‘ชลน่าน’ ยัน รพ.แม่สอด ไม่มีประกาศแผน ‘ภาวะฉุกเฉินระดับ 5’

23 เมษายน 2567 - 03:48

Mae-Sot-Hospital-has-not-announced-a-Level-5-emergency-plan-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘หมอชลน่าน’ ยัน รพ.แม่สอด ไม่มีประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินระดับ 5’

  • ชี้สื่อฯ เข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นเพียงประกาศแผนภายในของโรงพยาบาล

  • หากสถานการณ์ดีขึ้นก็ยุติประกาศ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา วานนี้ (22 เม.ย.) ว่า ได้ไปดูพื้นที่ทั้ง 4 จุด คือ รพ.แม่สอด ด่านสะพานมิตรภาพที่ 1 ด่านสะพานมิตรภาพที่ 2 และพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่เป็นศูนย์พักพิงผู้อพยพ

สถานการณ์โดยรวมในการดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล เป็นผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ จนถึงวันที่ 22 เม.ย. 2567 ทั้งสิ้น 113 ราย รักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด 82 ราย

โดยวันที่ 20 เม.ย. 2567 มีผู้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลได้ปฏิบัติตามหลักการการรับแผนผู้บาดเจ็บหมู่หรืออุบัติภัยหมู่ ซึ่งภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยสงคราม จึงประกาศเป็นแผนรองรับภัยพิบัติระดับ 3 เนื่องจากมีผู้ป่วยมารับบริการมากกว่า 20 คนขึ้นไป

การลงพื้นที่เป็นการตรวจดูความพร้อมของบุคลากร และเครื่องมือของโรงพยาบาล เพื่อบริหารจัดการทางการแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่มาทั้งหมด 22 รายนี้ เราไม่ได้ประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน สื่อฯ บางสำนักเขียนว่า ประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉินระดับ 5 ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่เป็นประกาศแผนภายในของสถานพยาบาลเวลามีอุบัติเหตุ ซึ่งโรงพยาบาลแม่สอด สูงสุดมี 3 แผน หลังจากประกาศแผนแล้วใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ก็ประกาศยุติการประกาศแผนได้และเข้าสู่การรักษาดูแลตามปกติ

จากนั้น วันที่ 21 และ 22 เม.ย. เป็นการเข้ามารักษาในลักษณะตามปกติ คือ ทยอยมา ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่ จะเป็นภาวะบาดเจ็บจากระเบิด มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งวานนี้ (22 เม.ย.) ผ่าตัดจำนวน 29 ราย และรอผ่าตัดอีก 3 ราย

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าห้องผู้ป่วยภาวะวิกฤตจำนวน 6 ราย หากสถานการณ์ดีขึ้น จะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่ระมาด กับโรงพยาบาลพบพระ เพื่อเตรียมความพร้อมให้โรงพยาบาลแม่สอด ว่างสำหรับผู้ป่วยรายใหม่

ส่วนการไปดูที่ด่าน พบว่าบรรยากาศซบเซาเงียบเหงา เพราะไม่มีคนผ่านด่าน ซึ่งได้รับรายงานว่า ทางฝั่งเมียนมาแจ้งถึงระบบการทำหนังสือผ่านแดนไม่สามารถทำได้ เพราะระบบล่ม ซึ่งที่ด่านมิตรภาพ 1 เป็นด่านสำหรับผู้คนที่เข้ามา ก็จะมีการคัดกรองโรคตามระบบ แต่ถ้ามีรถส่งต่อมา ก็จะมีการคัดกรองว่า เป็นการส่งต่อ นี่คือกระบวนการทั้งหมด

ในส่วนของบริเวณจุดพักพิงพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่มี 2 ศูนย์ ซึ่งมีผู้อพยพ 3,000 คน วานนี้ (22 เม.ย.) มีการเดินทางกลับบางส่วนทำให้เหลืออยู่เพียงศูนย์เดียวจำนวน 900 คน ซึ่งเราได้จัดหน่วยพยาบาลดูแลเบื้องต้น มีการคัดกรองตรวจค้นหาโรค ซึ่งในการคัดกรองไข้มาลาเรีย เรานำมาเจาะเลือด 300 คน พบ 1 คนเป็นไข้มาลาเรีย นี่คือภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมด ซึ่งเรามีความพร้อมในการดูแลทางการแพทย์ และมีความพร้อมที่จะประกาศแผน

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดก็เตรียมแผนไว้ประกาศเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบพยาบาลเราเรียกแผนระดับ 1 ถ้าจำเป็นต้องอาศัยบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์จากทางจังหวัดอื่นมาร่วมด้วยเรียกว่าแผนระดับ 1 ถ้าจำเป็นจำเป็นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามแล้วระดมทรัพยากรมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเขตบริการเดียวกันจะเรียกว่าแผนระดับ 3

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์