ภาพรวม ‘สถานการณ์สื่อไทย’ เริ่มแสดงความวิกฤติชัดเจนขึ้นทุกวัน แม้ในเชิงวิชาการจะถือเป็นพลวัตร เพราะไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยี และกลไกทางเศรษฐกิจได้ แต่ปรากฏการณ์ ‘ปลดพนักงาน - ปิดหัว - ปิดช่อง’ ของสื่อกระแสหลักทั้ง ‘หนังสือพิมพ์’ และ ‘สำนักข่าวโทรทัศน์’ ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ได้ส่งสัญญาณรุนแรงขึ้นทุกวัน
- การเลย์ออฟบุคลากรขององค์กรสื่อ (ไทย) ที่เกิดขึ้นในปีนี้ จึงสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ‘บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด’ ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ว่าภูมิทัศน์สื่อไทยในปี 2567 มีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อ รูปแบบการเสพสื่อ รวมถึงคอนเทนต์ที่มีการแบ่งกลุ่มแยกย่อยและเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงยุค Digital Disruption ได้อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แวดวงสื่อมวลชน’ ที่อดีตเคยเฟื่องฟู และถูกยกย่องให้เป็น ‘ฐานันดรที่ 4’ ของสังคม มีจำนวนไม่น้อยที่ต้อง ‘ตกงาน’ สายฟ้าแลบอย่างไม่สมัครใจ ไม่เว้นแม้แต่ปัจจุบัน (ในปี 2567) ที่มีข่าวการปรับตัวของบริษัทสื่อปรากฎอยู่ในทุกๆ ไตรมาส ทำเอานักวิชาชีพเป็นต้องหาแผนสำรองเพื่อเตรียมการไว้ แม้จะเข้าใจได้ว่าไม่ใช่แค่สื่อไทยเท่า แต่เป็นกันอยู่ทั่วโลก
- ‘Fast Company’ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเชิงตัวเลขระบุว่า ในปี 2023 เกิดปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยกับวงการสื่อทั่วโลก ส่งผลให้พนักงาน - บุคลากรด้านสื่อ กว่า 21,417 คน ต้องหลุดจากตำแหน่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าข้อมูลปีก่อนหน้านั้นถึง 7 เท่า และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
การสังเคราะห์ปรากฏการณ์ อันจะนำไปสู่คำตอบแห่ง ‘ทางรอด’ หรือขยายภาพ ‘ทางร่วง’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจหมายถึงภาพรวมทางสังคม ตามนิยามที่เคยว่ากันว่า ‘สื่อคือลมหายใจของประชาธิปไตย’
‘สังคม’ ขาด (หลักการ) ‘สื่อสารมวลชน’ ไม่ได้
‘ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์’ ที่ปรึกษา COFACT (Collaborative Fact Checking) ในฐานะนักวิชาการ - วิชาชีพสื่อมวลชนอาวุโส อธิบายความเป็นไปของสถานการณ์องค์กรสื่อปัจจุบัน ว่ากลไกในการขับเคลื่อนของสื่อมวลชน จำเป็นต้องพึ่งองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ ‘ธุรกิจ’ อีกนัยคือการหารายได้ เข้าสู่องค์กรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการทำงาน - เป็นสินจ้างให้กับบุคลากร โดยส่วนใหญ่ (ในประเทศไทย) จะต้องพึ่งรายได้หลักจากการโฆษณา อีกส่วนสำคัญ คือ ‘สังคม’ หรือ ‘ผู้รับสาร’ โดยทั้ง 2 องค์ประกอบจะต้องสอดคล้องไปด้วยกันได้
แต่เมื่อภูมิทัศน์ของสื่อ (Media Lanscape) ทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก เพราะการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ (New Media) อย่างอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ย่อมส่งผลกระทบต่อการหารายได้เข้าองค์กร ไม่เว้นแม้แต่สื่อกระแสหลักที่เคยเป็นที่เฟื่องฟูในอดีต แม้จะพยายามปรับตัวให้เข้ากับภาวะ Digital Disruption มาโดยตลอดก็ตาม
“เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักของการสื่อสาร ผนวกกับคนไทยยังไม่คุ้นชินกับการจ่ายตรงเพื่อการรับรู้ข่าวสาร ย่อมทำให้ระบบสื่อที่ต้องพึ่งโฆษณาจากภาคธุรกิจเปลี่ยนไป การใช้โซเชียลมีเดียออกแบบงานให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ มีประสิทธิภาพมากกว่าการโปรยหว่านผ่านสื่อในราคาสูง ดังนั้นผลกระทบจึงไม่ได้มีแค่เฉพาะกับผู้ส่งสารหรือผู้รับสารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องระบบธุรกิจด้วย เพราะสปอนเซอร์เขาก็ได้รับผลกระทบด้วยจนต้องเปลี่ยนการลงทุนเช่นเดียวกัน”
เอื้อจิต กล่าว
แม้แวดวงสื่อจะต้องพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง จนอดคิดไม่ได้ว่า ‘นักสื่อสารมวลชน’ หรือ ‘นักข่าว’ ยังมีความจำเป็นในภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนผ่านหรือไม่ เอื้อจิต มองว่ายังคงมีความจำเป็น เพราะการสื่อสารอาศัยระบบแบบ ‘วารสารศาสตร์’ ยังเป็นหัวใจสำคัญของการให้ข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา จำพวกคณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และการสื่อสารมวลชน ที่อดีตเป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะ ให้เกิดนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ออกสู่สนามข่าว
แต่สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้ทันยุค อย่างการพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะที่รอบด้านมากขึ้น (Multi Skill) ซึ่งเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยมีการปรับตัวมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ความท้าทายของมหาวิทยาลัยคือต้องหา ‘แก่นเฉพาะ’ ที่เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อเติมเต็มให้แก่ผู้เรียนด้วยถึงจะอยู่รอด
แต่การที่ภูมิทัศน์สื่อมีความเปลี่ยนแปลง ยิ่งทำให้นิยามของคำว่า ‘Content is the King’ แลดูเด่นชัดมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยุคใหม่ ล้วนจำเป็นต้องคำนึงถึง ‘คอนเทนต์’ หรือ ‘ประเด็น’ ในการนำเสนอเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน (สูงสุด) แต่ก็ส่วนตัวไม่ทราบว่าสังคมต่อไปจะเป็นอย่างไร
ในความเห็นส่วนตัว เอื้อจิตเชื่อว่า คนที่น่ากังวลกว่าสถาบันการศึกษาหรือองค์กรสื่อ คือ ‘การผลิตคนรับสื่อ’ กรณีที่สื่อหลักกำลังร่วงโรย ในภาวะที่สังคมยังจำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารชนิดต่างๆ จะไปรับจากไหน - รับอย่างไร เพราะในอดีตโครงสร้างการทำงานของสื่อสารมวลชน มีลักษณะเป็นองค์กร ซึ่งประกอบด้วยกลไกและขั้นตอนที่เป็นระบบ กว่าจะได้ชิ้นงานนำเสนอสักหนึ่งชิ้น ต้องผ่านลำดับขั้นตอนต่างๆ อาทิ การกำหนดวาระข่าวสาร ให้สอดคล้องกับคุณค่าของข่าว หรือแม้แต่การคัดกรองความถูกต้อง - ความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพ
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือการบ่มเพาะผู้รับสารในสังคม เพราะทุกคนมีสิทธิ์เลือกช่องทางรับสารเอง หากไม่มีการรองรับจุดนี้อย่างเหมาะสม สังคมอาจกระจัดกระจาย ตามเนื้อหาที่ต่างคนต่างนำเสนอ แต่หากอินฟลูเอนเซอร์ นำเสนออย่างมีคุณค่าและกลมกล่อม ก็เป็นโชคของสังคม สถาบันสื่ออาจต้องลดขนาดตามความเป็นไปของพลวัตร แต่สุดท้ายหลักการการสื่อสารที่แท้จริง (Content is the King) ยังจำเป็นต้องมีในสังคม”
เอื้อจิต กล่าวทิ้งท้าย
Journalism never die
‘ผศ.วัฒณี ภูวทิศ’ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองว่า วิกฤติของสื่อเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่มีการแข่งขันสูง แต่ปัจจัยที่นำไปสู่การเลิกจ้างบุคลากร อาจมีความสอดคล้องกับ ‘สนามใหม่’ ที่ภาคธุรกิจเลือกใช้ และในทุกๆ วาระมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่มีการสอนวิชานิเทศศาสตร์ - วารสารศาสตร์ ก็มักมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนตามยุคสมัยเสมอ
แต่การให้นิยามการเปลี่ยนผ่าน จำเป็นจะต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำด้วย อย่าง การเล่นกระแสของ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่มีผลทางความรู้สึกกับผู้รับสารได้ง่ายกว่า การเสพข่าวผ่านสื่อกระแสหลัก ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจเลือกลงทุนกับกลุ่มคนที่มีอิทธิพลกับผู้ใช้โซเชียล เพราะง่ายต่อการขาย มากกว่าสื่อที่ผลิตเนื้อหาในเชิงข่าวสาร ซึ่งเป็นไปตามกลไกตามการตลาดอยู่แล้ว
ทว่าในโลกของการสื่อสาร การตลาดอาจไม่ใช่เครื่องมือในการผลักดันให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมได้ทุกมิติ แต่ ณ ที่นี้ก็ไม่ได้รันตีความสำเร็จ โดยเฉพาะในแง่ของการไหลของสารสนเทศ (Information Flow) ดังนั้นวิกฤติสื่อที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่า ‘คนข่าวจะตายไป’ แต่อาจหมายถึงสัญญาณการปรับตัว ที่คนในวงการสื่อมวลชนจำเป็นต้องกระทำ โดยไม่ละทิ้งแก่นสารที่เป็น ‘หัวใจหลัก’ คือการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ร่วมผลักดันสังคมให้ดีขึ้น
“หัวใจของงานเชิงวารสารศาสตร์ คือความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ทั้งในแง่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และองค์กร ที่จะเป็นผู้มอบคุณประโยชน์และโทษให้กับสังคม รวมถึงการสรรค์สร้างเนื้อหาแบบเป็นขั้นตอน มันไม่มีทางตาย ไม่ว่าแพลตฟอร์มมันจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เพราะในความเป็นจริงไม่มีอะไรหยุดนิ่ง แต่ Content is the King มันคือสัจธรรมที่ต้องคงอยู่”
วัฒณี กล่าวทิ้งท้าย
กล่าวโดยสรุป หากองค์กรสื่อเก่า (สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือที่กระโดดเข้าสู่โลกของออนไลน์) ไม่พัฒนาให้ทันโลก - ยังไม่เข้าใจหลักพัฒนาตามกลไกของเทคโนโลยี ก็เท่ากับรอวันอัสดงอย่างสิ้นหวัง กลับกันการรักษาคุณภาพของการสื่อสาร อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยพยุงสถานการณ์ย่ำแย่ ให้ผ่านพ้นไปได้ ผ่านการสร้าง 'ความเชื่อมั่น'
แม้วันนี้อาจจะบอกว่า 'มันกินไม่ได้' แต่ในระยะยาว เชื่อว่ามันย่อมส่งผลดีมากกว่าผลเสีย...นี่แหละ Content is the King ที่ถ่องแท้