แจกเงินอีกแล้ว? ชาวนาเฮได้รับเงิน แต่ (อาจ) แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน

15 พฤศจิกายน 2566 - 11:02

Government-could-solve-farmers-actual-problems-with-paying-money-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นโยบายช่วยเหลือชาวนา ควรเป็นการดูแลที่ยั่งยืนไม่ใช่ชั่วคราว เปลี่ยนแปลงตามสมัยรัฐบาล

  • ชาวนา เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุด เช่น แหล่งน้ำ และพันธุ์ข้าว

รัฐบาลเพิ่งออกมาตรการเอาใจชาวนามาใหม่ เตรียมให้ค่าเก็บเกี่ยวข้าว ไร่ละ 1,000 บาท โดยวงเงินจ่ายขาดในโครงการจำนวน 56,321 ล้านบาท มีเกษตรกรเป้าหมายอยู่ที่ 4.68 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – 30 กันยายน 2567  

ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกี่สมัย ก็จะมีนโยบายเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการ ‘แจกเงิน’ อยู่เสมอ เพียงแต่เปลี่ยนเงื่อนไข และชื่อโครงการแตกต่างกันไป แน่นอนว่าการให้เงินนั้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา ที่รายได้แทบไม่พอกับรายจ่าย รวมถึงภาระหนี้สินไปได้บ้าง แต่แทบไม่เคยสามารถแก้ปัญหาได้อย่าง ‘ยั่งยืน’  

ปัญหาที่ชาวนายังประสบอยู่ทุกวันนี้ คือ ‘ต้นทุน’สูง แต่ ‘รายได้’ ต่ำ ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าน้ำมัน และอีกมากมาย อีกทั้งต้องประสบกับสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนมาก น้ำท่วม ฝนน้อย ขาดแคลนน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตไม่ตรงตามเป้า และราคารับซื้อข้าวเปลือกก็ผันแปรไปตามตลาด  

ชาวนาอยากได้อะไร ถามแบบเปิดใจแล้วหรือยัง

ในการประชุม ‘ประเมินภาวะการผลิตและการค้าข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67’ จัดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมพูดคุยกับศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มาเปิดเผยข้อมูลผลผลิตข้าวในแต่ละจังหวัด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหาของชาวนา

Government-could-solve-farmers-actual-problems-with-paying-money-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: การประชุม ‘ประเมินภาวะการผลิตและการค้าข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67'

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า อยากให้กรมการข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแท้ออกมาแจกให้ชาวนา เพราะชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์เก่าที่ใช้มาแล้ว 3-4 ปีทำให้ได้ข้าวคุณภาพและผลผลิตน้อยลง และเสนอให้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่ และระยะใช้เวลาในการปลูกไม่เกิน 3 เดือน เพราะข้าวขาวของไทยขณะนี้ มีผลผลิตเพียงไร่ละ 700 - 800 กก. ซึ่งหากผลิตได้มากก็จะลดต้นทุนได้ นอกจากนี้ยังต้องการพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งไทยยังมีไม่มากพอเพื่อส่งออก ขณะที่ตอนนี้คู่แข่งอย่างประเทศเวียดนาม ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดนี้ส่งออกจำนวนมาก 

เช่นเดียวกับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือการพัฒนาพันธุ์ข้าว เราไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่สนองต่อความต้องการของตลาดได้ และลดต้นทุนการผลิต ดังนั้นทำให้การแข่งขันในการส่งออกเสียเปรียบ ความสามารถในการแข่งขันเราด้อยลง ด้อยลงทุกวัน จากเดิมที่เราสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิได้มากกว่าข้าวหอมของเวียดนาม แต่มาวันนี้เขาส่งออกได้มากกว่า เพราะเขามีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลายในทุกระดับ และมีผลผลิตเฉลี่ย 800 กก. แต่ข้าวหอมมะลิของไทยมีเพียง 450 กก.ซึ่งต่ำที่สุดในโลก รัฐบาลจะสนใจไหมเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว ถ้าสนใจก็เป็นเรื่องที่ดี

“เรื่องพันธุ์ข้าว พูดกันมา 10 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อย่าละเลยโครงสร้างพื้นฐาน คือ ‘น้ำ’ 

นายกสมาคมชาวนาฯ บอกว่า ได้เสนอรัฐบาลควรหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร ทั้งการขุดลอกคู คลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ในพื้นที่สาธารณะ และขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ให้เกษตรกร เพื่อมีน้ำใช้เมื่อขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีหน้า ไม่เพียงแต่ปลูกข้าวเท่านั้น เกษตรกรที่ทำสวน ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ล้วนต้องการน้ำ โดยรัฐบาลชุดที่แล้วได้ให้งบประมาณสำหรับ 12 จังหวัดได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ยังขาดอีกกว่า 40 จังหวัด เพราะตอนนี้น้ำในแม่น้ำบางแห่งก็ไม่มีน้ำเพียงพอ อยากให้ขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ ตำบลละจุดก็เพียงพอ และใช้งบประมาณไม่มากเกินไป 

นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดทำโครงการน้ำใต้ดิน เพราะน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ โดยใช้งบประมาณไม่มาก อย่างที่จังหวัดชัยนาทและเพชรบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบได้จัดทำแล้ว ในช่วงหน้าแล้ง สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ และทำให้พื้นผิวดินชุ่มชื้น ส่งผลให้อากาศมีความชื้นเพียงพอในการทำฝนเทียมได้ 

ที่ผ่านมาพยายามเสนอรัฐบาลแล้ว แต่อ้างว่าไม่มีงบประมาณ และไม่มีกระทรวงใดรับไปพิจารณาดำเนินการ 

ถ้าเขาให้ความสำคัญแบบเวียดนาม เกษตรกรเขามีน้ำ เขาหาแหล่งน้ำให้หมด ข้าวเขาสามารถผลิตได้ไร่ละ 1.2-1.3 ตัน เขาทำได้...

“อยากให้รัฐบาลไม่ว่าชุดไหนก็แล้วแต่ ให้กำหนดมาเลยว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไรให้ยืนยาว ตลอดไป ไม่ใช่ชั่วคราว 3 ปี 4 ปี อันนี้ผมเรียกร้องเลยนะ”

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

Government-could-solve-farmers-actual-problems-with-paying-money-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: แผงโซลาร์เซลล์บ่อบาดาล ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านจานไหล ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปที่นาข้าวของนายสมัย สบายใจ หมู่ 4 บ้านจานไหล ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ จากกรมการข้าวร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำให้พื้นที่นา 3 ไร่ มีน้ำจากบ่อบาดาลประคอง แต่นายสมัย บอกว่า น้ำจากบ่อบาดาลนั้นไม่ตอบโจทย์การทำนา เพราะได้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ อย่างแทงก์น้ำตรงนี้ ที่เก็บน้ำได้ 40,000 ลิตร ใช้เวลาสูบน้ำครึ่งวัน และปล่อยน้ำลงนาได้เพียงครึ่งไร่ บางพื้นที่เป็นขนาดหนึ่งแสนลิตร ก็อาจจะลงนา 1-2 ไร่ แต่ใช้กันหลายครัวเรือนก็ถือว่าไม่เพียงพอ ต้องเป็นแทงก์น้ำขนาดใหญ่เกิน 2 แสนลิตร  

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการสนับสนุนขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตร โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ได้ดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรทั้งแปลงเล็กและแปลงใหญ่ไป 414 บ่อ สำหรับพื้นที่ 36,810 ไร่ แต่การทำนาต้องใช้น้ำมาก และไม่เพียงพอทั่วถึงทุกครัวเรือน

Government-could-solve-farmers-actual-problems-with-paying-money-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: บ่อน้ำในพื้นที่หมู่ 4 บ้านจานไหล ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

การจัดสรรแหล่งน้ำที่ยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญสำหรับชาวนา แม้หลายพื้นที่ยังมีน้ำเพียงพอทำนาในปีนี้ แต่ปีหน้าจะต้องเจอกับ ‘ภัยแล้ง’ จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อการทำนา 

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวนาหลายคน สะท้อนว่า รัฐบาลควรรับฟังปัญหาของชาวนาอย่างจริงจัง ว่านโยบายที่คิดขึ้นมานั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เพราะไม่เพียงเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว การขาดแคลนน้ำ หรือน้ำท่วม แต่ยังมีเรื่องการสต๊อกข้าวที่มากเกินไป การเก็บข้าวเพื่อขายตามกลไกตลาดที่เหมาะสม พื้นที่ตากข้าว การจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวให้เหมาะสมกับแต่ละชนิดอย่างเป็นระบบ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยปลูกข้าวใช้ต้นทุนสูง และอีกมากมาย  

เปิดใจ จริงใจ ไม่โยนกันมา และเร่งแก้ไข จะได้ไม่ต้องเสียเงินที่เป็นงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป แต่ไม่มั่นคง และไม่มีประโยชน์ในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์