ถอดรหัสลวง ‘เหยื่อ’ จิตวิทยาแห่งความอยากได้ จาก ‘ทองแม่ตั๊ก’ สู่แชร์ลูกโซ่คนดัง?

10 ต.ค. 2567 - 12:50

  • จาก ‘ทองแม่ตั๊ก-ใบหนาด’ สู่แชร์ลูกโซ่คนดัง? เหตุใดเหยื่อถึงหลงเชื่อคำลวง

  • ถอดรหัสเรื่องนี้กับ ‘อ.โต้ง - กฤษณพงค์ พูตระกูล’ นักอาชญาวิทยา ผู้ที่จะมาตีแผ่หลัก ‘จิตวิทยาแห่งความอยากได้’

  • เมื่อใครๆ ก็อยากมีโอกาสรวยเร็ว กลยุทธ์เด็ดของ ‘นักฉ้อฉล’

  • กับ ‘สังคม’ ที่บิดเบี้ยว เมื่อ ‘คนดีย์’ ถูกแทนค่าด้วยความหรูหราและรูปลักษณ์ภายนอก

kritsanapong-phutrakul-psychology-of-desire-SPACEBAR-Hero.jpg

จาก ‘ทองแม่ตั๊ก-ใบหนาด’ สู่แชร์ลูกโซ่คนดัง?

ในห้วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังปรากฏข่าวสุดอื้อฉาว ‘คนดังใน TikTok’ หลอกขายทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำคนที่หวังซื้อทองไว้ลงทุนต้องสูญเงินเป็นจำนวนมาก แต่ผ่านไปไม่นาน เหตุการณ์เดิมๆ ก็ส่อแววจะซ้ำรอย เมื่อเครือข่ายธุรกิจรายใหญ่ ที่มีพรีเซนเตอร์เป็นเหล่าดาราดังอย่าง ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ที่กำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย หลังถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีรูปแบบธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และเข้าข่ายฉ้อโกง เนื่องจากมีผู้เสียหายหลายร้อยคนออกมาร้องทุกข์ว่า ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่สัญญาไว้

“กรณีนี้ เชื่อว่าลักษณะน่าจะเป็นการขายตรงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ โดยการใช้ อินฟลูเอนเซอร์ ดารา บุคคลสาธารณะ คนที่มีชื่อเสียงมาร่วม มามีชื่อในบริษัทสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเหยื่อ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

เป็นมุมมองของ อาจารย์โต้ง หรือ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่วิเคราะห์ว่า กรณีของ ‘ดิไอคอน’ มีความหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ 

พร้อมอธิบายว่า ‘แชร์ลูกโซ่’ มีลักษณะเป็นการชักชวนคนมาร่วมลงทุน แต่หลายกรณีพบว่าสิ่งที่ชักชวนไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ไม่มีคุณภาพตรงกับที่พูด และจากการติดตามข่าวนี้พบว่า ‘เหยื่อ’ ถูกชวนให้ไปร่วมธุรกิจด้วยการถูกโน้มน้าวให้ซื้อสินค้ามาในปริมาณมากๆ แต่พอซื้อมาแล้ว กลับไม่มีแหล่งตลาดที่ปล่อย กลายเป็นการผลักภาระให้คนที่ซื้อเยอะต้องไปโฆษณาเองเป็นหลัก และทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ทำไมแชร์ลูกโซ่ไม่เคยตายไปจากสังคมไทย?

“ คนที่เขาใช้เทคนิคกลยุทธ์ในการหลอกลวงเหยื่อ เขาเอาศัยหลักจิตวิทยา คือรู้ว่ามนุษย์ต้องการอยากมีอยากได้ คืออยากมั่งมี อยากได้ทรัพย์สินร่ำรวยเยอะๆ อยากได้เงินมาโดยได้ง่ายๆ ลงทุนไม่เท่าไหร่ผลตอบแทนสูง อาศัยช่องว่างเหล่านี้ไปหลอกลวงคน ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

ความอยากได้ อยากมี รวยเร็ว รวยไว เป็นหนึ่งปัจจัยที่ ‘อาจารย์โต้ง’ ชี้ให้เห็นว่าเหตุใด ‘แชร์ลูกโซ่’ ถึงไม่เคยตายไปจากสังคมไทย ไม่เพียงเท่านี้ ‘คนร้าย’ ยังปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ให้ทันสมัยตามเทรนด์ของโลกมากขึ้น เช่น แชร์ลูกโซ่ที่แฝงร่างมากับธุรกิจขายตรง การหลอกลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) , สกุลเงินต่างประเทศ และทองคำ

อย่างกรณีที่เป็นข่าว พบว่าเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความงาม มีการแต่งตั้งตำแหน่งให้กับดารานักแสดงที่มีรูปลักษณ์ภายนอกดูดี หล่อสวยเท่ หรือการสร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ เช่นกว่าจะเป็นครีมตัวนี้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ 

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ‘ความล้าหลังของกฎหมาย’ ที่ตามไม่ทันกลยุทธ์ของคนร้าย และการทำงาน ‘ตามสั่ง’ ตามสไตล์ข้าราชการไทย ที่ยังเป็นปัญหาต่อการจัดการมิจฉาชีพที่รอฉวยโอกาสและทรัพย์สินจากเหยื่อที่เผลอไปหลงกลหลุมพราง

“ คำถามคือไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยเลยหรอครับ หน่วยงานราชการที่จะทำงานเชิงรุกในการไปตรวจสอบว่าสิ่งเหล่านี้มีการโฆษณาเกินจริงแอบอ้างหรือไม่ รอจนกระทั่งวันนึงมีเหยื่อผู้เสียหายจำนวนมาก ขณะที่คนร้ายก็ระดมเงินได้เงินไปหลายร้อยล้านแล้ว ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

เมื่อทุก ‘ชนชั้นในสังคม’ ล้วนเป็นลูกแกะของหมาป่าเจ้าเล่ห์

รูปแบบการล่อลวงของ ‘คนร้าย’ ที่พัฒนาไปไกลและมีความซับซ้อนมากขึ้น คือเหตุผลสำคัญที่ ‘อาจารย์โต้ง’ ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าใครก็มีโอกาสตกเป็น ‘เหยื่อ’ ได้ทั้งนั้น ตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้า ชนชั้นกลาง หรือคนที่มีฐานะร่ำรวย โดยคนร้ายจะเลือกรูปแบบและวิธีการให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ‘คนที่มีเงิน’ อาจมาในรูปแบบชวนลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนกลุ่มคน ‘ชนชั้นกลาง’ อาจมาในรูปแบบเปิดขายคอร์สไปด้วย ขายผลิตภัณฑ์ด้วย หรือชวนสมัครเป็นสมาชิก เหมือนอย่างที่ปรากฎในข่าว

“ พอไปในสถานการณ์แบบนั้นแล้ว มีการพูดการสื่อสารแล้ว ก็อาศัยหลักจิตวิทยา การโน้มน้าวใจ การสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่เสียแค่หลักร้อยแล้วคราวนี้ คนที่ไปนั่งก็จะถูกโน้มน้าว ให้ควักกระเป๋าจ่ายตังค์เพิ่มมากขึ้น ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

ส่วนจุดร่วมที่ทำให้คนในทุกชนชั้นมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้นั้น มาจาก ‘ความโลภ’ หรือไม่ ‘อาจารย์โต้ง’ มองว่า อยากให้ใช้ว่าเป็นเรื่องของ ‘หลักจิตวิทยา’ มากกว่า ซึ่งตามแนวคิดทฤษฎีความกดดันทางสังคม ด้านอาชญาวิทยา ธรรมชาติมนุษย์ มีความอยากได้ อยากมี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสอย่างนั้นเสมอไป

เช่น ม็อตโต้ (Motto) ของแบรนด์ที่เป็นข่าวบอกว่า ‘ทำงาน 10 ปี ทำผิดที่ก็ไม่รวย’ เป็นเหมือนการไปจี้จุดให้คนหันมาฟังว่ามันคืออะไร และแสดงให้เห็นว่าคนที่ทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ ก็อยากรวย ไม่ใช่ไม่อยากรวย แต่ว่าโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการหางานทำ แตกต่างกันจากคนที่เกิดมาจากครอบครัวที่มีฐานะ หรือคนที่มีโอกาสมากกว่า และยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี หาเงินยาก การเติบโตของธุรกิจลักษณะนี้ก็จะมียอดการเติบโตที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน

“ เขาอาศัยตรงจุดนี้ เข้าถึงจิตใจของคนหลายคน ที่อยากจะมี อยากได้เร็วๆ จึงชักชวนมาร่วมลงทุน เพราะว่าคนโดยปกติมีความกดดันอยู่แล้วที่ไม่สามารถมีทรัพย์สินเงินทองได้เร็วๆ มีความเครียดอยู่แล้วพอมาเจอจุดตรงนี้เข้าไป ก็รู้สึกว่าเอออันนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่เขารวยได้เร็ว ลงทุนไม่มากผลตอบแทนสูง ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีหรอกครับ ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

เช็กลิสต์ข้อควรระวัง สัญญาณธุรกิจอันตราย!

ส่วนจะสังเกตอย่างไรว่าธุรกิจนี้อันตราย ‘อาจารย์โต้ง’ แนะนำว่า ในสถานการณ์ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์เองได้อย่างง่ายๆ และที่โซเชียลเข้ามามีบทบาทเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ สิ่งสำคัญที่ควรคิดก่อนลงทุน คือ ต้องศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจและสินค้านั้นๆ อย่างถ่องแท้ และ สงสัยไว้ก่อนหากธุรกิจนั้นๆ กล่าวอ้างว่า ผลตอบแทนได้เร็ว , ได้แน่นอน 100% , ลงทุนเงินไม่เยอะ เพราะปกติการลงทุนธุรกิจในทุกธุรกิจล้วนมีความเสี่ยงหมด ไม่มีอะไรที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอตอบแทนกลับมา 100% เสมอไป หากกล่าวอ้างแบบนี้ ‘ไม่ใช่ธุรกิจแล้ว’

‘บทเรียนสำคัญ’ ที่ควรเจ็บแล้วจำ กับ ‘แนวทางป้องกัน’ ที่ต้องทำให้ได้!

ปรากฎการณ์จากทองแม่ตั๊กสู่แชร์ลูกโซ่คนดัง? ยังเป็นเหมือนภาพสะท้อน ที่ทำให้เห็นว่า ‘สังคมไทย’ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และในมุมมองของ ‘อาจารย์โต้ง’ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังย้ำเตือนให้สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะไม่ตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก และสไตล์การใช้ชีวิตที่ดูหรูหรา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนดี

“เรามักจะมองคนที่รูปลักษณ์ภายนอก เช่น ขับรถหรู ใช้สินค้าแบรนด์เนม มีบ้านหลังโตๆ แล้วก็ตีค่าว่าคนนี้คือคนดี แต่ความดีความเป็นคนดีของคนไม่ได้อยู่ตรงนั้นนะครับ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งที่ ‘ภาครัฐ’ และ ‘หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ ต้องกลับมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ตัวเอง ในหลายๆ มิติ ทั้ง การปรับปรุงกฎหมาย การทำงานเชิงรุก การช่วยเหลือเหยื่อ การหาทางป้องกัน การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ และเยาวชนในอนาคต ไม่เพียงการรู้เท่านั้นกลลวงการหลอกลงทุน แต่ยังรวมไปถึงการไม่ตัดสินคนจากเปลือกนอก

“ ต้องสื่อสารกันมายิ่งขึ้น เรื่องของการลงทุนเพียงเล็กน้อยได้ผลตอบแทนสูงๆ การลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา 100% อะไรแบบนี้ ซึ่งสังคมไทยผมว่าเรายังอาจจะต้องเป็นสังคมที่ต้องใช้การคิดพิจารณาและใช้ปัญญาให้แก่กันมากยิ่งขึ้นนะครับ ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์