‘วช.’ นำทัพนักวิจัยไทย กวาดรางวัลนวัตกรรม ในเวที IWIS 2023

15 ธันวาคม 2566 - 03:23

NRCT-Thai-researchers-win-innovation-awards-at-IWIS-2023-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘วช.’ นำทัพนักวิจัยไทย กวาด 14 รางวัลนวัตกรรม

  • ในเวที International Warsaw Invention Show ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์

  • หวังรัฐบาลต่อยอดเพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์

ผลงานนักวิจัยไทยสร้างชื่อในเวทีนานาชาติอีกครั้ง ภายหลังสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยไทย เข้าร่วมแข่งขันในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ‘The 17th International Warsaw Invention Show (IWIS 2023)’ ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ (12-14 ธันวาคม 2566) ซึ่งน่ายินดีที่ทัพนักวิจัยไทยสามารถคว้ามาได้ถึง 14 รางวัลนวัตกรรม ท่ามกลางผลงานกว่า 500 ผลงาน จาก 20 ประเทศที่ร่วมส่งเข้าประกวด

NRCT-Thai-researchers-win-innovation-awards-at-IWIS-2023-SPACEBAR-Photo01.jpg

ผลงานวิจัยของไทยนั้นมีความโดดเด่น ตั้งแต่การพัฒนาสมุนไพรไปสู่ของใช้ภายในบ้านและเพื่อสุขภาพ การตรวจแสดงที่มาของรังนกไทย เพื่อสร้างมาตรฐานให้จีนยอมรับในคุณภาพ การพัฒนาอุปกรณ์ยึดกระดูกที่หัก ไปจนถึงอุปกรณ์ลักษณะคล้ายบอลลูนลดการผ่าตัด แก้ปัญหาลิ่มเลือดอุดตันในสมองและหัวใจ

ตลอดจนการนำโดรน ติดตั้งกล้องไนท์วิชั่น (Night Vision) ตรวจจับความเคลื่อนไหวยามวิกาล ซึ่งถูกพัฒนาให้สามารถมองเห็นและควบคุมจากระยะไกลได้ เพื่อลดปัญหาการสูญเสียจากการเข้าตรวจสอบหรือปะทะกับกลุ่มคนร้ายตามแนวตะเข็บชายแดน นักวิจัยยังพัฒนาให้ตัวลำบินได้เงียบจนแทบไม่ได้ยินเสียง ด้วยความน่าสนใจจากการควบคุมระยะไกล ความเงียบ แถมยังมองเห็นในยามวิกาล ทำให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 ชิ้นงานที่คว้ารางวัล เป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย

NRCT-Thai-researchers-win-innovation-awards-at-IWIS-2023-SPACEBAR-Photo02.jpg

หนึ่งในทีมพัฒนานวัตกรรม ยอมรับว่า ภูมิใจมากที่ผลงานของคนไทยได้รับการยอมรับในเวทีสากล และอยากให้รัฐบาลนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาให้เป็นเชิงพาณิชย์

ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า การประกวดครั้งนี้ สิ่งประดิษฐ์ของคนไทยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในครั้งต่อไป ก็จะพัฒนาการนำเสนอให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้นักวิจัยไทยเป็นที่รู้จักของนานาชาติ และต่อยอดให้นวัตกรรมของคนไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์เชิงพาณิชย์ ที่น่ายินดีคือ ปีนี้ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ได้เดินทางมาเป็นกำลังใจให้กับทัพนักวิจัยไทย และยังให้แนวคิดในการพัฒนาร่วมกันเพื่อสร้างมิติใหม่ในการนำนวัตกรรมมาเชื่อมต่อเชิงพาณิชย์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์