ถึงเวลาจัดระเบียบ ‘เมืองสวรรค์ของสตรีทฟู้ด’

29 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:02

it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ชวนมาส่องความแตกต่างของการจัดระเบียบ ‘สตรีทฟู้ด’ ในกรุงเทพฯ ระหว่างยุค ‘อัศวิน ขวัญเมือง’ กับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ จะเป็นอย่างไร? บรรดาพ่อค้าแม่ขายได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สตรีทฟู้ด’ ในเมืองมหานครอย่าง ‘กรุงเทพฯ’ ยังเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของ ‘เมืองไทย’ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเสมอมา นอกจากนี้ ยังทำให้คนไทยด้วยกันสามารถเข้าถึงสินค้าราคาถูกได้ง่ายๆ แถมยังสร้างโอกาสสร้างอาชีพของ ‘คนรายได้น้อย’ ได้อีกด้วย และนี่เอง ก็ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘เมืองสวรรค์’ ของชาวสตรีทฟู้ด เช่นกัน

แต่ ‘สตรีทฟู้ด’ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทางเท้า ทั้งความสกปรก ความไร้ระเบียบ และการกีดขวางทางสัญจรบนทางเท้า ทำให้บรรดาผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบให้ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริงๆ

it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo01.jpg

ตั้งแต่ในยุค ‘พล.ต.จำลอง ศรีเมือง’ เป็นผู้ว่าฯ กทม. กำหนดห้ามหาบเร่แผงลอยขายทุกวันพุธ เพื่อให้ทำความสะอาดบริเวณที่ค้าขาย จากนั้น ‘ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา’ จัดระเบียบด้วยการขีดแนวเส้นอนุญาตเป็นบริเวณที่แน่นอนให้ผู้ค้าแต่ละราย ต่อมาในยุค ‘พิจิตต รัตตกุล’ จัดระเบียบด้วยการ ‘ตีเส้นเหลือง’ และสร้างป้าย ‘จุดผ่อนผัน’ สำหรับหาบเร่แผงลอย จากนั้น ‘สมัคร สุนทรเวช’ ยกเลิกการห้ามขายวันพุธ และอนุญาตให้หาบเร่แผงลอยขายได้ทุกวัน แต่เวลาผ่านไป ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ ก็ออกนโยบายให้หยุดขายวันจันทร์

it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo02.jpg

แต่เมื่อถึงยุคของ ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ ได้งัดไม้แข็งยกเลิกจุดผ่อนผัน จากนั้น ในปี 2559 ยุคผู้ว่าฯ ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ มีการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยยกเลิกจุดผ่อนผัน พร้อมเยียวยาด้วยการให้ไปขายในตลาดประชารัฐ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ทดแทน แต่ก็ยังเกิดปัญหาค้าขายได้ยาก เพราะตลาดประชารัฐไม่ได้อยู่ในย่านชุมชนเท่าใดนัก แต่เมื่อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กรุงเทพฯ ผ่อนปรนนโยบายหาบเร่แผงลอยอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ค้า

it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo03.jpg

การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในยุค ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’

ปี 2563 กรุงเทพมหานคร มีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ถนนต้องมีช่องทางจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป เมื่อจัดวางแผงค้าแล้ว ต้องมีที่ว่างให้สัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร
  2. ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง พระที่นั่ง พระตำหนัก เขตพระราชทาน พระบรมราชานุสาวรีย์
  3. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการจราจรและกีดขวางการจราจร 
  4. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ค้ากับกรุงเทพมหานคร
  5. ไม่เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่กรุงเทพมหานครประกาศห้ามเป็นพื้นที่ทำการค้า
  6. ต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่จากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียในบริเวณดังกล่าว
  7. แผงค้ามีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร มีความลึกไม่เกิน 1 เมตร
  8. ให้จัดผังแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดกับด้านถนน และพื้นที่ทำการค้าต้องห่างจากผิวการจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
  9. เว้นระยะห่าง 5 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกและทางฉุกเฉิน
  10. จัดแผงค้าโดยจำแนกประเภทสินค้า เช่น อาหาร เสื้อผ้า เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo04.jpg

พื้นที่ที่ ‘ห้าม’ จัดผังแผงค้าโดยเด็ดขาด

  1. ป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะ จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
  2. ทางขึ้นลงสะพานลอย ใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟท์สำหรับผู้พิการ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว 
  3. ทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าวทั้ง 2 ด้าน
  4. ในระยะ 10 เมตรจากทางร่วมทางแยก
  5. ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย และในระยะ 5 เมตรจากจุดดังกล่าว
  6. ห้องสุขาสาธารณะและในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
  7. จุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
  8. บริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ และในระยะ 1 เมตรจากจุดดังกล่าว
it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo05.jpg

ส่วนเรื่องการขออนุญาต จะทบทวนทุก 1 ปี ขณะที่คุณสมบัติผู้ค้า จะต้องมีสัญชาติไทย มีรายได้น้อย หรือมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กู้ยืม กยศ. กู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร ถูกให้ออกจากงาน และมีรายได้ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี โดยวิธีคัดเลือกจะเป็นการลงทะเบียนและจับฉลาก มีเงื่อนไขการต่ออายุด้วยการจับฉลากทุกปี

เมืองสวรรค์ของสตรีทฟู้ด.jpg
Photo: เปรียบเทียบการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในยุค 2 ผู้ว่าฯกทม. ระหว่าง ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ กับ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

แล้วการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในยุค ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ จะเป็นอย่างไร?

‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ที่ทุกคนฝากความหวังเอาไว้ ยังคงเร่งเดินหน้าในเรื่องนี้ จึงมีการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2566 ขึ้นมา โดยที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ ซึ่งร่างประกาศกรุงเทพมหานครฉบับของ ‘ชัชชาติ’ มีการปรับปรุงดังนี้

  1. เงื่อนไขพื้นที่ทำการค้ากำหนดว่าถนนที่มีช่องทางจราจรตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป เมื่อจัดวางแผงค้าแล้ว ต้องมีที่ว่างให้สัญจรได้ไม่น้อยกว่า 2 เมตรและเมื่อได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้าแล้วให้ทบทวนทุก 2 ปี
  2. ถนนที่มีช่องทางจราจรน้อยกว่า 3 ช่อง ต้องมีที่ว่างให้สัญจรได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตรโดยทบทวนทุก 1 ปี
  3. ไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง พระที่นั่ง พระตำหนัก เขตพระราชทาน พระบรมราชานุสาวรีย์
  4. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการจราจรและกีดขวางการจราจร
  5. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทระหว่างผู้ค้ากับกรุงเทพมหานคร
  6. ไม่เป็นพื้นที่ที่ประกาศห้ามเป็นพื้นที่ทำการค้า
  7. ต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริเวณดังกล่าว
  8. แผงค้าต้องมีขนาดไม่เกิน 3 ตารางเมตร โดยความลึกของแผ่นค้าต้องไม่เกิน 1.5 เมตร
  9. จัดผังแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดกับด้านถนนและพื้นที่ทำการค้าต้องห่างจากผิวจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
  10. ให้เว้นระยะห่าง 3 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า
  11. จัดแผงค้าจำแนกประเภท เช่น อาหาร เสื้อผ้า เบ็ดเตล็ด เป็นต้น
it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo06.jpg

พื้นที่ที่ ‘ห้าม’ จัดผังแผงค้าโดยเด็ดขาด

  1. ป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะ จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว
  2. ทางขึ้นลงสะพานลอย ใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า ใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟท์สำหรับผู้พิการ และในระยะ 10 เมตรจากจุดดังกล่าว 
  3. ทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าวทั้ง 2 ด้าน
  4. ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
  5. ช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย และในระยะ 5 เมตรจากจุดดังกล่าว
  6. ห้องสุขาสาธารณะ และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
  7. จุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) และในระยะ 3 เมตรจากจุดดังกล่าว
  8. บริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ และในระยะ 1 เมตรจากจุดดังกล่าว
it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo07.jpg

ขณะที่ คุณสมบัติผู้ค้า จะต้องมีสัญชาติไทย ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กู้ซื้อบ้านมั่นคง ได้รับเงินช่วยเหลือจาก พม. รายได้ไม่เกิน 180,000 บาทต่อปี เมื่อคิดฐานหลังจากลดหย่อนภาษีแล้ว โดยวิธีคัดเลือก จะเป็นการลงทะเบียนและคัดเลือกตามลำดับตั้งแต่ ผู้ค้าเดิม คนในพื้นที่ และทั่วไป ซึ่งมีเงื่อนไขการต่ออายุด้วยการให้ผู้ค้ายื่นภาษีทุกปี หากรายได้เกินกว่า 180,000 บาทต่อปี ต้องยกเลิกสัญญา

it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo08.jpg

นอกจากนี้การจัดระเบียบ ‘หาบเร่แผงลอย’ ในยุค ‘ชัชชาติ’ ยังมี ‘ข้อปฏิบัติ’ ให้กับผู้ค้า ดังนี้

  • ผู้ค้าต้องจัดทำแผนทำความสะอาดพื้นที่ โดยคณะกรรมการระดับเขตเป็นผู้พิจารณา
  • ผู้ค้าต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานตามที่ กทม. กำหนด เช่น บ่อดักไขมัน ที่ล้างรวม
it-is-time-organize-street-food-chatchart-SPACEBAR-Photo09.jpg

ต้องรอติดตามต่อไปว่า ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2566 จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ทั้งทางออนไลน์ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นใน 6 กลุ่มเขต ก่อนนำความเห็นจากทุกภาคส่วนไปปรับปรุงแก้ไขประกาศกรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้สมกับที่หลายคนยกให้ ‘กรุงเทพมหานคร’ เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกรุงเทพฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์