งบจำกัด ชีวิตเสี่ยง : วิกฤตทัศนศึกษา ปัญหาที่ควรถกงบไม่พอหรือคนไม่พร้อม?

3 ต.ค. 2567 - 09:32

  • งบจำกัด ชีวิตเสี่ยง : วิกฤตทัศนศึกษา ปัญหาที่ควรถกงบไม่พอหรือคนไม่พร้อม? เมื่อเรื่องนี้อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมทางการศึกษา

og-thai-student-field-trip-budget-2024-SPACEBAR-Hero.jpg

‘กิจกรรมทัศนศึกษา’ เป็นหนึ่งใน ‘กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน’ ที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนดให้เป็นกิจกรรมบังคับ โดยโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมให้นักเรียนเข้าร่วมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนยังรวมถึง การเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี กิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมเสริมสร้างทักษะทางสังคมต่างๆ โดยทั้งหมดมีงบประมาณเป็นก้อนเดียวกัน 

นักเรียนได้รับงบอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาลกี่บาท?

งบประมาณรายหัว สำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในปีงบประมาณ 2567 แบ่งเป็นแต่ละระดับการศึกษา ดังนี้

  • ระดับอนุบาล : 464 บาท/คน ต่อปี
  • ระดับประถมศึกษา : 518 บาท/คน ต่อปี
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: 950 บาท/คน ต่อปี
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: 1,026 บาท/คน ต่อปี​

** งบประมาณเหล่านี้ ครอบคลุมกิจกรรมหลายประเภท ไม่ใช่เฉพาะการทัศนศึกษาเท่านั้น ขึ้นอยู่กับการจัดสรรแต่ละโรงเรียน 

ขณะที่อัตราส่วนการดูแลนักเรียนระหว่างทำกิจกรรม ‘ครูทิว หรือ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ ผู้ร่วมก่อตั้ง เพจ ‘ครูขอสอน’ ให้ข้อมูลกับสเปซบาร์ว่า 

  • เด็กโต (ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา) : ครู 1 คน ต้องดูแลเด็ก 20 คน
  • เด็กเล็ก (อนุบาล) : ครู 1 คน ต้องดูแลเด็ก 8 คน

แต่ในบางประเทศ กำหนดให้ ครู 1 คน ดูแลเด็ก 4-6 คน นอกจากนี้ ครูจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยประจำปี โดยเฉพาะก่อนจัดกิจกรรมนอกโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจให้กับนักเรียน

งบประมาณที่จำกัดกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น?

เพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย : งบประมาณที่จำกัด ทำให้หลายโรงเรียนต้องจัดทัศนศึกษาแบบกลุ่ม โดยให้นักเรียนหลายๆ ชั้น ไปทัศนศึกษาพร้อมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่งบที่มีจำกัดอาจส่งผลต่อการคุณภาพในการเดินทาง เช่น การเช่ารถบัส ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะงบส่วนหนึ่งต้องแบ่งไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าอาหาร ค่าเงินประกัน 

จำกัดการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ : โรงเรียนที่อยู่ไกลแหล่งเรียนรู้ เสี่ยงขาดโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการเดินทาง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนเด็กนักเรียนน้อยและอยู่ห่างไกล อาจทำได้แค่ไปแค่วัดใกล้ๆ โรงเรียน 

เสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะ

ขณะที่เสียงสะท้อนของครูและนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคน สะท้อนว่า การยกเลิกทัศนศึกษา ไม่ใช่ทางออก เป็นเพียงการหนีปัญหา และตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กหลายคน และชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอ พร้อมเสนอให้มีการปรับวิธีการจัดทัศนศึกษาให้เหมาะสมกับวัย ให้มีคุณภาพและปลอดภัย 

เช่น เพจ อะไรอะไรก็ครู ซึ่งเป็นเพจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครูและคนในวงการการศึกษา เสนอว่า การทัศนศึกษา ควรพิจารณา เรื่อง ความปลอดภัยในการเดินทาง การจัดการต่างๆ และ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับการไปศึกษา ว่าไปดูอะไร ได้อะไร ต่อยอดการเรียนยังไง ไม่ใช่ความสนุกจากการท่องเที่ยวเท่านั้น

และถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องใดเลย มันก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘โศกนาฏกรรมทางการศึกษา’ ที่เราไม่ได้ให้คุณค่ากับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนในตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ เพจ ครูบรรจุใหม่ 2019 ซึ่งเป็นเพจในแวดวงการศึกษา ได้มีการโพสต์แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น และมีความเห็นของครูหลายคนที่สะท้อนปัญหาที่เจอคล้ายๆ กัน คือ เรื่องงบประมาณที่น้อยมาก บางโรงเรียนงบที่มีไม่พอที่จะจ่ายค่าเดินทางด้วยซ้ำ

บางคน เสนอให้มีโครงการลักษณะคล้าย ‘เราเที่ยวด้วยกัน’  สำหรับการทัศนศึกษา โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน (เช่น 60%) เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปทัศนศึกษาได้ ด้วยตนเองในกลุ่มเล็กๆ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และเพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกสถานที่ และเวลาที่เหมาะสมกับอายุและความสนใจของนักเรียน

ทั้งนี้ ผู้เขียนคิดว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ 23 ชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้รถบัส ไม่ควรจบลงแค่เป็นข่าวอุบัติเหตุใหญ่ แต่เรื่องนี้ต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด เพื่อป้องกันการสูญเสียและป้องกันเหตุโศกนาฏกรรมทางการศึกษา ที่ในอนาคตอาจตัดโอกาสการเรียนรู้ของเด็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ครอบครัวอาจไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะพาไปเที่ยวหรือพาไปทัศนศึกษาด้วยตัวเองได้ 

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ควรโยนภาระไปให้ ‘ครู’ เพียงอย่างเดียว หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ควรมีส่วนรับผิดชอบอนาคตของเด็กๆ ไม่ให้ถูกพรากไปเช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์