จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นแหล่งปลูกดอกกุหลาบขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ส่งไปขายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบในหลายพื้นที่ต่างบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาดอกไม้นำเข้าจากจีน ส่งผลกระทบกับการปลูกและการค้าขายกุหลาบ เนื่องจากมีดอกไม้นานาชนิดจากจีนเข้ามาตีตลาด รวมถึงกุหลาบที่ขายราคาถูกกว่ากุหลาบไทย ทำให้ชาวสวนผู้ปลูกกุหลาบต่างได้รับความเดือดร้อน

จากการพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบ ที่บ้านบวกเต๋ย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ แหล่งปลูกดอกกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
แสนสุข ลีธนบดี เจ้าของสวนกุหลาบนายแสน เปิดเผยว่า ปีนี้กุหลาบราคาไม่ค่อยดี เพราะมีกุหลาบจากจีนเข้ามาจำนวนมาก และเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา กุหลาบในตลาดเป็นกุหลาบจากจีนถึงร้อยละ 70 เข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งเขาสามารถนำเข้ามาสต๊อกสินค้าได้มากและนานกว่าเรา แถมราคาของจีนยังมีราคาที่ถูกกว่าในหลายช่วง ซึ่งเป็นการตัดราคาดอกกุหลาบของเกษตรกรชาวไทย
“หากไม่มีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามามากขนาดนี้ของคนไทยน่าจะขายได้ดีกว่านี้ เชื่อว่าสินค้าเกษตรของคนไทยที่ราคาตกต่ำมาจากจุดนี้ สังเกตได้ว่าหากช่วงไหนที่ตลาดจีนไม่เข้ามาราคากุหลาบของคนไทยก็จะเพิ่มขึ้น”

แสนสุข บอกด้วยว่า หากเปรียบเทียบกันแล้วกุหลาบของคนไทยจะมีสารเคมีน้อยกว่าหรือไม่มีเลย เรียกว่าจะเป็นธรรมชาติมากกว่า อายุของดอกกุหลาบจะอยู่ตามธรรมชาติของเขาอยู่ที่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สังเกตว่ากุหลาบของจีนจะอยู่นานกว่า อาจจะเพราะต้องใช้สารเคมีเนื่องจากต้องเดินทางมาไกล
“ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะสู้อย่างไรต่อไป เนื่องจากต่อให้เรามีสินค้าสวยแต่ราคาก็ยังอยู่ที่เดิม 3-4 ปี ที่ผ่านมาดอกกุหลาบจากสวนหนึ่งดอกอยู่ที่ 15 ถึง 20 บาท แต่ปีที่ผ่านมาตกอยู่ที่ดอกละ 12 บาท ดังนั้น ถ้าปีนี้ยังอยู่ที่ 12 บาท ทุนที่ลงไปก็อาจจะเอาคืนมายาก”

แสนสุข บอกอีกว่า หากถามว่าจะปรับตัวไปปลูกต้นไม้ชนิดอื่นๆ ก็คงยากเหมือนกันเพราะตลาดของจีนก็เข้ามาตีหลากหลายชนิด อีกส่วนหนึ่งคือถ้าหากเราเปลี่ยนอาชีพไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำมากขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องของน้ำอีก จนอาจจะต้องย้ายสถานที่ในการปลูกไปเลย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่อยากย้ายเนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทำเกษตรอยู่แล้ว
การปรับเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยวคิดว่ามีแค่ส่วนน้อยมากๆ ที่จะสามารถทำได้ เพราะหลายพื้นที่ในการปลูกก็อยู่บนพื้นที่สูง มีพื้นที่อาจจะมีจำกัด และหลายพื้นที่ก็เป็นพื้นที่ที่ไม่มีโฉนดที่ดิน สำคัญที่สุดก็คือเราไม่มีต้นทุนในการจะไปเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมันต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก เรียกได้ว่าตอนนี้ลำบากไปหมด
“ส่วนการร้องเรียนชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนกับใคร ถ้าสินค้าจากจีนถล่มเมื่อไหร่ไม่ว่าจะเป็นผักหรือดอกไม้ราคาก็ตกต่ำ คิดว่าสินค้าของเกษตรกรชาวไทยก็น่าจะเพียงพอกับตลาดในไทยแล้ว นำเข้าได้แต่ควรจะควบคุมจำนวนสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาได้ เพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่ได้ด้วย”
แสนสุข ลีธนบดี

กิตติพงษ์ อนันต์วิไล เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นกุหลาบมานานกว่า 4 ปี เปิดเผยว่า ปัญหาที่เจอตอนนี้ คือมีกุหลาบจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดมากขึ้น ทำให้ดอกกุหลาบของเกษตรกรชาวไทยขายได้ช้าและขายได้ยากมากขึ้น ในส่วนราคาก็กระทบอยู่แล้วทำให้กุหลาบของคนไทยขายได้ราคาที่ต่ำลง
“อย่างต้นกุหลาบตอนนี้เริ่มต้นอยู่ที่ต้นละ 250 บาท จากที่เมื่อก่อนขายได้ต้นละ 300 บาท จะปรับราคาขึ้นก็ไม่ได้ มีแต่ต้องลดลงเรื่อยๆ สาเหตุมาจากกุหลาบจากต่างประเทศเข้ามา อีกประเด็นหนึ่งก็คือเกษตรกรไทยก็ปลูกดอกกุหลาบเป็นจำนวนมากเช่นกัน เรียกว่าแข่งขันภายในประเทศก็สูง ยังเจอสินค้าจากจีนเข้ามาอีก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมการนำเข้าพวกกุหลาบจากต่างประเทศเพื่อให้ตัวของเกษตรกรไทยอยู่ได้”

ด้าน ปรารถนา บรรดาพิมพ์ เจ้าของร้านเล็กน้อยดอกไม้สด ภายในตลาดดอกไม้เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ประกอบอาชีพในการขายดอกไม้มานานกว่า 33 ปี บรรยากาศการค้าขายในช่วงนี้ก็ถือว่าเรื่อยๆ จะคึกคักมากเป็นบางช่วง อย่างช่วงวันวาเลนไทน์ลูกค้าจะมาซื้อดอกกุหลาบมากขึ้นกว่าปกติ
“ปีนี้ก็คาดหวังว่าบรรยากาศน่าจะคึกคักเพราะวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของปีนี้นั้นตรงกับวันศุกร์ ซึ่งลูกค้าหลายคนก็จะไปทานอาหารและมีการสั่งดอกไม้ไปมอบให้กับคนที่รักในมื้อเย็นหรือช่วงดึกๆ ตอนนี้ราคากุหลาบ 1 ดอกอยู่ที่ 20-30 บาท หรือถ้าตกแต่งเพิ่มเติมก็จะตกอยู่ดอกละ 40 บาท ส่วนแบบช่อก็จะตกอยู่ประมาณ 200 บาท หรือหากช่อใหญ่ก็จะขึ้นไปอยู่ที่หลักพัน แล้วแต่ว่าลูกค้าต้องการราคาอยู่ที่เท่าไหร่”
ปรารถนา บอกด้วยว่า มีข้อสังเกตวันวาเลนไทน์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังเกตว่าลูกค้าหันไปซื้อดอกไม้ชนิดอื่นๆ มากขึ้น เช่นดอกทานตะวัน ที่อาจจะสื่อความหมายได้ว่ารักเดียวใจเดียว จากการที่ดอกทานตะวันนั้นจะหันไปหาด้านที่มีแสงจากดวงอาทิตย์เสมอ หรือดอกไม้อื่นๆ ที่มีความสวยงามตามความชอบของคนที่ลูกค้าจะไปมอบให้ ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมการซื้อดอกไม้ให้กับคนที่รักในวันวาเลนไทน์นั้นอาจจะไม่ได้อิงดอกกุหลาบเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว


ปรารถนา ยังบอกอีกว่า ในมุมมองที่เป็นแม่ค้าขายดอกไม้ สำหรับประเด็นของดอกไม้จีนที่เข้ามายังไม่ได้มีผลกระทบอะไร เนื่องจากรับดอกไม้จากเกษตรกรชาวไทยอยู่แล้ว ตามท้องตลาดก็จะสนับสนุนเกษตรกรชาวไทย ซึ่งก็มีความเชื่อมั่นว่าดอกไม้ของไทยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าดอกไม้ของต่างชาติ และราคายังถูกกว่า ความสวยไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าใคร มีความสด ตัดจากสวน และส่งตรงถึงตลาดได้เลย แต่ของจีนนั้นคงต้องมีการนำไปพักคอยอยู่หลายวันกว่ากว่าจะมาถึง
“อย่างไรก็ตาม ก็อยากจะฝากถึงรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากจะให้บรรยากาศของตลาดและการค้าขายคึกคักมากขึ้น อย่างเช่นตลาดดอกไม้ก็สามารถนำเสนอมุมมองเหล่านี้ให้กับชาวต่างชาติได้รับรู้ สามารถทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวได้ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาซื้อหรือมาเที่ยว ถ่ายรูป ก็จะเป็นการโฆษณาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไปในตัว รวมถึงอยากให้ประชาชนมีเงินในการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย”
“หากบรรยากาศการขายดอกไม้ที่ตลาดคึกคักมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยชาวสวนหรือเกษตรกรไปในตัวได้ด้วย เนื่องจากชาวสวนตามพื้นที่สูงทำธุรกิจตรงนี้เป็นจำนวนมาก เราแม่ค้าก็ถือว่าเป็นตัวแทนที่รับซื้อ เป็นคนกลางให้กับเกษตรกรเหล่านี้ เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน” ปรารถนา กล่าว
