‘NARIT’ รู้แล้ว ‘ลูกไฟสีเขียว’ เหนือท้องฟ้า 6 มี.ค. คืออะไร!

7 มีนาคม 2567 - 03:50

narit-bolide-over-thai-airspace-6-mar-2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) คาด ‘ลูกไฟสีเขียว’ ขนาดใหญ่ เหนือท้องฟ้าคืนวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาอาจเป็น ‘ดาวตกชนิดระเบิด’

  • ส่วนสีลูกไฟที่เห็นต่างกันออกไปเป็นเพราะปัจจัยด้านเคมีระหว่างพุ่งชนบรรยากาศโลก

ช่วงคืนวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยได้สังเกตเห็น ‘ลูกไฟสีเขียว’ ขนาดใหญ่ พาดผ่านท้องฟ้าในยามค่ำคืนกันอีกครั้ง ในช่วงเวลาประมาณ 19.13 น. โดยมีลักษณะหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว จากนั้นแตกออกเป็น 2-3 ส่วน และเวลาประมาณ 20:21 น. ปรากฏขึ้นอีกหนึ่งครั้ง มีสีส้ม มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดคำว่าลูกไฟที่ปรากฎคืออะไรกันแน่ 

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอาจเป็น ‘ดาวตกชนิดระเบิด’

‘ศุภฤกษ์ คฤหานนท์’ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายว่า  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการพบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัดกระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย เช่น กรุงเทพมหานคร จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.อยุธยาฯ จ.ฉะเชิงเทรา จ.นครสรรค์  จ.ชุมพร จ.บุรีรัมย์ และ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น 

จากข้อมูลคาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ที่เกิดจากวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ที่เราเรียกว่า ดาวตก

ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา คืนวันที่ 6 มีค.jpg
Photo: ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา คืนวันที่ 6 มี.ค. 67

กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

โดยดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน 

ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

429970469_793350646168813_3922815176161408990_n.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์