พบ ‘รอยเลื่อนที่มีพลัง’ ประเทศไทยเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต

2 เม.ย. 2568 - 01:00

  • เปิดพิกัด ‘รอยเลื่อนที่มีพลัง’ หลายแห่ง

  • ‘ประเทศไทย’ มีความเสี่ยงอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต

Multiple-active-faults-in-Thailand-pose-a-risk-of-future-earthquakes-SPACEBAR-Hero.jpg

การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวตามธรรมชาติ โดยในประเทศไทยนั้นมีกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลังหลายแห่ง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต โดยรอยเลื่อนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศและมีความสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง

โดยกลุ่มรอยเลื่อนหลักที่สำคัญที่มีพลังในประเทศไทย ได้แก่

รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.แพร่ ขนาด 6.6

รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2478 บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ขนาด 6.5

รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แสดงลักษณะของ ผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.ลำปาง ขนาด 4.9

รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ โดยเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2533 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 4.0

รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2518 ที่ จ.ตาก ขนาด 5.6 ประชาชนรู้สึกได้หลายหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญเมื่อปี 2550 ขนาด 6.3 ในสปป.ลาว ส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ผนังอาคารหลายหลังเสียหาย กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง

รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 ประชาชนรู้สึกได้ทั่วจังหวัด

รอยเลื่อนแม่ลาว เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน จ.เชียงราย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2557 ที่ จ.เชียงราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน

รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด ปี 2554 ที่ จ.เชียงราย ขนาด 4.1 หลายอำเภอ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในอดีตมีการเลื่อนตัวหลายครั้ง ทำให้ธรณีสัณฐานเด่นชัดในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คือ ทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ และทำให้แผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยหลายครั้งในพื้นที่รอยต่อ แค่ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี 2556 ที่เมียนมา ขนาด 5.1 ประชนชนหลายจังหวัดในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่น

รอยเลื่อนเวียงแหง มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 6.8

รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 บริเวณอำเภอท่าปลา ขนาด 3.2 ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอ

รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2549 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 5.0 ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน

กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ใน จ.พังงา ขนาด 4.5

รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว จ.กาญจนบุรี ขนาด 6.4

รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526 ที่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาด 5.9 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพฯ

รอยเลื่อนเหล่านี้มีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ กัน และการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้

info_Multiple-active-faults-in-Thailand-pose-a-risk-of-future-earthquakes.jpg

ทั้งนี้ ในทางธรณีวิทยา ‘รอยเลื่อน’ หรือ ‘แนวรอยเลื่อน’ เป็นรอยแตกระนาบในหิน โดยที่หินด้านหนึ่งของรอยแตกนั้นเคลื่อนที่ไปบนหินอีกด้านหนึ่ง รอยเลื่อนขนาดใหญ่ในชั้นเปลือกโลกเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ที่แตกต่างกัน หรือเฉือนกันและเขตรอยเลื่อนมีพลัง เป็นตำแหน่งที่ไม่แน่นอนของการเกิดแผ่นดินไหวทั้งหลาย โดยแผ่นดินไหวนั้นเกิดจากการปล่อยพลังงานออกมาระหว่างการเลื่อนไถลอย่างรวดเร็วไปตามรอยเลื่อน

ดังนั้น การติดตามและเฝ้าระวังรอยเลื่อนเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี เป็นข้อมูลที่เป็นทางการ ที่มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทย

Multiple-active-faults-in-Thailand-pose-a-risk-of-future-earthquakes-SPACEBAR-Photo01.jpg

ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวบนเวทีเสวนา “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ : นวัตกรรม ววน. พลเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” (31 มีนาคม 2568) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

“ทีมวิจัยเคยมีการประเมินไว้แล้วเมื่อ 20 ปีก่อนว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา จะมีการสั่นสะเทือนที่รุนแรงมาก โดยหากดูในเชิงวิศวกรรมแผ่นดินไหว จะพบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นแอ่งดินอ่อนยักษ์ จะเพิ่มแรงสะเทือนของแผ่นดินไหว 3-4 เท่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการโยกอย่างช้าๆ จากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย ต่างจากลักษณะพื้นที่สั่นไหวที่ไม่ใช่ดินอ่อน ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้ตึกสูงรับรู้ความสั่นไหวได้รุนแรงมาก”

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี ทีมวิจัยได้ประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในไทย ไว้ 3 สถานการณ์ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.ดังนี้

1.แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี แนวรอยเลื่อนมาทางกรุงเทพฯ

2.แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่แนวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา

3.แผ่นดินไหวขนาด 8.5-9 ที่แนวแผ่นเปลือกโลกมุดตัวในทะเลอันดามัน

“สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด คือเหตุการณ์ที่ 2 ซึ่งทีมวิจัยเคยประเมินสถานการณ์ไว้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นในวงรอบกี่ปี ซึ่งอาจกินเวลาวงรอบ 300-400 ปี หรือในช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเลย แต่ล่าสุดในช่วงชีวิตเรา มาเจอแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสกาย เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา”

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 มีนาคม ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ อาฟเตอร์ช็อกก็จะเบาลงเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในสถานการณ์ที่ประเมินไว้อื่นๆ จะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น อาคารที่จะสร้างในอนาคต ต้องวางแผนการสร้างที่รองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวด้วย”

สำหรับสถานการณ์ที่ทีมวิจัยประเมินไว้ และยังต้องจับตาว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ คือ เหตุการณ์ที่ 1 แผ่นดินไหว ขนาด 7-7.5 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง แนวรอยเลื่อนดังกล่าว มีเส้นทางการเคลื่อนไหวจะมาทางกรุงเทพฯ โดยตรง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์