ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีใคร ชีวิตบั้นปลายที่ต้องเตรียมตัว!

15 มี.ค. 2568 - 03:12

  • ‘ชีวิตวัยเกษียณ’ อาจไม่ชิลอย่างที่คิด ถ้าคุณขาดการวางแผนทางการเงิน หรือละเลยสุขภาพ ละเลยวินัยการออม เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณเข้าสู่ภาวะสูงวัยไร้เงินเก็บ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน และแรงงานหาเช้ากินค่ำ

  • ร่วมพูดคุยเรื่องนี้ กับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

get-ready-for-retirement-nonarit-tdri-SPACEBAR-Hero.jpg

“การวางแผนทางการเงิน เป็นหัวใจสำคัญมาก ที่คุณต้องทำให้ได้ก่อนที่จะเกษียณอายุ”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

หากไม่อยากลำบากตอนแก่ วินัยการออม การดูแลสุขภาพ และการวางแผนทางการเงิน คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณหลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการที่อาจทำให้คุณสุขในวัยเกษียณได้อย่างไม่เต็มที่ นี่เป็นคำแนะนำของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ทำวิจัยและเก็บข้อมูลเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง ฉายภาพให้เห็นว่า คนทำงานในช่วงชีวิตหนึ่งก็ต้องมาถึงจุดที่อยากจะพักผ่อนบ้าง 

ดร.นณริฏ ยังอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า เมื่อถึงช่วงวัยเกษียณ ระบบบำนาญของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าก่อนเกษียณคุณทำอะไร ถ้าเป็นข้าราชการโดยทั่วไป เงินบำนาญของข้าราชการจะอยู่ที่ประมาณ 40-50% ของเงินเดือนขั้นสุดท้าย และขึ้นอยู่กับระยะเวลารับราชการ และเงื่อนไขของระบบบำนาญ บางคนอาจได้เป็นหมื่นหรือหลายหมื่นบาท

แต่ถ้าคุณเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบ ทำงานในสถานประกอบการที่มีระบบประกันสังคม คุณก็ต้องจ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือน โดยส่วนใหญ่ได้เงินบำนาญประกันสังคม ประมาณ 4,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปลีกย่อยที่ต่างกันไป 

ขณะที่แรงงานนอกระบบจะไม่มีระบบบำนาญโดยตรง แต่ภาครัฐจะมีเงินอุดหนุนให้ คือ เบี้ยผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นคุณก็จะได้มากขึ้น 600 , 700 , 800 , ไปจนถึง 1,000 บาท ความต่างของระบบต่างๆ ดร.นณริฏ ชี้ให้เห็นว่า มันทำให้เห็นตัวเลข และทำให้เห็นว่าชีวิตมันจะแตกต่างกัน

ความท้าทายที่ทุกคนต้องเจอคือ เส้นความยากจน หรือระดับรายได้หรือค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ที่ใช้กำหนดว่าบุคคลหรือครัวเรือนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานหรือไม่ ถ้ารายได้ต่ำกว่าระดับนี้จะถือว่าอยู่ในภาวะยากจน ซึ่ง ปัจจุบันเส้นความอยากจนอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท

“พูดง่ายๆ ถ้าคุณมีรายได้จากระบบบำนาญหรือแหล่งไหนก็ตาม ให้เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ถือว่าคุณโอเคแล้ว คุณพอใช้ชีวิตขั้นต่ำแบบสมศักดิ์ศรีได้”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

get-ready-for-retirement-nonarit-tdri-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ช่องว่างของเงินบำนาญในแต่ระบบที่ต่างกันค่อนข้างมาก ในมุมมองของ ดร.นณริฏ มองว่า ความแตกต่างบางส่วนมันสามารถเข้าใจได้ เพราะในระบบบำนาญมันควรจะสะท้อนหลักการที่เรียกว่า ใครทำมาก ออมมาก ก็ควรจะได้เงินบำนาญมาก เรียกว่าคุณอดออมมาตั้งแต่ช่วงวัยทำงาน ทำมาเต็มที่เลยมันก็ควรจะได้อะไรที่ทำให้คุณมีความสุขมากกว่า ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจไม่ได้อดออมอะไร

“ต้องยอมรับว่าแรงงานในระบบ เป็นกลุ่มที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ค่อยได้อะไรจากภาครัฐ แม้กระทั่งสิทธิ์ในการดูแลเรื่องสุขภาพ เรายังต้องใช้หลักประกันสังคม คือเอาเงินที่เราจ่ายให้ประกันสังคมไปซื้อประกันดูแลกันเอง ทั้งๆ ที่ถ้าคุณไม่จ่ายอะไรเลย หรือคุณอยู่นอกระบบ ไม่จ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือบางคนไม่จ่ายภาษีเลย คุณกลับได้สิทธิ์ 30 บาทโดยที่ไม่ต้องจ่ายอะไรสักบาท ดังนั้นในแง่นี้มันไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

ดร.นณริฏ ยังระบุว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลักคิดที่เขาอยากจะทำให้ อย่างน้อยประชาชนต้องอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี เลยมีข้อเสนอว่า ขอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นหน่อยได้ไหม เพราะปัจจุบัน 600 มันอยู่ต่ำกว่า 3,000 บาทมาก มันแปลว่าคุณต้องการอีก 2,400 บาท แล้ว 2,400 บาทจะมาจากไหน หนึ่งคืออาจต้องทำงานเพิ่มเติม ขอญาติ หรือท้ายที่สุดถ้าคุณเก่งหน่อย คุณก็ต้องสะสมมาตั้งแต่ต้นเอง 

แต่ผู้สูงอายุบางคน อาจไม่สามารถทำงานได้แล้ว ทำงานก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ญาติพี่น้องก็อาจจะไม่มีพึ่งพาไม่ได้ เงินทองที่สะสมมาก็ใช้เดือนชนเดือน ตั้งแต่ตอนทำงานแล้วไม่มีเงินออม ถ้าอย่างนั้นเขาก็จะอยู่อย่างลำบาก เพราะฉะนั้นในแง่นี้ มีข้อเสนอว่าปรับขึ้นหน่อย เป็น 1,000 บาท บางคนก็บอก 1,500 บาท และสุดโต่งสุดที่เห็นตอนนี้คือปรับเป็น 3,000 บาท

“มันยังมีจุดแข็งจุดอ่อน ที่แตกต่างกันในส่วนของผม ผมเห็นด้วยกับการปรับจะขึ้นไป 1,000 - 1,500 บาท ไม่ควรจะเกินนี้เพราะท้ายสุดภาระการคลังมันจะเยอะไป ต้องเข้าใจว่าเงินที่รัฐแจก มันไม่ได้เสกขึ้นมาได้ ท้ายที่สุดรัฐก็ต้องไปเก็บภาษีในอนาคตมาใช้ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่ต้องมาใช้หนี้ในตอนนี้ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ปรับเพิ่มจนเกินไป”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

ขณะที่ตัวเลขกลมๆ ทางวิชาการที่ทำการศึกษาเมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว พบว่า ถ้าคุณต้องการจะเกษียณอายุ คุณจะต้องมีเงิน 3-4 ล้านบาท เพื่อที่ชีวิตจะได้มีความมั่นคงและไม่ลำบากเกินไป และจากการสำรวจ ดร.นณริฏ พบว่า หลายคนยังไม่พร้อมที่จะเกษียณอายุ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบกับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทยที่แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดร.นณริฏ ยอมรับว่า รู้สึกกังวลใจว่า อนาคตภาครัฐอาจเกิดหายนะทางการคลัง

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกพรรคการเมืองนะ ผมไม่ได้ว่ารัฐบาลปัจจุบันนะ จะเป็นฝ่ายค้านที่หลายคนชื่นชอบกันก็ได้ คิดแบบเดียวกันเลยคือ รัฐสามารถเสกเงินขึ้นได้ ซึ่งมันไม่จริง ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นคือ ฐานะทางการคลังของภาครัฐมันแย่ขึ้นเรื่อยๆ”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

จากหนี้สาธารณะต่อ GDP  ที่อยู่ประมาณ 40% ตอนนี้กระโดดมาที่ 62% และในอีก 4-5 ปีข้างหน้า มันจะกระโดดเข้าไปใกล้ๆ 70% และบางที่วิเคราะห์ว่า หากปล่อยไว้อีก 10 ปีจะเป็น 90-100% ซึ่ง มันแปลว่าเราเสี่ยงที่จะมีหนี้มาก ดอกเบี้ยมันพันคอ

“ถามว่าทำไมสังคมสูงอายุมันบีบรัดคอ เพราะมันทำให้รายจ่ายที่เราต้องมาลงทุนกับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มันมีเบี้ยผู้สูงอายุแน่ๆ ที่หลายฝ่ายอยากจะปรับขึ้น ในส่วนที่มันซ่อนอยู่ เช่น ค่ารักษาพยาบาลมันกระโดดขึ้นเยอะ”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

ดร.นณริฏ ยังอ้างถึงงานวิจัยของ KKP Research ที่เข้าไปดูโครงสร้างของการคลัง แล้วเขาพบว่า รายจ่ายเพื่อสุขภาพมันเติบโตสูงมาก เบี้ยผู้สูงอายุก็จะสูงมาก ขณะที่รายได้ทางด้านการคลังเรามันค่อนข้างจำกัด เผลอๆ ต่ำลงนิดๆ ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ดร.นณริฏ จึง เสนอให้ภาครัฐดึงเอาศักยภาพผู้สูงอายุกลับมาทำงาน เพราะผู้สูงอายุหลายๆ คน ยังมีศักยภาพอยู่ เช่น ให้ทำงานในสถานประกอบการนานขึ้นได้ไหม ทำให้เขาสามารถเติมเต็มในส่วนที่ขาดไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปแจกเงิน

“เวลาเราพูดถึงสังคมสูงวัย มันหมายความว่าประชาชนจะอายุยืนยาวมากขึ้น หลายคนบอกว่าเราอาจจะอายุยืนยาวขึ้นถึง 100 ปี เขาบอกให้เราดีไซน์ว่าจะอยู่อายุ 100 ปี แต่สิ่งที่มันตามมาอีกส่วนหนึ่งคือ ถ้าเราดูแลสุขภาพดีๆ มันทำให้เรา Contribute กับสังคมได้ คุณคงไม่อยากอยู่ 100 ปี แล้ว 60 ปีคุณแค่ทำงาน อีก 40 ปีคุณนั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ สิ่งที่เราอยากให้เห็น อยากให้เกิดขึ้น คือทำยังไงให้ผู้สูงอายุ ที่ยังอยากทำงานได้ทำงาน เราไม่อยากเห็นภาพผู้สูงอายุ ต้องทำงานเพราะไม่มีเงิน คนที่อยากทำงานก็ทำไปเถอะ คนอายุ 90 ปี ถ้าคุณทำประโยชน์ให้สังคมได้ สุขภาพคุณดี คุณแข็งแรง คุณ Active ทำไปเลย”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร กล่าว

ช่วงท้ายของการพูดคุย ดร.นณริฏ ยังแสดงความเป็นห่วงวัยทำงาน ในเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องเงินก่อนเกษียณว่า เราพบว่าคนจำนวนมาก ยิ่งเจนใหม่ๆ จะคิด เรื่อง YOLO (You Only Live Once) คือฉันอยากมีความสุขตอนนี้ แต่สิ่งนี้มันเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะถ้าคุณมีชีวิตที่ยืนยาว คุณอาจไม่สามารถทำเงิน สร้างเงินได้เท่าเดิม เมื่อไหร่ก็ได้ 

หลายๆ คน คิดว่าฉันสามารถหาเงินได้เยอะ แต่ท้ายสุดพอผ่านไป 5-10 ปี ถ้าคุณไม่ได้เงินตรงนั้น คุณถูกบ่วงรัดคอทันที เพราะฉะนั้นการวางแผนทางการเงิน เป็นหัวใจสำคัญมาก ที่คุณต้องทำให้ได้ ก่อนที่จะเกษียณอายุ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์