ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังเผชิญกับความวิตกกังวลอย่างหนัก หลังพบว่าดินที่ได้รับแจกฟรีกลับกลายเป็นเศษซาก “ขยะอุตสาหกรรม” ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งทั่วบริเวณ และอาจก่อให้เกิดมลพิษในดินและแหล่งน้ำในชุมชน
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ได้ประกาศแจก “ดินฟรี” ให้ชาวบ้านในพื้นที่ โดยอ้างว่าได้รับมาจากบริษัทคัดแยกขยะอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อนำดินมาลงในพื้นที่ของชาวบ้านกลับพบว่าเป็นเศษปลอกสายไฟ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกบดละเอียด
หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ตอนแรกนึกว่าเป็นดินธรรมดา แต่พอเทลงพื้น กลับมีกลิ่นเหม็น พอมาดูใกล้ๆ ก็เห็นว่าเป็นเศษขยะอุตสาหกรรม ตอนนี้ขยะพวกนี้ลอยลงหนองน้ำชุมชน ต้องจ้างรถแบ็กโฮมาลอกออก
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวในพื้นที่พบว่าดินที่แจกจ่ายเป็นเศษชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ที่ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง โดยไม่มีหลักฐานหรือเอกสารยืนยันความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พระปลัดอาทร สายทอง เจ้าอาวาสวัดท่าไม้แดงแหลมเขาจันทร์ ผู้ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ว่าดินที่แจกไม่ใช่ดิน แต่เป็นของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม อาตมาเลยนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในโซเชียล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ
ด้านผู้ใหญ่บ้านยอมรับว่าเป็นผู้แจกจ่ายดินดังกล่าวจริง โดยระบุว่าได้รับข้อเสนอจากบริษัทเอกชนในพื้นที่ให้นำวัสดุดังกล่าวไปแจกจ่าย โดยเชื่อว่าเป็นวัสดุที่สามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานแห่งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“ถ้าชาวบ้านไม่ต้องการ ผมก็จะเก็บกลับไปเทไว้ที่ดินของตัวเอง แล้วจะปลูกยูคาลิปตัส”
— _ผู้ใหญ่บ้าน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากพระปลัดอาทร และการตรวจสอบเบื้องต้นชี้ว่าเศษวัสดุดังกล่าวคือ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่อาจจัดเป็นของเสียอันตราย หากไม่มีการจัดการตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษและกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนดิน
กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่อาจหลุดเข้าสู่ชุมชนโดยไร้การควบคุม ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนหรือภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม แต่ยังมีศักยภาพในการสร้าง “มลพิษในดิน” (Soil Pollution) ที่อาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาว
ดินปนเปื้อน หมายถึง การที่สารเป็นพิษในรูปต่างๆ ถูกผสมลงในดินธรรมชาติ การปนเปื้อนนี้อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากธรรมชาติก็ได้ แต่ทำให้ที่ดินนั้นเกิดความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของมนุษย์และสัตว์ หรือต้องการปรับปรุงที่ดินนั้นให้คืนสู่สภาพเดิม
ภาวะมลพิษในดิน หมายถึง ภาวะการปนเปื้อนของดินด้วยสารมลพิษ (Soil Pollutant) มากเกินขีดจำกัด จนมีอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย ตลอดจนการเจริญเติบโตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
— กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ทั้งนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจร สายไฟ และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มักมีองค์ประกอบของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งเมื่อย่อยสลายจะตกค้างในดิน และสามารถซึมเข้าสู่แหล่งน้ำใต้ดินหรือไหลลงแหล่งน้ำผิวดิน ทำให้เกิดการปนเปื้อนที่ยากต่อการฟื้นฟู
ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากดินที่ปนเปื้อนสารเคมี มีตั้งแต่โรคมะเร็งจากสารตกค้าง เช่น พีซีบี (PCB) ไปจนถึงปัญหาทางระบบประสาทและการเจริญเติบโตในเด็ก หากสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ขณะที่สัตว์ในระบบนิเวศ เช่น แมลงดินหรือจุลินทรีย์ ก็อาจได้รับผลกระทบต่อวงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และกระทบถึงความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมโดยรวม
ความจำเป็นของการตรวจสอบและกำกับดูแล
การแจกจ่ายวัสดุใดๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของเสียอุตสาหกรรม โดยไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานสิ่งแวดล้อมหรือการรับรองความปลอดภัยจากกรมควบคุมมลพิษ ถือเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิของชุมชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
กรณีของตำบลเขาหินซ้อน ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการขนส่งและกำจัดของเสียอุตสาหกรรมอย่างรัดกุม โดยเฉพาะเมื่อของเสียนั้นมีโอกาสหลุดเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน
ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศควรเร่งลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินและน้ำ ตรวจสอบการปนเปื้อน และออกมาตรการเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมวางแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดซ้ำอีกในอนาคต...เพราะความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อยในการแจก “ดินฟรี” อาจนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลระยะยาวต่อชีวิตคนทั้งชุมชนในระยะยาว
ขอบคุณภาพจากคลิป ที่นี่แปดริ้ว