#SAVEป่าทับลาน ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแนวเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน (พ.ศ.2524) เป็นแนวเขตควบคุมอุทยานแห่งชาติทับลาน (พ.ศ.2543) ที่จะทำให้พื้นที่ป่าลดลงกว่า 2.6 แสนไร่ ได้ทำให้เหล่านักอนุรักษ์และภาคประชาสังคมเสียงแตก แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้าน
แม้ความเห็นจะแบ่งเป็นสอง แต่ข้อห่วงใยที่ทั้งสองฝ่ายมีคล้ายกันคือเรื่องการเข้ามาของ กลุ่มทุน และ นักการเมือง เพราะการที่เปลี่ยนมาใช้แนวเขตใหม่ อาจทำให้กลายเป็นข้ออ้างให้เกิดการ นิรโทษกรรม คดีที่เกี่ยวข้องกับการรุกป่าในพื้นป่าอนุรักษ์เดิม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย ประมาณ 400 คดี

สเปซบาร์ ชวนย้อนดู 3 คดีดังรุกป่าทับลาน ที่เคยปรากฎเป็นข่าวบนหน้าสื่อในอดีตว่ามีคดีใดบ้าง และการจัดการคดีเหล่านี้ไปถึงไหนแล้ว
- 88 การ์มองเต้ รีสอร์ตหรูบนพื้นป่าทับลาน
เริ่มต้นกันที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ตหรูบนพื้นป่าทับลาน : 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ช่วงเดือน ก.ค. ปี 62 พรรคพลังประชารัฐ ได้จัดงานสัมมนา สส. ที่รีสอร์ตแห่งนี้ จนนำมาสู่การขุดคุ้ยแล้วพบว่ารีสอร์ตดังกล่าว เคยถูกกรมอุทยานฯ ดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า เนื้อที่กว่า 30 ไร่ มาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงปี 55 และ ปี 60 แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของ ส.ป.ก.
ขณะเดียวกันในช่วงนั้น สำนักข่าวไทยรัฐ ได้รายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมให้ข้อมูลว่าคำให้การของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เป็นเท็จ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยาน และพื้นที่ดังกล่าวยังไม่เคยออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. แต่อย่างใด
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขณะนั้นจะออกมาแอคชั่นยืนยันว่าจะทำการรื้อถอน 88 การ์มองเต้ และรีสอร์ตอื่นๆ รวม 11 แห่ง
แต่ข้อมูลล่าสุดจาก ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ระบุในตอนหนึ่งระหว่างถามตอบกับผู้ดำเนินรายการว่า “ศาลสั่งรื้อแล้ว แต่วันนี้เราดำเนินการไม่ได้ ยังคาราคาซังกันอยู่”

- อิมภูฮิลล์ รีสอร์ต
อิมภูฮิลล์ รีสอร์ต ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ไทยสามัคคีอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และเป็นอีกหนึ่งรีสอร์ตที่เคยเป็นข่าวดัง โดยช่วงปี 51 รีสอร์ตแห่งนี้ ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานจับกุมดำเนินคดี หลังพบมีการก่อสร้างรุกป่ากว่า 17 ไร่ และคดีได้ถึงที่สุดแล้ว โดยช่วงปี 54 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้นำป้ายคำสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปติดที่รีสอร์ท และมีข่าวตามมาว่าเจ้าหน้าอุทยานฯ ถูกขู่ฆ่า หลังนำป้ายคำสั่งเข้าไปติดที่รีสอร์ท
ช่วงปี 62 ข่าวการติดป้ายรื้อถอน อิมภูฮิลล์ กลับมาปรากฎบนหน้าสื่ออีกครั้ง โดย ไทยพีบีเอส รายงานว่า วันที่ 26 ก.ค. 62 ‘ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ’ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า สาเหตุที่รีสอร์ตบางแห่งยังไม่ถูกรื้อถอน มีทั้งคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ผู้ประกอบการยื่นขอคุ้มครองคำสั่งรื้อถอน กว่า 73 คดีขณะที่บางแห่งแม้คดีสิ้นสุด แต่ต้องใช้งบประมาณรื้อถอนจำนวนมาก เช่น อิมภูฮิลล์ รีสอร์ต จึงยังไม่สารถเข้ารื้อถอนได้ และยังพบว่า อิมภูฮิลล์ ได้เปลี่ยชื่อและเปิดให้บริการตามปกติ
ทั้งนี้ อิมภูฮิลล์ เคยยื่นคำร้องขอความคุ้มครองคำสั่งรื้อถอนต่อศาลปกครอง แต่ศาลปกครองได้ยกคำร้องคำกล่าว
โดยข้อมูลล่าสุดจาก ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ระบุในตอนหนึ่งระหว่างถามตอบกับผู้ดำเนินรายการใจความว่า ศาลมีคำสั่งให้ อิมภูฮิลล์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกป่าแล้ว แต่วันนี้ทั้ง อิมภูฮิลล์ และ การ์มองเต้ แต่เราดำเนินการไม่ได้ ยังคาราคาซังกันอยู่ พร้อมอ้างว่ารีสอร์ตแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับฐานการเมืองในพื้นที่
- ‘พล.ต.อ.จุมพล’ อดีตรอง ผบ.ตร. สร้างบ้านรุกป่าทับลาน
ช่วงปี 60 ปรากฎข่าว ‘พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย’ อดีตข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และอดีตรอง ผบ.ตร. ถูกศาลจังหวัดนครราชสีมาสั่งจำคุกในคดีรุกป่าทับลาน หลังมีการร้องเรียนว่า ‘พล.ต.อ.จุมพล’ กับพวก ได้สร้างบ้านพักรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน
โดยที่ตั้งของบ้านดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ โดย ‘พล.ต.อ.จุมพล’ ได้รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และได้ถูกถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งถูกไล่ออกจากราชการ

หากตีความจากการบังคับใช้กฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติ ทั้ง 3 คดีข้างต้น ที่ยกตัวอย่างจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มนักการเมือง กลุ่มทุน และข้าราชการระดับสูง เข้ามาเกี่ยวข้องการรุกป่าทับลาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง โดยไม่สนกฎหมาย
ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกพื้นที่ป่า ยังคงบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ ดังที่เห็นว่า รีสอร์ตบางแห่งที่รุกป่า แม้ผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่า ท้าทายอำนาจรัฐ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำข้อให้กังวลเรื่องการลดพื้นที่ป่าจำนวน 2.6 แสนไร่ จะกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีรุกป่าทับลานไม่ต้องรับโทษในอนาคต และความน่ากลัวต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่การผุดขึ้นของรีสอร์ต แต่อาจเป็นอะไรที่มากกว่านั้น และจะไม่จบแค่การหันพื้นที่ทับลาน แต่พื้นที่ป่าแห่งอื่นจะถูกกระทำในลักษณะเดียวกัน
แต่ข้อกังวลนี้ ก็ไม่ควรมากระทบต่อเรื่องการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมาย หากสามารถพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินได้ และเป็นผู้ครอบครองเดิมที่ยังไม่เคยเปลี่ยนมือ ก็ควรดำเนินการต่อไป ภายใต้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า

ส่วนท้ายที่สุดจะมีการ ‘นิรโทษกรรม’ คดีรุกป่าทับลาน อย่างที่เริ่มมีการสร้างวาทกรรมหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ยังต้องรอดูกันต่อไป และอาจจะต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าทำได้หรือไม่ เมื่อคดีความกว่า 400 คดีที่กำลังมีข้อพิพาทอยู่ ถือเป็นเรื่องที่ต่างกรรมต่างวาระ!
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทยรัฐ , ไทยพีบีเอส , คมชัดลึก , มติชน , รายการเจาะลึกทั่วไทย