ความร้อนไปต่อ! ไทยรับมือได้แค่ไหน เมื่อร้อน-แล้ง-ภัยพิบัติโจมตี

26 เมษายน 2567 - 10:29

Heat-drought-have-been-rising-how-about-government-policies-and-people-adaptation-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อุณหภูมิประเทศไทยสูงสุดในรอบ 73 ปีเมื่อปี 66 ต่อเนื่องมาปีนี้อาจร้อนกว่า และทำลายสถิติ เพราะอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติเกิน 1 องศาเซลเซียสทุกเดือน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะโลกเดือด

  • นักวิชาการ ชี้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่เน้นการปรับตัวกับภาวะโลกเดือดในไทยขณะนี้ ถ้าไม่นับหนึ่งวันนี้ความเสียหายจะยิ่งเพิ่มขึ้นและสุดท้ายภาระตกเป็นของคนไทย

เรื่องที่คนไทยพูดไม่หยุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น “อากาศร้อนมากกกกก” มากจนจะทนไม่ไหวแล้ว บ้านไหนมีเครื่องปรับอากาศก็นอนตากแอร์ แต่ก็ต้องแบกรับภาระค่าไฟเมื่อบิลเรียกเก็บมา ทั้งๆที่(อาจ)รู้ว่าการเปิดเครื่องปรับอากาศนั้น ทำให้อากาศภายนอกอาคารยิ่งร้อนขึ้น ทั้งลมร้อนจากพัดลมระบายอากาศที่เป่าออกมา และการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต้องผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น (หากไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตพลังงาน ซึ่งยังมีข้อจำกัดอยู่ในขณะนี้)

ความร้อนที่เราคนไทยกำลังประสบอยู่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ข่าวร้ายคือมันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เดินไปในทางเดียวกันกับโลกใบนี้ จนถูกเรียกว่า ‘ภาวะโลกเดือด’ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง

เมื่อย้อนดูสถิติอุณหภูมิของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าเมื่อปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยสูงกว่าค่าปกติ (เฉลี่ยในรอบ 30 ปี) 0.7 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นลําดับที่ 1 ของ ประเทศไทยในรอบ 73 ปี (พ.ศ. 2494 - 2566) ส่วนปริมาณฝนปี 2566 ทั้งประเทศ น้อยกว่าค่าปกติ 102.3 มิลลิเมตร หรือ 6%

ขณะที่ปีนี้ 2567 เดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติ 1.4 องศาเซลเซียส กุมภาพันธ์ สูงกว่าค่าปกติ 1.6 องศาเซลเซียส มีนาคม สูงกว่าค่าปกติ 1.2 องศาเซลเซียส และเดือนเมษายนคาดว่าจะสูงเกิน 1 องศาเซลเซียสเช่นกัน

ความน่ากังวลที่มีผลต่อปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่อย่างยิ่งในเวลานี้คือ ‘ภาวะภัยแล้ง’ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยปี 2567 ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม พบว่าต่ำกว่าค่าปกติสูงมากโดยเฉพาะภาคใต้ ที่มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง 100 - 200 มิลลิเมตร ทำให้ขณะนี้ภาคใต้กำลังขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคอย่างหนัก หลายจังหวัดกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประปา

Heat-drought-have-been-rising-how-about-government-policies-and-people-adaptation-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ปริมาณฝนสะสมต่างจากค่าปกติ มกราคม - มีนาคม 2567 ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

ยกตัวอย่างจังหวัดกระบี่ เพจเฟซบุ๊ก ‘คนกระบี่’ โพสต์ข้อความว่า “กระบี่เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา ขอใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ทำฝนหลวงให้ตกภายใน 5 วันหลังจากนี้ 

รถบรรทุกน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองกระบี่นำน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หลังจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขา กระบี่ แบ่งโซนจ่ายน้ำประปา และสลับวันจ่าย วันเว้นวัน มาตั้งแต่วันที่ 22-28 เมษายน ส่งผลกระทบต่อประชาชน ที่ไม่มีภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงพอ ในวันที่น้ำประปาไม่ไหล ขณะที่ร้านขายข้าวแกง ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ ได้รับผลกระทบจากการสลับวันจ่ายน้ำต้องซื้อถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2,000 ลิตร ไว้สำรองน้ำไว้ใช้ แต่ร้านตั้งอยู่บนพื้นที่สูงแรงดันน้ำประปาขึ้นไม่ถึง ต้องซื้อน้ำจากเอกชนในราคาที่สูงขึ้น จำนวน 1,000 ลิตร ราคา 600-800 บาท ครั้งละ2 พันลิตร ราคา 1,400-1,600 บาททำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากหลังจากนี้ น้ำประปาไม่ไหลอีกก็จะต้องปิดร้าน ชั่วคราวจนกว่า เข้าสู่ภาวะปกติ...”

นักวิชาการคาด แล้ง 6 ปี ท่วม 2 ปี ปกติ 2 ปี

ด้านรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารห้องปฏิบัติการ Future Tales MDQC ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เผยว่า ในช่วงเวลา 10 ปี ประเทศไทยจะประสบกับตัวเลข 6 2 2 คือ แล้ง 6 ปี น้ำท่วม 2 ปี และปกติ 2 ปี ในอนาคตจะหนักกว่านี้เพราะอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับประเทศต่างๆทั่วโลกความแห้งแล้งและน้ำท่วมเพิ่มขึ้นแน่นอน ไม่มีทางที่อุณหภูมิจะถอยกลับไปเหมือนในอดีต

สำหรับผลกระทบต่อไทย อย่างปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าปริมาณฝน 6 เดือนที่จะทำให้น้ำท่วม หนักขึ้นเรื่อย ๆ ปกติลักษณะฝนที่ตกในปี 2554 จะตกในรอบ 50 ปี แต่ในอนาคตจะมีฝนตกในลักษณะนี้เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี คือฝนปริมาณเท่ากัน แต่ความถี่มากขึ้น

Heat-drought-have-been-rising-how-about-government-policies-and-people-adaptation-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ

อีกปัญหาหนึ่งคือน้ำทะเลสูงขึ้น และการกัดเซาะชายฝั่ง รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า “การกัดเซาะรุนแรงขึ้นจริงๆ ผลการศึกษาพบว่า ฐานน้ำทะเลสูงขึ้น คือความร้อนทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ดันน้ำเข้ากรุงเทพ เราลองจินตนาการเมื่อระดับน้ำทะเลสูงมา 1 เมตร พอฝนตกลงมาระบายน้ำอย่างไรก็ไม่ออก ต้องใช้เครื่องสูบสถานเดียว แต่ศักยภาพของกทม.มีขีดจำกัดในการสูบระบาย กทม.เลยสร้างคันเกิน 2 เมตร แต่ไม่ตลอดฝั่ง ถ้าสร้างหมดก็เป็นวาระของรัฐบาลแล้ว ปากแม่น้ำก็ต้องมีประตูน้ำ ถือเป็นการป้องกัน”

ภาระอยู่ที่คนไทย เมื่อรัฐไม่จัดการ ?

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงแผนแม่บทที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงยังไม่ให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ในการคาดการณ์สภาพอากาศของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานนานาชาติ ขณะนี้เหลือเวลาน้อยในการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ตามเป้าหมาย คือต้องลดการปล่อยก๊าซลงครึ่งนึง ภายใน 2030 แต่ตอนนี้ยังระดับปานกลางถึงสูง

“ต้องยอมรับว่าประเทศไทยใช้พลังงานฟอสซิลและปล่อยก๊าซไม่เกิน 1% ของโลก สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัวซึ่งสิ่งที่เราทำไม่สามารถทำให้โลกดีขึ้นแน่นอน แต่มันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา เช่น การทำบ้านให้เย็นลงคือต้องเริ่มได้แล้ว แต่รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุน เช่น สิงคโปร์บอกว่าทำบ้านเย็น แล้วรัฐจะให้เงินอุดหนุน ถึงได้เกิด แต่ถ้าไทยบอกให้ปลูกป่า มันก็ไม่เกิด มันต้องกระตุ้น”

รศ.ดร. เสรี ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับ พ.ร.บ.เกี่ยวกับสภาพอากาศอิงหลักวิชาการ แต่ไม่มีนโยบายในการปรับตัว ซึ่งตรงข้ามกับข้อมูลที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องเน้นการปรับตัว 80% แต่รัฐกลับวางนโยบายที่ต้องใช้นวัตกรรม และต้องมีการลงทุนมหาศาล เช่น นโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า

แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำมีหลายอย่าง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างความเสียหาย เช่น การสร้างคันกันน้ำริมชายฝั่ง ทั้งเขื่อน ระบบระบายน้ำ และคันกั้นน้ำสีเขียว ถมดินปลูกป่า เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำทะเลหนุนสูง แต่ก็ต้องศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอุดหนุนเงินในการปรับปรุงหรือสร้างบ้านเพื่อรับมือกับความร้อนและภัยพิบัติ การสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับการทำการเกษตรเพื่อลดผลกระทบ เป็นต้น

“ถ้ารัฐบาลไม่ทำตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากการศึกษาก่อน สุดท้ายก็จะกระทบกับประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Heat-drought-have-been-rising-how-about-government-policies-and-people-adaptation-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: คนยืนกลางแดด วันดวงอาทิตย์ตั้งฉากกทม. ที่แยกราชประสงค์

สิ่งที่คนไทยทำได้ คือการปรับตัว

รศ.ดร. เสรี แนะนำว่าการซื้อบ้านและสร้างบ้านต้องคำนึงทั้งเรื่องทำบ้านให้ไม่ร้อน และป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย สิ่งที่ควรทำคือ หลัก 2 P : Park เพิ่มร่มเงาและปลูกต้นไม้ และ Pool ทำพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ไม่ควรสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดินมากเกินไป เช่น เทปูน ปูกระเบื้อง ควรเว้นพื้นที่ดินให้น้ำสามารถซึมลงดินได้ 

ความสูญเสียและภาระจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แต่ละคนต้องเผชิญมีมูลค่าไม่น้อย เริ่มจากค่าไฟที่ทุกบ้านต้องจ่ายมากขึ้น ไม่นับรวมการปรับปรุงบ้าน การดีดบ้าน เครื่องใช้เสียหายจากน้ำท่วม ความเสียหายจากพืชผลทางการเกษตร การสูญเสียที่ดินจากน้ำทะเลกัดเซาะ ภาระเหล่านี้จะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก็ได้แต่หวังว่าจะมีการลงมือทำเพื่อป้องกันการสูญเสียที่ชัดเจนจากรัฐบาลในวันนี้ ที่ไม่ใช่แค่การเยียวยา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์