‘ชะตากรรมประชาชน’ ใต้ม่านควัน ‘มลพิษอุตสาหกรรม’

2 พ.ค. 2567 - 10:16

  • อย่าให้ ‘การเผาแล้วจบ’ กลายเป็น ‘อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง’ ร่วมถอดรอยด่างพร้อยของระเบียบและการจัดการ ที่ ‘รัฐ’ และ ‘ผู้ประกอบการ’ กำลังซ้ำเติมประชาชนใน ‘ปัญหามลพิษทางอุตสาหกรรม’ จากระยอง - อยุธยา กับ ‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

Industrial-pollution-and-people-quality-of-life-SPACEBAR-Hero.jpg

เอาเข้าจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ ‘มลพิษอุตสาหกรรม’ ในจังหวะต่อเนื่องไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการขนย้าย ‘แคดเมียม’ จากโรงงานถลุงแร่จังหวัดตาก ไปยังพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ไปจนถึงเหตุไฟไหม้ที่ โรงงานเก็บสารเคมีจังหวัดระยอง และล่าสุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ (ซ้ำสอง) ณ โกดังเก็บกากอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมมีการตรวจสอบพบ โกดังเก่าดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีการลักลอบกองเก็บกากอุตสาหกรรมประเภท กรดเสื่อมสภาพ สารเคมีอันตราย และสารอื่นๆ จำนวนประมาณ 4,000 ตัน รวม 5 โกดัง  

เกิดภาพการอพยพประชาชน - สั่งปิดโรงพยาบาล ในพื้นที่อย่างจ้าละหวั่น เป็นการตอกย้ำปรากฏการณ์อุบัติภัยแบบซ้ำเดิม เห็นๆ กันมาแล้วนับเดือน จนสังคมเกิดการทวงถาม ความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ พร้อมถามหาความชอบธรรมจากภาครัฐ ในการออกกฎหมายหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการป้องกันและยับยั้งปัญหาที่ถูกต้อง - ตรงจุด  

ทุกอย่าง ยังคงอยู่ม่านหมอกของสมมุติฐาน ‘เผาแล้วจบ’ จนกลายเป็น ‘ปัญหาอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง’ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าระบบนิเวศและประชาชน ที่อาศัยอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ จะอาจต้องประสบชะตากรรมด้านสุขภาพ และความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ ไปอีกไม่รู้กี่ 10 ปี 

จับทางแล้ว ชวน ‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) วิเคราะห์ภาพรวม เพื่อเป็นสะท้อนเสียงแทนชาวบ้าน ถึงกรอบกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบ - แนวทางแก้ปัญหา ที่ไร้ความรัดกุมของภาครัฐ ซึ่งนำไปสู่การหลบเลี่ยงความผิดของ ‘ผู้ประกอบการ’ ที่ไม่ว่าจะเกิดเหตุอีกกี่ครั้งก็ยังลอยนวล 

ไล่เรียงจุดด่างพร้อยจากปฐมบท ที่มาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลที่มาจากการทำ ‘รัฐประหารปี 2557’ อย่าง ‘คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท’ ทำให้การก่อตั้งโรงงานจัดการ - กักเก็บขยะอุตสาหกรรม สามารถก่อตั้งในพื้นที่ชุมชนได้ และกลายเป็นความเสี่ยง ที่ประชาชนโดยรอบต้องแบกรับ ซึ่งโรงงานจัดการขยะมีอยู่ สามประเภท หนึ่งในนั้นคือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม

ทว่าส่วนข้อกำหนด ประเภทกิจการที่ต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่ครอบคลุม สำหรับโรงงานฝังกลบขยะอันตราย หรือโรงงานสำหรับการรีไซเคิล ทำให้แนวทางการประเมินผลกระทบมีเพียงของ พ.ร.บ.โรงงาน ของกรมโรงงานฯ เท่านั้น และเมื่อกระบวนการพิจารณาการออกใบอนุญาต จะมีการพิจารณาเป็นรายโรงงาน ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาต การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของพื้นที่

ข้อมูล ที่สุภาภรณ์ รวบรวมไว้ มีระบุถึงจำนวนโรงงานในภาคตะวันออก มีโรงงานประเภทคัดแยกกากและฝังกลบของเสียอุตสาหกรรม อยู่จำนวน 628 โรงงาน โรงงานประเภทรีไซเคิลกากอุตสากรรม 360 โรงงาน และโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมอีก 16 โรงงาน รวมเป็น 1,034 โรงงาน หรือแค่ในจังหวัดสมุทรสาคร และในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีโรงงานทั้ง 3 ประเภทนี้รวมกันกว่า 320 โรงงาน และ 180 โรงงาน ซึ่งเป็นข้อกังวลเรื่องการรองรับศักยภาพเชิงพื้นที่ ที่มีสิทธิ์จะได้รับผลกระทบ ต่อความเสี่ยงที่ไม่มีใครคาดเดาได้เลย

‘ไทย’ จำเป็นต้องมี ‘PRTR’

สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่โรงงาน การจัดการมักถูกดูแลเป็นรายโรงงานไป ซึ่งมีการนำแนวทางแบบปกติเข้าไปจัดการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะอันตราย จากสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรม ที่ไหลรั่วออกมา

“ลักษณะของมันเหมือนเป็นการดับไฟทั่วไป โดยใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำระงับเหตุ แต่ไม่มีหน่วยงานพิเศษในการจัดการอุบัติภัยทางสารเคมี ทั้งๆ ที่มันมีความเสี่ยงและผลกระทบมากกว่าไฟไหม้ทั่วไป ซึ่งไม่ว่าจะในภาคตะวันออกหรือในแถบภาคกลาง รัฐก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเสี่ยง เพราะโรงงานที่ครอบครองสารพิษมีแฝงอยู่ตามชุมชนเต็มไปหมด แต่เรากลับไม่มีกลไกหรือเครื่องมือพิเศษเลย ในการดูแลแบบเฉพาะทาง อันเหมาะสมในการยับยั้งสารเคมีที่จะเกิดการรั่วไหล” 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลที่สุภาภรณ์กล่าว เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนผลักดันให้เกิด ‘ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ’ (PRTR) เพื่อเป็นกฎหมายกำหนดให้หน่วยงาน บริษัท และโรงงาน เปิดเผยข้อมูลการครอบครองและการเคลื่อนย้ายสารที่เป็นมลพิษ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขป้องกัน ไม่ให้อุบัติภัยรุกลามร้ายแรง และทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือบรรเทาสาธารณภัย ทราบได้ว่าสารที่รั่วไหล หรือแพร่กระจายในอากาศ - แหล่งน้ำ เป็นชนิดไหน เพื่อง่ายต่อการรักษาสุขภาพผู้คน และควบคุมเหตุมิให้บานปลาย

เสียงของประชาชนมันเบากว่าเสียงของกลุ่มธุรกิจ

ผอ. โครงการ EnLAW เชื่อว่า การที่รัฐไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้ เพราะรัฐบาลไม่เคยเข้าใจ ‘สิทธิ์การมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ และมองเพียงงบประมาณที่ต้องใช้เท่านั้น กลับกันกลับมองในเรื่องของตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลออกกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน ไม่เว้นแม้แต่กิจการเหล่านี้ที่ได้รับการสนับสนุน โดยไม่คำนึงถึงหลักการทางด้านสิ่งแวดล้อม และสิธทิ์ด้านสุขภาพของประชาชน และเชื่อว่าสังคมกำลังตั้งคำถาม การคอรัปชันที่เกิดขึ้น ทั้งระดับนโยบาย และคอรัปชันเชิงการตรวจสอบ - ควบคุมกิจการ  

ดังนั้น หากภาครัฐต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ลำดับแรกจำเป็นต้องยุติกิจการที่สุ่มเสี่ยงให้หมดก่อน แล้วศึกษารายละเอียดในส่วนการตรวจสอบ ปรับปรุง - ยกระดับ โดยยึดโยงคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เดินหน้าให้ธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยง อันจะก่อให้เกิดมลพิษอุตสาหกรรมต่อไป  

ทั้งนี้ สุภาภรณ์ ได้เสนอแนวทางที่รัฐควรจะเร่งดำเนินการ คือ1) ทบทวนถอดบทเรียนปัญหากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีที่เกิดขึ้นและแก้ไขโดยเร่งด่วน 2) ออกกฎหมายเพื่อการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพหลังเกิดอุบัติภัย 3) จัดตั้งกองทุนในการแก้ไขปัญหาอุบัติภัย แทนจะใช้งบประมาณกลางในการบรรเทาสถานการณ์ ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนหลายขั้น ดังนั้นต้องออกเป็นนโยบายให้ผู้ประกอบการร่วมชำระ และใช้กองทุนนี้ในการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน และ 4) ต้องเข้มงวดกับการเอาผิดผู้ก่อมลพิษอย่างจริงจัง ตามมาตรา 96 ในฐานะแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรและชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่ของประชาชน ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าต้องเผชิญกับสารผิดตกค้างอีกกี่ปี  

ซึ่งที่ผ่านมาผู้ก่อมลพิษหลายกิจการต่างหาวิธีเอาตัวรอด ในลักษณะที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ณ จุดนี้ แม้ในเชิงหลักการชาวบ้านจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ แต่กระบวนการยุติธรรมก็ค่อนข้างช้า บางครอบครัวจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อนำมาใช้เป็นการต่อยอดในการมีชีวิตที่เหลืออยู่เอง

“เสียงของประชาชนมันเบากว่าเสียงของกลุ่มธุรกิจ ที่ใกล้ชิดกับภาครัฐ ซึ่งมีส่วนในการส่งเสียงในการกำหนดนโยบาย แต่เสียงของชาวบ้านที่เรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพเขาแทบไม่ได้ยิน อีกทั้งยังมีอีกหลายโรงงานที่ถูกดำเนินคดีแล้ว แต่รัฐไม่สามารถจะจัดการของกลาง หรือมีมาตรการที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการ ซึ่งมันเป็นคำถามใหญ่มาก ว่าระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการเหตุที่เกิดขึ้น”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวทิ้งท้าย

คงต้องให้รัฐตอบปุจฉาว่า กระบวนการยุติธรรมมันเป็นธรรมจริงๆ หรือไม่ กับเรื่อง ‘อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม’ โดยเฉพาะโทษทัณฑ์ที่ระบุในข้อกฎหมาย มัน ‘เบา’ หรือ ‘เหมาะสม’ หรือไม่กับ ‘ผู้ก่อมลพิษ’ 

จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องหาคำตอบ จริงๆ นะครับท่านผู้เจริญ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์