2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกชัยนาท ลพบุรี แพร่ เชียงใหม่ และเชียงราย วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ

ลักษณะเด่น กข 79 คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เป็นข้าวเจ้า เมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ 

3.พันธุ์ข้าว กข 85 ประวัติพันธุ์ ได้จากการผสมพันธุ์3 ทางระหว่าง ลูกผสมชั่วที่ 1 ของ PSBRc10 กับ CNT96028-21-1-PSL-1-1 นำไปผสมกับ LPHR303-PSL-30-4-2

ลักษณะเด่น กข 85 ให้ผลผลิตสูงถึง 1,173 กิโลกรัมต่อไร่ ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ดีกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และ กข47 ทนทานต่อสภาพอากาศเย็นคุณภาพเมล็ดทางกายภาพดีเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

4.พันธุ์ข้าว กข 99 (หอมคลองหลวง 72) ประวัติพันธุ์ ข้าวสายพันธุ์ CCS12009-KLG-18-1-1-3-1 ข้าวหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ได้จากการผสมพันธุ์ ระหว่างพันธุ์ IRB41 (พันธุ์แม่) กับพันธุ์ชัยนาท 1 (พันธุ์พ่อ)

ลักษณะเด่น กข 99 (หอมคลองหลวง 72) เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยให้ ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลูกในสภาพแปลง เกษตรกร, ข้าวสุกมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม, - คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

5.พันธุ์ข้าว กขจ 1 (วังทอง 72) ประวัติพันธุ์ CRI12026-6-9-PSL-4-1-1-1 ได้จากการผสมเดี่ยว ระหว่างสายพันธุ์ข้าว PSL95037-25-1-2-PAN-1 กับพันธุ์ Shubu

ลักษณะเด่น กขจ 1 (วังทอง 72)  มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 953 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 755 กิโลกรัมต่อไร, ต้านทานต่อโรคไหม้ได้ดีกว่าพันธุ์ พันธุ์ ก.วก.1 และ ก.วก.2, เป็นข้าวเจ้าจาปอนิกาที่มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อยกว่าพันธุ์ก.วก. 1 และ ก.วก.2 คุณภาพการสีดีมาก คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี

6.พันธุ์ข้าว กข 6 ประวัติพันธุ์ ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ 20 กิโลแรด (Rad) อาบเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วนำมาปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวบางเขนและสถานีทดลองข้าวพิมาย จากการคัดเลือกได้ข้าวเหนียวหลายสายพันธุ์ในข้าวชั่วที่ 2 นำไปปลูกคัดเลือกจนอยู่ตัวได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ KDML105´65-G2U-68-254 นับว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ค้นคว้าได้โดยใช้วิธีชักนำพันธุ์พืชให้เปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยใช้รังสี 

ลักษณะเด่น กข 6  ให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง, คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม, ลำต้นแข็งปานกลาง, ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล, คุณภาพการสีดี 

7.พันธุ์ข้าว กข 24 (สกลนคร 72) ประวัติพันธุ์ ข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวเหนียว สายพันธุ์ RGDU07585-7-MAS35-4 ซึ่งลำต้นเตี้ย เป็นพันธุ์แม่ กับข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU07123-12-22-5 ซึ่งลำต้นสูง คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีความต้านทานต่อโรคไหม้เป็นพันธุ์พ่อ

ลักษณะเด่น กข 24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสงที่มีลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้มดีกว่าพันธุ์ กข6 และ กข18, ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 โดยผู้ที่ประสงค์รับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน สามารถลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ https://rice.moac.go.th/ หรือแสกนคิวอาร์โค้ด ได้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2568 

ข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์