‘อช.’ ชี้แจง ‘แสงเขียวพะเนินทุ่ง’ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก

5 พ.ย. 2566 - 07:12

  • เคยมีมาแล้ว ! ‘แก่งกระจาน’ เผยข้อมูล ‘แสงเขียว’ พะเนินทุ่ง เกิดจากการหักเหของแสงช่วงปลายฝนต้นหนาว

  • กลุ่มอนุรักษ์ยัน ‘ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก’ อาจพบเห็นได้ไปอีกหลายวัน

NationalPark-Service-Clarification-of-the-phenomenon-of-green-light- KaengKrachan-SPACEBAR-Hero.jpg

5 พฤศจิกายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ไขข้อสงสัย ปรากฎการณ์ ‘แสงเขียว’ เหนือท้องฟ้า บนจุดชมวิวพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยระบุข้อมูลของ ‘มงคล ไชยภักดี’ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รานงานว่า ตามที่มีภาพข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับความสนใจจากประชาชน ว่าเมื่อคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลาประมาณ 19.00 - 21.00 น. นักท่องเที่ยวพบแนวลำแสงประหลาด ‘แสงเขียว’ ปรากฎบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กจ.19 เขาพะเนินทุ่ง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นั้น 

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ส่วนตัวได้เดินทางไปตรวจสอบที่หน่วยฯ เขาพะเนินทุ่ง บริเวณที่พบปรากฏการณ์ ได้พบกับกลุ่มชมรมรักษ์เขาพะเนินทุ่ง และนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมากางเต็นท์พักแรมประมาณ 200 คน เวลาประมาณ 19.00 น. จะเริ่มปรากฏการณ์เป็นจุดแสง ทางทิศตะวันตกของเขาพะเนินทุ่ง มองด้วยตาเปล่าเห็นเป็นจุดแสงสีขาว แต่เมื่อใช้กล้องถ่ายจะเห็นว่ามีแสงสีเขียวอยู่ตรงกลางกลุ่มแสง แนวลำแสงจะมองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ชัดที่สุดเวลา 21.00 น. มองเห็นเป็นแนวยาว ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นแสงสีเขียวได้ด้วยตาเปล่า จนกระทั่งเวลา 22.00 น. พระจันทร์ขึ้นทำให้ท้องฟ้ามีแสงสว่างเพิ่มขึ้น ปรากฎการณ์แสงเขียวดังกล่าวจึงหายไป 

กลุ่มอาจารย์ป๊อก น้าแวน คุณเปิ้ล และกลุ่มช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ ซึ่งถ่ายภาพปรากฎการณ์แสงเขียวดังกล่าวได้ ให้ข้อมูลว่าเมื่อคืนวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์แสงเขียวเกิดขึ้นจริง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะในปีที่ผ่านมาเคยมีนักถ่ายภาพ ถ่ายปรากฎการณ์พิเศษนี้ได้มาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 

พร้อมยินดีมอบภาพถ่ายปรากฎการณ์ดังกล่าวให้กับทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะพบเหตุการณ์นี้เพียงปีละ 1 วันเท่านั้น สำหรับในปีนี้สามารถพบเห็นได้เป็นวันที่ 2 และอาจพบเห็นได้ไปอีกหลายวัน แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าปรากฎการณ์แสงเขียวจะหายไปในวันไหน 

สำหรับสาเหตุของปรากฎการณ์แสงเขียวพะเนินทุ่งดังกล่าว คาดว่าจะเกิดจากการหักเหของแสงช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงมากระทบกับแนวก้อนเมฆที่ลอยเหนือยอดเขาตะนาวศรีที่มียอดเขาสูงประมาณ 1,200 เมตร และอยู่ในระดับเดียวกันกับเขาพะเนินทุ่ง ขณะเกิดเหตุยอดเขาพะเนินทุ่ง มีอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส แต่ต้นกำเนิดของแสงจะมาจากแสงธรรมชาติ หรือแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์