กระแสการฉีดวัคซีนขณะนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก หลายโรงพยาบาลโหมประชาสาพันธ์โปรโมชัน ฉีดวัคซีนในราคาที่ดึงดูดลูกค้าอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่กังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคเหล่านี้ อาจกำลังพิจารณาอยู่ ทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคงูสวัด จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องฉีด มาหาคำตอบกัน
โรคแรกคืองูสวัด บางคนอาจไม่คุ้นหูกับโรคนี้ แต่ถ้าพูดว่า ‘อีสุกอีไส’ น่าจะร้องอ๋อตามๆกัน เพราะในวัยเด็ก หรือสักช่วงหนึ่งในชีวิตน่าจะเคยเป็นกันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ เมื่อเป็นแล้ว คุณอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในชื่อโรคที่เรียกว่า ‘งูสวัด’ นั่นเอง
แต่งูสวัดไม่ใช่แค่โรคทางผิวหนัง ที่มีผื่น ตุ่มตามผิวหนังเท่านั้น แต่มีโอกาสลามไปถึงสมอง !
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าการรักษาโรคงูสวัดเป็นโรคทางผิวหนัง คือทำให้ไม่สวยอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นไวรัสที่อยู่ในปมประสาท เมื่อเป็นอีสุกอีไสพอหายไปแล้ว ไวรัสไม่ได้หายไป 100 เปอร์เซนต์ ไวรัสเข้าไปหลบอยู่ในปมประสาทของร่างกาย (ปมประสาทเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทที่เชื่อมโยงกับเส้นประสาทรับความรู้สึก) เมื่อร่างกายรู้จักไวรัสตัวนี้ ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญในระดับเซลล์คอยกันไม่ให้ไวรัสอีสุกอีไสโผล่กลับมาได้ใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตอนเป็นอีสุกอีไสเป็นทั้งตัว แต่งูสวัดที่เกิดจากอีสุกอีไสปะทุในตำแหน่งเส้นประสาทที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่ จะเกิดที่ไหนก็ได้ เมื่อมันฟื้นขึ้นมาแล้ว มันก็วิ่งตามเส้นประสาทมาที่ผิวหนัง แต่ในบางคนแทนที่มันจะวิ่งออกมาที่ผิวหนังทำให้เป็นผื่น ตุ่ม มันกลับวิ่งเข้าข้างใน ซึ่งเป็นการวิ่งเข้าไปในระดับเดียวกันกับที่เป็นตุ่ม เช่น มันขึ้นอยู่ที่ขา หรือ น่อง หรือขาอ่อน มันก็จะเข้าไปในระดับไขสันหลัง แถวบริเวณบั้นเอว หรือ ก้นกบ แต่ถ้าขึ้นที่หน้า ตรงนี้สำคัญมาก มันทำให้เข้าสมองได้ และก็จะเป็นสมองอักเสบ หรือเส้นเลือดอักเสบ เป็นต้น
จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดไหม
วัคซีนงูสวัดมีความจำเป็น แต่ต้องเป็นวัคซีนงูสวัดชนิดที่สอง คือชนิดที่เป็นโปรตีน เพราะแบบแรกเป็นไวรัสที่ทำให้อ่อนแรงลง ทำให้ผลที่ได้รับไม่ดี และอยู่ได้ไม่นาน อีกประการที่สำคัญคือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยาเคมีบำบัด จะใช้ไม่ได้เลย แต่วัคซีนรุ่นที่สองที่ออกมาใหม่เป็นวัคซีนที่ดี
งูสวัด คืออีสุกอีไสที่เมื่อเป็นแล้วมันซ่อนอยู่ในตัวเรา แต่ว่ากลไกที่ซ่อนอยู่ในตัวเราเป็นระบบเซลล์ ไม่ใช่ระบบน้ำเหลือง คือแอนติบอดี ดังนั้นวัคซีนงูสวัดชนิดโปรตีนมันจะออกฤทธิ์ทางระบบเซลล์ด้วย คือจะยับยั้งไม่ให้ไวรัสอีสุกอีไสหรืองูสวัดเผยตัวขึ้นมา ซึ่งก็มีรายงานการศึกษาเยอะพอสมควรที่ทาง อย.สหรัฐก็รับรองแล้วว่ามีความสามารถที่จะคุ้มกันได้ ใช้ได้ตั้งแต่คน 50 ปีขึ้นไป หรือคนที่เพิ่งเป็นงูสวัดไปแล้ว 3 - 6 เดือนค่อยฉีด
ทำไมต้องฉีดในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป
คนอายุ 50 ปีขึ้นไปภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ดังนั้นอีสุกอีไสที่ซ่อนตัวอยู่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้ และราคาวัคซีนยังสูงอยู่ ดังนั้นการแนะนำให้ทุกคนฉีดอาจไม่คุ้ม
แต่ประการสำคัญที่ห่วงอยู่ตอนนี้ก็คือ เริ่มมีรายงานเข้ามาเรื่อย ๆ ว่าการฉีดวัคซีนโควิด ถ้าฉีดมากเข็มเกินไป เช่น มากกว่า 3 เข็ม แทนที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่กลับทำให้ภูมิคุ้มกันระดับเซลล์หมดกำลัง หรือ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเราเริ่มเห็นว่าคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี เป็นงูสวัด หรือ เริม (ไวรัสเฮอร์ปีส์เหมือนกัน) เห็นชัดเจนขึ้นในคนที่อายุไม่มาก (20 - 40 ปีขึ้นไป)
อีกประการที่คนทั่วไปอาจไม่ทราบคือ เมื่อเป็นงูสวัดแล้วจะมีผลระยะยาวต่อเนื่อง ทำให้มีภาวะหัวใจวาย หรือ อัมพฤกษ์เกิดขึ้นได้ ยังไม่ทราบเหตุผลชัดเจน แต่ในหลักฐาน รายงานหลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป สหรัฐฯ รายงานตรงกันว่า ใครที่เป็นงูสวัดแล้ว หลังจากนั้นภายในช่วง 6 เดือน ถึง 2 ปี สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดหัวใจตัน หรือเส้นเลือดสมองตันได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า
ไม่อยากเสี่ยงขึ้นสมองต้องรีบรักษาทันที !
สมัยก่อนไม่มีวัคซีนงูสวัด แต่ถ้าเป็นงูสวัดไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ตามต้องรีบรักษาทันทีภายใน 1-2 วันถึงจะได้ผลดีที่สุด โดยกินยาฆ่าไวรัส ซึ่งขณะนี้ราคาถูกลงแล้วเพราะผลิตในไทยได้ และระยะเวลาที่กินต้องทอดยาวไป ต้องกินอย่างน้อย 7-10 วัน ไม่ว่าจะเป็นงูสวัดตำแหน่งไหนก็ตาม แต่ในกรณีที่เป็นบริเวณหัว หน้า คอ ให้ระวังให้หนัก ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้ยาฆ่าไวรัสแบบฉีดมากกว่า แต่บางคนไม่อยากเข้าโรงพยาบาลเพราะเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่การฉีดจะปลอดภัยมากกว่า เมื่อเทียบกับการกิน โดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ไม่ว่าเป็นตำแหน่งไหนก็ตาม ต้องใช้ยาฆ่างูสวัดแบบฉีดตลอด
ส่วนในเด็กไทยมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีไส สามารถฉีดได้ แต่ขณะนี้ยังไม่แพร่หลาย
โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายที่มองข้ามไม่ได้
ส่วนอีกโรคที่คนไทยเริ่มเป็นมากขึ้นในผู้ใหญ่ ไม่ใช่ในเด็กเพียงอย่างเดียว ก็คือไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ ปีนี้กรมควบคุมโรคคาดว่าโรคนี้จะยังคงระบาดต่อเนื่อง หลังปีที่แล้ว ( 2566 ) พบผู้ป่วยทั้งหมด 156,097 ราย เสียชีวิต 187 ราย และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก อยู่ที่ประมาณ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย
หลายคนอาจกำลังมองหาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่หลายโรงพยาบาลเชิญชวนให้ไปฉีด

จำเป็นไหมที่จะต้องฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดออกนี้ดีกว่าวัคซีนรุ่นแรก เพราะรุ่นแรกใช้ได้เฉพาะกลุ่ม ส่วนวัคซีนรุ่นที่สองนี้ คนที่เคยเป็นหรือไม่เคยเป็นก็สามารถฉีดได้ สำหรับประสิทธิภาพในการลดอาการหนัก เป็นข้อมูลจากบริษัทที่เป็นผู้สำรวจมีรายงานมา ดังนั้นใครที่ประสงค์ไปฉีด ให้พิจารณาตามคำแนะนำของแพทย์
คำแนะนำในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งระบาดหนักสุดในช่วงฤดูฝน โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรค อาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง อย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที