‘คุมกำเนิดช้าง’! แก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกได้จริงหรือ?

19 ม.ค. 2568 - 05:27

  • ช้างป่าบุกรุก ปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน สร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน และเกษตรกรที่ทำพืชไร่ พืชสวน

  • หลายหน่วยงานนำเรื่องนี้มาร่วมถกเพื่อหาทางออก 1 ใน 6 มาตรการ คือ ‘คุมกำเนิด’ ควบคุมประชากรช้างป่า

  • ขณะที่ยังมีข้อกังวล ‘การคุมกำเนิดช้าง’ จะเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกได้จริงหรือ

Is-wild-elephant-birth-control- really-a-solution-to-the-problem-between-humans-and-elephants-SPACEBAR-Hero.jpg

ปัญหาช้างป่าบุกรุก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน สร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน และเกษตรกรที่ทำพืชไร่ พืชสวน และมีการนำเรื่องนี้มาถกเพื่อหาทางออกอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มิวายเกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก ล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า ได้มีมติเห็นชอบให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอนุรักษ์และจัดการช้างในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีระบบ เหมาะสม และยั่งยืน ประกอบด้วย 

1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 2.แนวป้องกันช้างป่า 3.ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน 4.การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ 6.การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด

แต่ที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดคือมาตรการที่ 6.การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด โดยใช้วัคซีน SpayVac มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้นคือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ พร้อมกับตั้งคำถามไปยังรัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ก่อนที่จะมาถึงมาตรการที่ 6 คือการควบคุมประชากรช้างป่า ได้ดำเนินการมาตรมาตรอื่นๆ ก่อนหน้านั้นหรือยัง ทั้งมาตรการที่ 1 คือการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไม่จริงจังเท่าที่ควร ยังไม่ทำเป็นเรื่องเป็นราว”

“ส่วนมาตรการที่ 2 คือการทำแนวป้องกันช้างป่า เรื่องนี้ตนเองเคยเสนอให้ทำกำแพงหรือรั้วล้อมลอบ โดยเลือกพื้นที่อนุรักษ์หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 2-3 แสนไร่ ทำรั้วเป็นกำแพงช้างตัวไหนเกเรให้ไปอยู่ในนั้นโดยจัดการแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ถ้าทำแบบนี้ช้างป่าที่เกเรไม่ออกมาแน่ๆ ถ้าทำตั้งแต่วันนั้น วันนี้ไม่ต้องพูดถึงวัคซีนเลย ตนเองเคยเสนอมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน ถ้าเอามาตราการ 1 กับ 2 มารวมกัน มาตรการ 3,4,5 ไม่ต้องทำเลย”

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยอีกว่า ประเด็นการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ตนเองมีข้อสงสัยหลายข้อ โดยเฉพาะวัคซีน SpayVac เรื่องนี้แอฟริกาเขาทดลองทำกับช้างป่า เพราะว่าแอฟริกาเป็นทุ่งขนาดใหญ่ มองไปไหนก็เห็นว่ามีสัตว์อะไรบ้าง ตนเองเคยไปแอฟริกามาแล้ว แต่_แอฟริกาก็เลือกที่จะทำรั้วกั้นชุมชนมากกว่าการคุมกำเนิดช้าง_ สาเหตุที่เลือกวิธีทำรั้ว คือการล้อมชุมชนง่ายกว่าการล้อมป่า เพราะมีขนาดเล็กกว่า และป่าแอฟริกาก็สามารถใช้เทคโนโลยีหรือใช้โดรนบินสำรวจช้างได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย บริบทต่างกัน 

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังคาใจข้อมูลที่ว่าปริมาณช้างป่าขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลกรมอุทยานฯ ปี 2520 ระบุชัดเจนว่าประเทศไทยมีช้างป่าทั้งหมด 4,450 ตัว แต่ปัจจุบัน 4,420 ตัว และ 30 ตัวหายไปไหน “หากจะบอกว่าพื้นที่ป่าลดลง นั่นเป็นปัญหาของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพย์ฯ ที่ต้องไปแก้ไขปัญหาว่าพื้นที่ป่าลดลงมาจากอะไร มีการส่งพื้นที่มอบให้กับใคร ทำอะไร อย่างไร ปล่อยให้มีการบุกรุก แผ้วถางแหล่งอาหารต่างๆ หรือไม่ แล้ววันนี้จะมาบอกว่าช้างเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ลดลงมันขัดแย้งกัน”

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ยอมรับด้วยว่า อีกข้อกังวลในการคุมกำเนิดช้างป่า คือ จะมีวิธีคัดเลือกช้างแบบไหนในการคุมกำเนิด 7  ปี บุคลากรมีความรู้เรื่องนี้แค่ไหน และมีความรู้เรื่องวัคซีนมีหรือไม่ เครื่องมือเครื่องใช้ จะจัดการอย่างไร ช้างที่อยู่ในป่าอ่างฤาไน หรือจะไปตั้งสถานีอยู่ตรงนั้น แล้วใครจะเป็นคนเข้าไปยิงยาคุมกำเนิดช้าง

“การคำนวณตัว น้ำหนัก จะรู้ได้อย่างไรว่าช้างไหนท้องหรือไม่ท้อง ใครจะบอกว่าช้างตัวนี้อายุ 20 ปี เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ประเทศมีผู้เชียวชาญเต็มที่ไม่เกิน 10 คนหรือ 15 คน จะเอาอ่างฤาไนเป็นต้นแบบก็ได้ที่มีช้าง 600 กว่าตัว ช้างไม่สามารถไล่เข้าซองเหมือนคอกม้า ช้างเดินวันหนึ่ง 30-50 กม. จะคุมได้อย่างไร คนที่จะไปยิงยาสลบต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ การเข้าใกล้ช้างไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งตัวไหนมีลูกหากเราเข้าไปใกล้ 50 เมตร ก็อันตรายถึงชีวิต วิธีการนี้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เรื่องนี้คิดง่ายเกินไป แค่คิดก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะวิธีคิดกับวิธีปฏิบัติกับช้างป่าไม่สามารถจะทำได้”

“อีกประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือช้างป่าที่หายไปเท่าไหร่ พื้นที่ป่าที่หายไปมากน้อยแค่ไหน ทำไมช้างถึงต้องออกไปหากินข้างนอก นั่นเป็นเพราะป่าไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีการบุกรุกป่า แต่ตนเองมีหลักฐานทั้งหมดว่าป่าอ่างฤาไน มีขบวนการค้าไปอยู่กลางป่า มีการยิง ช้างจึงออกมาข้างนอกเพราะช้างกลัวคน วันนี้รัฐบาลไม่เคยมองเรื่องการรักษาป่า ชุดลาดตระเวนป่าถูกตัดกำลังลงทุกปี หากมีงบประมาณและมีชุดลาดตระเวนที่เข้มแข็งก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มาก”

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ปัญหาช้างป่าไม่ได้มีแค่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าตะวันออก ที่จะมีการนำร่องใช้วัคซีนคุมกำเนินช้างเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาทั่วประเทศ ที่มักมีข่าวช้างป่าออกมาหากินทำลายพืชสวนชาวบ้าน หนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

โดย นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน สะท้อนการจัดการปัญหาช้างป่า ว่า ที่ผ่านมาทางอุทยานแห่งชาติทับลานได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการดำเนินการตามมาตรการทุกอย่าง แต่ที่ล่าสุดมีมาตรการเพิ่มขึ้นมาอีกคือการควบคุมช้างที่มีพฤติกรรมเกเร และการควบคุมประชากรช้างด้วยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด  เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ผืนป่าตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนนำร่อง 

“จริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องการคุมกำเนิดช้างพูดกันมานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ วันนี้ต้องยอมรับว่าประชากรช้างไม่ได้เยอะมาก เพียงแต่จำนวนช้างไม่มีความสมดุลกับแหล่งอาหาร ทำให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาหากินข้างนอกอุทยาน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน”

“ถ้าถามว่าการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างคือทางออกหรือไม่ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปัจจุบันต้องทำ บางคนพูดว่าต้องรอให้ธรรมชาติจัดการด้วยตัวของมันเอง แต่ต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะช้างป่าที่ทับลานเมื่อก่อนรวมโขลงกันแค่ 20-30 ตัว ปัจจุบันมีการรวมโขลงมากถึง 100 ตัว ไปที่ไหนดีกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านราบพนาสูญ ซึ่งช้างแต่ละตัวกินอาหารไม่เท่ากัน มีทั้งใหญ่ กลาง เล็ก แต่เฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 3 ตัน สามารถกินอาหารได้ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน หรือประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวันต่อตัว ต้องยอมรับช้างกินอาหารเยอะเพราะเป็นสัตว์ใหญ่ ซึ่งประเทศไทยมีช้างป่า 4 พันกว่าตัว ถือว่าเยอะมากหากเปรียบกับผืนป่าที่เป็นแหล่งอาหารที่เหลืออยู่ โดยทับลานมีช้างป่าประมาณ 600 กว่าตัว รวมกับช้างในพื้นที่เขาใหญ่อีกประมาณ 300 ตัว”

ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงต้นตอที่ช้างออกจากป่า ว่า มีปัญหามาจากหลายปัจจัย คือแหล่งอาหารในเขตป่าไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ทั้งภาวะโลกร้อน ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล บางปีแล้งหนัก บางปีฝนตกหนัก นอกจากเหนือจากภัยธรรมชาติ นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาช้างป่า เพราะมีการจัดสรรที่ให้คนอยู่ จะอ้างว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมก็ไม่ได้ เพราะความจริงป่าเสื่อมโทรมเพราะคนเข้าไปอยู่ โดยเฉพาะกรณีของอุทยานทับลานที่ต้องเฉือน 2 แสนกว่าไร่ให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. จากพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ก็ลดเหลือ 1.2 ล้านไร่ ทำให้จำนวนช้างสวนทางกับจำนวนป่า ทำให้แหล่งอาหารลดลง 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาต้องทำ 4 มาตรการแรกอย่างเร่งด่วน คือ 1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 2.แนวป้องกันช้างป่า 3.ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน 4.การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

ส่วน 2 วิธีหลัง คือ 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ 6.การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ต้องทำควบคู่กันไปด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องจัดการแหล่งอาหารให้ช้างอย่างเร่งด่วน ถ้าหากปล่อยไว้ แนวโน้มปัญหาช้างป่าจะออกมาทำนอกพื้นที่มากขึ้นแน่นอน ถ้ารุนแรงกว่านั้นจะเกิดการแตกหักระหว่างช้างกับคน เมื่อช้างทำร้ายคนตาย หรือสร้างความเสียหาย คนก็จะโกรธแค้นช้าง

โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ถูกโขลงช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน บุกเข้าไปกัดกินทำลายต้นขนุนที่กำลังให้ผลผลิต เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยช้างป่าได้หักกินทั้งต้นและลูกขนุนเสียหายไปประมาณ 40 ต้น ยังพบว่า มีไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ถูกช้างป่าเหยียบย่ำทำลายได้รับความเสียหายอีกหลายจุด 

แน่นอนว่าปัญหาช้างป่าบุกรุก เกษตรกรอยากให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม ขณะที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac ที่ผ่านการวิจัยและทดลองมาแล้วในช้างแอฟริกาได้ผลออกมาดี เพื่อควบคุมประชากรช้าง โดยจะทดลองใช้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีการสรุปจำนวนช้างป่าในประเทศไทยโดยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของกรมอุทยาน ระบุว่า ปี พ.ศ. 2520 คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ได้ประเมินประชากรของช้างป่าไว้ประมาณ 2,600 - 4,450 ตัว และล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 มีการประเมินประชากรช้างป่าอย่างเป็นทางการจากการประชุมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่ามีประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง 

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประชากรช้างป่าในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นของช้างป่าราวปีละ 8.2% มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ามากกว่า 257 หมู่บ้าน 52 ตำบล 20 อำเภอ 6 จังหวัด ในภาคตะวันออก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์