เฝ้าระวัง 60 จังหวัด ‘ฝนถล่ม’ 8-10 พ.ค.67

8 พ.ค. 2567 - 03:12

  • ปภ.ประสาน 60 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และ กทม.

  • เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ค. 67 พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

heavy-rain-8may24-SPACEBAR-Hero.jpg

ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 13 (91/2567) ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง รวม 60 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2567 มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ดังนี้

  • ภาคเหนือ ทุกจังหวัด
  • ภาคอีสาน ทุกจังหวัด
  • ภาคกลาง ทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 60 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจาก ทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์ และปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างเคร่งครัด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้

S__141148171.jpg

ขณะที่ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้เชิญ กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประชุมพร้อมสั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือกับพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจสร้างผลกระทบกับประชาชนตามข้อสั่งการของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา โดยได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาพอากาศและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาเห็นว่าอาจมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ให้แจ้งให้ประชาชนทราบอย่างทันที เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เช่น กรณีพายุฤดูร้อน กรณีเกิดเหตุฟ้าผ่าจากฝนฟ้าคะนอง และกรณีดัชนีความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชน และหากมีเหตุรุนแรงที่กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชนให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบอย่างทันท่วงที เช่น การเกิดเหตุอุทกภัย วาตภัย เป็นต้น

"ทั้งนี้ด้วยสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง ให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนโดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่สิ่งปลูกสร้าง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง และรับฟังข้อมูลการเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์