รัฐบาลตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนน ‘ปีใหม่-สงกรานต์’ ไม่น้อยกว่า 5%

14 ธ.ค. 2565 - 03:21

  • รัฐบาลเล็งลดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่-สงกรานต์ 2566 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

  • เร่งประชาสัมพันธ์เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนถึงเทศกาล

  • ควบคู่มาตรการลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งบนถนน สภาพแวดล้อม ผู้ใช้รถ และการช่วยเหลือหลังอุบัติเหตุ

government-aims-to-reduce-road-accidents-New-Year-Songkran-not-less-than-5-percent-SPACEBAR-Thumbnail
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ปี 2566 รัฐบาลโดย  

คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้มีแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย  

สำหรับแผนบูรณาการฯ มีเป้าหมายทั้งระดับภาพรวมของประเทศ หน่วยงาน และพื้นที่ ซึ่งทุกระดับจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) จะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และจำนวนผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัยลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ5 เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 

มีแนวทางการดำเนินงานตามแผนบูรณาการฯ แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเทศกาลจะมาถึง จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในชื่อการรณรงค์ ‘ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ’ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีการเตรียมความพร้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดอุบัติเหตุ ซึ่งเทศกาลปีใหม่จะเริ่มรณรงค์ระหว่าง 1 - 21 ธันวาคม 2565 ส่วนเทศกาลสงกรานต์ 1 มีนาคม - 3 เมษายน 2566 และช่วงดำเนินงานตามมาตรการ ปีใหม่ดำเนินการระหว่าง 22 ธันวาคม 2565- 11 มกราคม 2566 สงกรานต์ ระหว่าง 4 - 24 เมษายน 2566  

สำหรับการดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุ มี 5 ด้าน ประกอบด้วย  

1. ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ระดับส่วนกลาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการมาตรการเชิงรุก ได้แก่ การประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน มาตรการเคาะประตูบ้าน ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และการจัดกิจกรรมทางศาสนา 1 อำเภอ 1 กิจกรรม 

2. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อมเช่นสำรวจ ตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย  

3. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ เช่น กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการตรวจสอบสภาพรถตามที่กฎหมายกำหนด กวดขันกับผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน และรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย และเข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าของผู้ประกอบการธุรกิจให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย 

4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เช่น บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ดำเนินการ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวทางความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน/หมู่บ้าน และสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย และวิทยุชุมชน และ  

5. การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์