เปิดประวัติ ‘นพ.กฤตไท’ ผู้สะท้อนปัญหาฝุ่น PM2.5

5 ธ.ค. 2566 - 07:52

  • เปิดประวัติ ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ หลังสู้กับมะเร็งปอดระยะสุดท้ายมานานกว่า 1 ปี ผู้ที่สะท้อนปัญหาฝุ่น PM2.5 หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เจ้าตัวเป็นโรคมะเร็งปอด กับคำถามถึงรัฐไทยในการจัดการปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง

  • ฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับสูบบุหรี่ 1 มวน

  • แพทย์ชี้ฝุ่น PM 2.5 , PM 10 เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดชัดเจน

krittai-tanasombatkul-has-died-pm25-in-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังพ่อของ ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งข่าวการเสียชีวิตของลูกชาย ที่จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 10.59 น. ของวันนี้ (5 ธ.ค.) โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนได้ออกมาแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียในครั้งนี้ 

— ประวัติหมอกฤตไท —

สำหรับ  ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ หรือ ‘หมอหนุ่ม’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ เป็นอาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2537 ปัจจุบันอายุ 29 ปี

สู้ดิวะ.png
Photo: ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ หรือ ‘หมอหนุ่ม’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ

‘หมอหนุ่ม’ เรียนจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (OSK 131) ก่อนสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 56 หลังเรียนจบแพทย์ในระยะเวลา 6 ปี ตามที่หลักสูตรกำหนด ‘หมอหนุ่ม’ ได้ไปเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เป็นเวลา 3 ปี พร้อมกับศึกษาด้านระบาดวิทยาคลินิก (Clinical Epidemiology and Clinical Statistic) ก่อนจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านวิทยาการข้อมูล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังจากเรียนจบแพทย์เฉพาะทางแล้ว หมอกฤตไท ได้บรรจุเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีความรู้ความสามารถจนได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม CE (Clinical Epidemiology) ร่วมกับอาจารย์อีกหลายท่าน

สู้ดิวะ 4.png
Photo: โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แปรอักษรให้กำลังใจ  ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ หรือ ‘หมอหนุ่ม’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ ในวันแข่งขันฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศ งานจตุรมิตร เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66

— ตรวจพบมะเร็งปอด —

ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ‘หมอหนุ่ม’ เริ่มพบความผิดปกติของตัวเองหลังเริ่มมีอาการไอ ก่อนเข้ารับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญแล้วพบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 ไม่สามารถผ่าตัดเพื่อรักษาให้หายขาดได้ โดยเหลือปอดขวาที่แข็งแรงเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น และยังพบว่าอาการเริ่มลุกลามไปยังสมอง จากนั้น ‘หมอหนุ่ม’ ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง 

ต่อมา ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ‘หมอหนุ่ม’ ได้เปิดเพจ ‘สู้ดิวะ’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอาการต่างๆ ระหว่างรักษาโรคมะเร็ง และได้เขียนหนังสือสู้ดิวะขึ้นมา เพื่อบอกเล่าบทเรียนจากการเผชิญหน้ากับมะเร็งระยะสุดท้ายในวัยหนุ่ม และเป็นพลังใจให้กับทุกคน 

— โพสต์อำลาและงานแต่ง —

22 ตุลาคม 2566 ‘หมอหนุ่ม’ ได้เข้าพิธีวิวาห์กับคุณพีมแฟนสาว ในวันแต่งงานคุณพีมได้กล่าวในตอนนหนึ่งว่า “พีมโชคดีมากๆ จริงๆ คือพี่ไทจะพูดตลอดเลยว่า เธอโชคร้ายหรือเปล่า เธอโชคร้ายหรือเปล่า พีมก็จะตอบพี่ไทเหมือนเดิมทุกครั้ง พีมโชคร้ายที่พีมไม่รู้ว่าพีมจะอยู่กับพี่ไท ไปจนถึงเมื่อไหร่ พีมโชคร้ายแค่นั้นเลย ที่เหลือตั้งแต่พีมคบพี่ไท พีมรู้สึกตลอดเวลาว่าพีมโชคดีที่เจอคู่ชีวิตได้เร็วขนาดนี้ ไม่ว่าเรื่องมันจะไปทางไหน ไม่ว่าเรื่องมันจะจบยังไง ตอนนี้โชคดีที่สุดแล้วค่ะ” 

2 พฤศจิกายน 2566 ‘หมอหนุ่ม’ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในทำนองอำลาว่า “ผมคง อยู่ได้อีกไม่นานแล้วครับ ใครมีอะไรอบากพูดอยากบอกผม เชิญเลยครับ ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า ไว้เจอกันใหม่ชาติหน้านะครับ ณ ตอนนี้ผมพิมพ์ได้เท่านี้ก็เอาละครับ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาครับ ขอโทษถ้าผมทำให้ใครไม่พอใจ”

สู้ดิวะ 2.png
Photo: ภาพบรรยากาศงานแต่งของ ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ หรือ ‘หมอหนุ่ม’ เจ้าของเพจสู้ดิวะ ที่มา : ARADA PHOTOGRAPHY

— มะเร็งปอดที่มาจากฝุ่น PM2.5 —

สำหรับสาเหตุการป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ‘หมอหนุ่ม’ เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่เขาได้รับระหว่างอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะโดยส่วนตัวหมอหนุ่มเป็นคนรักสุขภาพ และไม่เคยสูบบุหรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘หมอหนุ่ม’ เคยโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง 

“ผมคิดแบบตรรกะของคนทั่วไปเลยคือเราต้องเริ่มแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ตรงจุดก่อนไหมครับ ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อย่างจริงจังมากพอ มันจะต้องมีหน่วยงานจริงจังขึ้นมาแล้ว เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ คนเก่ง ๆ ในประเทศเรามีเยอะแยะ งบประมาณเราก็มี นักการเมืองก็มี นักวิชาการก็มี

ประเทศเราติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกกันมาติดต่อกันหลายปี ทำไมเราถึงยังไม่เห็นความชัดเจนในการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศ หรือความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด มันมีหลายสาเหตุแหละครับที่ทำให้มีปัญหาฝุ่น แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุ PM 2.5 หลัก ๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของ PM 2.5 ในประเทศไทยแต่ละภาคส่วนกันแน่ มันต้องมีการวิเคราะห์และไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่น PM 2.5 อย่างแท้จริงสิ บ้านเราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนสักที จริงไหมครับ”

View post on Facebook

— แพทย์ชี้ฝุ่น PM2.5 ทำคนป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น —

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลังประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ได้มีแพทย์หลายคนออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 

หนึ่งในนั้น คือ ‘รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยออกมาเตือนว่า ผลวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ทั้งเรื่องมะเร็งปอด รวมถึงปัญหาของระบบทางเดินหายใจ อาทิ หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเสื่อมเรื้อรัง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย จนต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และการเสียชีวิต 

ด้าน นพ.สมรส พงศ์ละไม’ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด เปิดเผยว่า งานวิจัย systematic review and meta-analysis ปี 2021 จากวารสาร Environmental Research (impact factor 8.43) พบว่า PM 2.5 PM 10 เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดชัดเจน (โดยตัดปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ออกไปแล้ว)

โดย มะเร็งปอดในไทย พบมากที่สุดในจังหวัด ลำปาง เชียงใหม่ อุดร ระยอง กรุงเทพ ซึ่งปัญหา PM ในภาคเหนือ และประเทศไทย ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน เนื่องจากการเผาป่า เผาหญ้า ทั้งจากในภูมิภาคเราเอง และประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งหลายๆ เมืองภูมิประเทศ ที่เป็นแอ่งกระทะ ฝุ่นจะกองลงไปในตัวเมืองต่างๆ ดังนั้น เราจะพบคนไข้มะเร็งปอดเยอะมากขึ้น ทั้งๆ ที่เค้าไม่ได้สูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่จากคนอื่นเลยก็ตาม

สู้ดิวะ 3.png
Photo: ซ้าย : รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ขวา : ‘นพ.สมรส พงศ์ละไม’ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด

— ฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร = สูบบุหรี่ 1 มวน —

‘ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช’ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้ระบุถึงงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาของ ‘Dr. Richard Muller’ จากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัย California, Berkeley ที่ทำการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ 

โดยพบว่า การสูบบุหรี่ 1 มวนจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM2.5 = 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถผ่านเข้าสู่ปอด กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่างๆมากมายทั้งโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและมะเร็ง 

แต่หากย้อนดูค่าฝุ่น PM2.5 ที่พบในประเทศไทยใยหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล ร่วมถึงฝุ่นในภาคเหนือ พบว่ามีค่าเกิน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่หลายครั้ง และค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ เคยพุ่งสูงถึง 163 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หมายความว่า หากสูดฝุ่น PM2.5 ตลอด 24 ชม. โดยไม่มีการป้องกัน ก็เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ประมาณ 7.4 มวน

อ้างอิง : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์