‘แลนด์บริดจ์’ โครงการในฝัน ชะตากรรม ‘คนพะโต๊ะ’

18 มกราคม 2567 - 13:04

Land-Bridge-Project-and-Life-of-the-Phato-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านเหตุผลทำไม 'กลุ่มรักษ์พะโต๊ะ' จึงคัดค้าน 'แลนด์บริดจ์' กับ ‘สมโชค จุงจาตุรันต์’ พร้อมคำชี้แจงของ 'วิสุทธิ์ ไชยณรุณ' ประธาน กมธ. แลนด์บริดจ์ ที่ยืนยันว่า ทุกกระบวนการรับฟังความเห็นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา

การที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีแผนปัดฝุ่นโปรเจกต์อุตสาหกรรมและการขนส่งยักษ์ใหญ่ อย่าง ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยเลือกพื้นที่ ‘จังหวัดชุมพร-ระนอง' เป็นที่มั่นในการดำเนินโครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาท มีทั้งแรงสนับสนุนและมุมวิจารณ์ จากทั้งภาคการเมืองและส่วนท้องถิ่น  

เท่าที่เห็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง คือ ‘กลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ’ จังหวัดชุมพร ที่ติดตามและออกความเห็นเชิงคัดค้านนโยบายดังกล่าวอยู่เนื่องๆ กระทั่งล่าสุด 15 มกราคม 2566 ทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง ขอเข้าพูดคุยกับ ‘นายกฯ’ เรื่องผลกระทบของชาวบ้าน หากมีการดำเนินโครงการตามโรดแมป หลังมีกระแสตกกระทบในมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะการที่ สาธารณชนตั้งข้อสงสัย ต่อการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการ ใน วันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา อันมีในลักษณะโน้มเอียง ไม่ตรงต่อหลักข้อเท็จจริง   

“เราคัดค้านแลนด์บริดจ์ เพราะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก มีการปิดกั้นลำน้ำบนดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตร หากมีการดำเนินขั้นตอนไปแล้ว ชาวพะโต๊ะจะต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะไร้ที่ดินทำกิน และระบบนิเวศถูกทำลาย ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก จากสภาพอากาศมที่จะย่ำแย่ลง เพราะถูกห้อมล้อมไปด้วยโซนอุตสาหกรรม ทุกอย่างจะส่งผลต่อพี่น้องลูกหลานของเรา”

เป็นการสะท้อนภาพปัญหาจาก ‘สมโชค จุงจาตุรันต์’ ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มรักษ์พะโต๊ะ ถึงฉากทัศน์ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วิถีชีวิตของคนพะโต๊ะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งที่ผ่านมาสมโชค ยังไม่เห็นความชัดเจนใดๆ จากภาครัฐ ในการที่จะรักษาแก่นรากของคนในชุมชน โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นของประชาชน ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเวทีของรัฐบาล เจ้าของโครงการ หรือแม้แต่ในส่วนของ กมธ. สภาผู้แทนราษฎร  

มีหลายประเด็นที่ชาวพะโต๊ะกังวล อย่าง สัดส่วนที่ระบุว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายแลนด์บริดจ์ ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนท้องถิ่นส่วนมาก พยายามคัดค้านโปรเจกต์นี้มาโดยตลอด อีกทั้งการตอบคำถามแบบบ่ายเบี่ยงไหนหลายประเด็น จนชาวบ้านเกิดความสับสน ไร้ความเชื่อมั่น ว่าโครงการดังกล่าวสิ้นสุดลง ตามกรอบที่รัฐบาลระบุไว้

แต่จะกลายเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาใช้แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ในการกอบโกยผลประโยชน์ ทำให้วิถีชีวิตชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะขอบเขตการก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก รวมถึงเส้นทางมอเตอร์เวย์ ฯลฯ 

สมโชค อธิบายต่อว่า ดั้งเดิมคนพื้นที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร เพาะปลูกทำไร่ทำสวน ปลูกทุเรียน พืชส่งออกเป็นงานหลัก คิดเป็นร้อยละ 97 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 4 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จะกระทบกับที่ทำกินของพวกเขา เพราะจะมีการเวนคืนที่ดิน โดยการสร้างวาทะกรรม ยื่นผลตอบแทนระยะสั้นให้ ซึ่งสมโชคมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย กับการแลกมาด้วยความพลัดพรากจากไปของครอบครัว หรือคนในชุมชนที่ต้องกระจัดกระจายไปที่อื่น หรือบางคนอาจต้องเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม เป็นลูกจ้างโรงงานอย่างไม่เต็มใจ 

“ชาวพะโต๊ะไม่มีใครอยากถูกระบบของกลุ่มทุนครอบงำ เพราะที่ผ่านมา เราออกแบบชีวิตด้วยตัวเองมาตลอด เราต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจด้วยวิถีชาวบ้าน จนมีรายได้สูงกว่าระดับปานกลาง คงตัวสม่ำเสมอ  ต่อให้รัฐจะจัดหาอาชีพรองรับแบบไม่มีใครต้องตกหล่น เราก็ไม่อยากละทิ้งที่ดินและวิชาชีพคนสวนไป มันคือชีวิตที่เราสานต่อมาจากบรรพบุรุษ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว และสร้างความสุขให้กับพวกเรามาแต่ไหนแต่ไร” 

ตัวแทนกลุ่มรักษ์พะโต๊ะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มีทางที่โครงการแลนด์บริดจ์ จะจบลงตามแบบที่เห็นในแผนที่ปัจจุบัน แต่นิคมอุสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุน อาจขยายตัวงอกเงยไปเรื่อยๆ เหมือนๆ กับ ‘เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ หรือ ‘อีอีซี’ ที่ปัจจุบันมีกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา รวมถึงการเปิดช่องให้กลุ่มทุน สามารถเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ จนทำให้คนรากหญ้าได้รับผลกระทบ อย่าง แหล่งน้ำในแถบตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรีไปถึงจันทรบุรี ตอนนี้แทบทั้งหมดถูกนำไปใช้ในโรงงานขนาดใหญ่ทั้งสิ้น

“ท้ายที่สุดถ้ารัฐบาลจริงใจกับประชาชน ต้องไม่ข้ามขั้นตอนอันเป็นหลักการ อย่างตอนนี้ โครงการยังอยู่ในช่วงการศึกษาผลดีผลเสีย แต่นายกฯ กลับเดินหน้าโรดโชว์ เอาทรัพยากรที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติไปเร่ขายต่างชาติ ผู้นำประเทศเป็นอย่างนี้ ประชาชนจะไปพึ่งใครได้ ”

สมโชค จุงจาตุรันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ‘วิสุทธิ์ ไชยณรุณ’ ประธารคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ฯ (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPACEBAR ถึงกรณีลงศึกษาพูดคุย และรับเสียงสะท้อนจากคนพื้นที่ พบว่า ข้อกังวลหลักๆ อยู่ที่เงินชดเชยที่จะได้รับ เพราะบางส่วนถือครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบช่วยแก้ไข ประเด็นไหนที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ ราชการก็ต้องชี้แจงให้กระจ่าง  

“เรื่องความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เราก็ต้องมาคุยกัน บางคนกังวลเพราะมีสวนทุเรียนขายปีหนึ่งได้หลายล้าน รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้สมมูลค่าเท่านั้นเอง มันคุยกันได้อยู่แล้ว เพราะรัฐบาลไม่ได้ไปบังคับชาวบ้าน หากมีการให้เงินชดเชยแล้วคุ้มค่า ใครๆ ก็ยอมหมด”

เมื่อถามว่า กลุ่มชาวบ้านมีความกังวลเรื่องความเที่ยงตรงต่อคณะทำงาน จากการเวทีรับฟังความคิดเห็น และดูเหมือนข้อมูลที่ทำโดย กมธ.แลนบริดจ์ จะย้อนแย้งจากข้อเท็จจริงที่คนพื้นที่รับทราบ วิสุทธิ์ อธิบายว่า กมธ. ได้มีการจัดเวทีหลายจังหวัด เท่าที่ได้ข้อมูลมา ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนโครงการ แต่สำหรับกลุ่มเห็นต่างอย่าง เครือข่ายพะโต๊ะ รัฐก็ต้องพูดคุยเรื่องการชดเชยให้ชัดเจน  

ในส่วนของ กมธ. ณ ขณะนี้ถือได้ว่าจบกระบวนการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ทำหนังสือยื่นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เตรียมบรรจุ เข้าในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ดังนั้นฝ่ายค้าน หรือ สส. ที่เป็นผู้แทนของประชาชน (คนไหน) ยังติดใจในประเด็นต่างๆ ก็สามารถยื่นอภิปรายในที่ประชุมได้เสมอ แต่หากได้รับเสียงเห็นชอบเกินเกณฑ์กำหนด ทุกอย่างจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  

“ต่อให้ถึงรัฐบาลแล้วก็ใช่ว่าจะสร้างได้เลย ยังต้องศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน มันใช่ว่าจะเกิดเร็วๆ นี้ มีอีกหลายขั้นตอนที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลก็พร้อมให้การตรวจสอบเสมอ เรา (กมธ.) มีหน้าที่แค่รวบรวมความเห็นในขั้นต้น ไม่ได้ฟันธงว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ในส่วนนี้ก็ขอยืนยัน ว่าเราทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาแน่นอน” 

ประธาน กมธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนคนไหมมีข้อกังวลก็สามารถยื่นเรื่องเข้ามาได้เสมอ ทางคณะทำงานพร้อมจะบันทึกทุกอย่างแล้วรวบรวมส่งให้รัฐบาล เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาต่อไป แต่อย่าใช้วิธีการปลุกระดมมวลชน เข้าไปขัดขวางการสื่อสารของหน่วยงานรัฐ ที่เข้าไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

"เรารับฟังคุณ คุณก็ต้องรับฟังเรา อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเราก็พร้อมทำ อะไรที่ทำให้เสียหายเราก็ไม่ทำ แต่ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะดีต่อพื้นที่ภาคใต้ และคนไทยทั้งประเทศ เพราะโลกทั้งใบจะถูกเชื่อมไว้ ณ จุดจุดนี้”

วิสุทธิ์ ไชยณรุณ กล่าวทิ้งท้าย

เอาล่ะอยู่ที่ท่านผู้อ่านจะพิจารณา ว่า เมกะโปรเจกต์มหายักษ์ ‘แลนด์บริดจ์’ จะให้คุณหรือโทษ กับประเทศและคนท้องถิ่นได้มากเท่าไหร่  

แต่ที่แน่ๆ ใช้งบประมาณหลัก 1 ล้านล้านบาท จะทำอะไรต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนให้มากๆ นะครับท่านผู้เจริญ…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์