เปิดข้อมูล ‘ซีเซียม-137’ อันตรายแค่ไหน?

14 มีนาคม 2566 - 07:30

frantic-search-for-radioactive-material-missing-from-power-plant-in-prachin-buri-cesium-137-SPACEBAR-Hero
  • ชวนทำความรู้จัก วัสดุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ สารอันตราย ที่พบว่าถูกขโมยจากโรงไฟฟ้า แห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี สารตัวนี้อันตรายแค่ไหน และปกติแล้วใช้ทำอะไร มาดูกัน!

กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันที หลังมีรายงานข่าวว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 (Cesium-137) ซึ่งเป็นสารอันตราย ถูกขโมยออกไปจากโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี โดยวัสดุดังกล่าวมีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม โดยตอนนี้ทางบริษัท ยังไม่รู้ว่าวัสดุดังกล่าวหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหายไปได้อย่างไร จึงได้ตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแส และทางผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ต่อไป  

ซีเซียม-137 คืออะไร?  

สํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้อธิบายลักษณะของ ‘ซีเซียม’ (สัญลักษณ์ ทางเคมี คือ Cs) อย่างเข้าใจง่ายๆ ไว้ว่า สามารถพบได้ในธรรมชาติ มีลักษณะเป็นโลหะ ซึ่ง ‘ซีเซียม’ ที่อยู่ในรูปแบบของสารกัมมันตรังสีที่รู้จักกันมากที่สุดก็ คือ ‘ซีเซียม - 137’ มีครึ่งชีวิต 30 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา 

โดย ‘ซีเซียม- 137’ มักถูกใช้ในทางอุตสาหกรรมเนื่องจากมีความแรงของรังสีสูง และมีเครื่องมือนับพันชนิดที่ใช้ ‘ซีเซียม - 137’ นอกจากนี้ยังมีการใช้ ‘ซีเซียม - 137’ ในทางการแพทย์เพื่อใช้บำบัดมะเร็ง 

รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ใกล้ซีเซียม?

ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องมือสำรวจรังสี (Survey Meter) ในการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีว่ามีอยู่หรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้สึกว่าได้รับรังสี หรือได้รับรสหรือกลิ่นจาก ‘ซีเซียม-137’

ขณะที่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลกับทีมข่าว SPACEBAR ว่า รังสีมีความเข้มข้นสูง รัศมีในการแพร่กระจายของรังสี อาจกระจายตัวได้ไกลหลายกิโลเมตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของรังสี แต่ประเด็นสำคัญ คือ ไม่รู้ว่าของที่หายไปมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าน่าจะยังใช้การได้อยู่   

‘ซีเซียม - 137’ เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการวิจัยจะมี ‘ซีเซียม - 137’ อยู่ด้วย แต่สารเหล่านี้ไม่ได้รั่วไหลเข้าสู่สิ่งแวดล้อม แต่บางครั้ง อุปกรณ์บางชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมและมี ‘ซีเซียม - 137’ เป็นส่วนประกอบอาจเกิดการสูญหายหรือถูกลักขโมย ซึ่งคนที่มีไว้ในครอบครอง ก็จะได้รับอันตรายจากรังสีที่แผ่ออกมา และตามปกติอุปกรณ์เหล่านี้มักจะมีโลหะเป็นส่วนประกอบหลักทำให้เมื่อเสียหรือว่าใช้งานไม่ได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจมีการขายต่อเป็นเศษโลหะแล้วนำไปสู่โรงงานแปรรูป เพื่อหลอมละลายและนำกลับมาใช้ใหม่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดการเปรอะเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม 

โดยมนุษย์อาจได้รับ ‘ซีเซียม - 137’ จากอาหาร น้ำดื่ม หรือการสูดดมฝุ่น เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มันจะไปกระจายตัวอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย กล้ามเนื้อ ในกระดูกและไขมัน และเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น แต่สามารถถูกขับออกจากร่างกาย ผ่านทางเหงื่อ และปัสสาวะได้  

แต่ในกรณีที่ได้รับปริมาณรังสีสูงมากๆ ก็จะทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนังอย่างรุนแรงซึ่งอาจมีผลทำให้เสียชีวิตได้ แต่โอกาสเกิดแบบนี้ถือว่าน้อยมาก ตัวอย่างเช่น มีการหยิบจับที่ต้นกำเนิดรังสี ‘ซีเซียม - 137’ โดยตรง โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพรับซื้อของเก่าเศษเหล็กและโลหะต่างๆ โรงงานหลอมและหล่อโลหะ ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สำหรับ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่ถูกขโมยออกจากโรงไฟฟ้า ที่จังหวัดปราจีนบุรี ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า ติดตั้งทำงานตั้งแต่ปี 2538 รวมทั้งหมด 14 เครื่อง  

ทั้งนี้แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าผู้ที่ขโมย วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 เป็นคนกลุ่มที่มีความรู้เรื่อง  ซีเซียม-137 หรือ เป็นเพียงคนทั่วไปที่หวังจะนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า แต่จากข้อมูลที่ปรากฏในข่าวหน้าหนึ่งของหนังสื่อพิมพ์หลายฉบับ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2546 พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐ ได้ร่วมกันล่อซื้อจับกุมผู้ลักลอบนำเข้า สารซีเซียม-137 น้ำหนักกว่า 30  กิโลกรัม มูลค่า 10 ล้านบาทได้ในประเทศไทย หมายความว่าเจ้าสารตัวนี้ มีมูลค่าค่อนข้างสูง  

โดย ‘รศ.วีรชัย’ เปรียบเทียบว่าวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปเปรียบเหมือนอะไหล่รถยนต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ขโมยอาจจะนำไปขายต่อให้กับบริษัทหรือโรงงานที่ต้องการลดต้นทุนการซื้อ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 มาใช้ในบริษัทของตัวเองก็ได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5AHiQv4XQAf0QM49CexkA7/2144750dbc89d1de9dfff6baa82a02e3/frantic-search-for-radioactive-material-missing-from-power-plant-in-prachin-buri-cesium-137-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1tZi9F1nChXQyOQ68Qhs8H/7324304c40912809a35c4b0d36edca45/frantic-search-for-radioactive-material-missing-from-power-plant-in-prachin-buri-cesium-137-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์