จริงอยู่ว่า เกมการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ และ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ที่ถูกจัดขึ้นต่อเนื่องมา 74 ครั้ง มักมีสีสันกลายเป็นประเด็นให้สังคมได้พูดถึงแทบทุกปี แต่หนหลังๆ ดูเหมือน ‘ขบวนล้อการเมือง’ หรือ ‘การแปรอักษร’ จะถูกกระแสอื่นกลบเลือนหายไป (พอสมควร) ทั้งๆ ที่ เนื้อหาก็เข้มข้นขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตามการเมืองที่ร้อนแรง
กระแสใหม่ที่โดดเด่นนำหน้าอย่างปฏิเสธมิได้ คือ ‘สิ่งเก่า’ อันถือเป็นของล้ำค่า และมีสถานะสูงส่ง ประหนึ่งสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องเลือดสีชมพู เรียกตามคำสามัญว่า ‘พระเกี้ยว’
หากติดตามข่าวสาร ‘ฟุตบอลประเพณี’ อย่างต่อเนื่อง จะพบว่า ในปี 2564 ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ในฐานะองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (ขณะนั้น) เคยออกแถลงการณ์ ‘ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์’ มาแล้ว จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากภาคส่วนของศิษย์เก่า
กระทั่งล่าสุด (วันที่ 31 มีนาคม 2567) หลังจากกิจกรรม ‘ฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ 2024’ ดำเนินการไปเสร็จสิ้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสม ถึงกรณีที่ ‘นิสิตจุฬาฯ’ ใช้ ‘รถกอล์ฟ’ แทน ‘เสลี่ยง’ ในขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ลงสู่สนามศุภชลาศัย ทำให้เสียงถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ที่มองต่างกันในลักษณะของทางคู่ขนาน
SPACEBAR จึงชวนถอดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘พี่น้องสีชมพู’ ช่วยสังเคราะห์มิติทางความคิด ที่ดูแล้วเรื่องจะเลยเถิดพ้นขอบรั้วจุฬาฯ ไปไกล
นานาทรรศนะของ ‘จุฬาฯ ลายคราม’

ผมเป็น #ศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์จุฬาฯ
ผมอายุ 69 ใกล้จะ 70 ปีแล้ว
ผมขออาสาร่วมอัญเชิญ #พระเกี้ยว
เข้าสู่สนามการแข่งขัน #ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ #ธรรมศาสตร์
ผมฝันได้ทำหน้าที่สำคัญนี้ มาแต่ครั้งยังเป็น #นิสิต
เป็นข้อความที่ ‘วัลลภ ตังคณานุรักษ์’ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสวมหมวกอีกใบเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ วัย (ผม) สีดอกเลา โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังกลิ่นไอดราม่าเริ่มแผ่ขยายเข้าสู่โลกโซเชียล ‘ครูหยุย’ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้กับ SPACEBAR ว่า การที่ได้มีการแสดงความเห็นบนช่องทางออนไลน์ออกไปนั้น ไม่ใช่ไม่เคารพการตัดสินใจของนิสิตรุ่นปัจจุบัน แต่เพราะอยากนำเสนอ ว่าตนเองยังมีความเห็นพ้องต่อการอนุรักษ์ขั้นตอนของการอัญเชิญพระเกี้ยวแบบแบกเสลี่ยงอยู่
ส่วนกิจกรรมที่ผ่านมาเป็น ‘กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ฯ’ ที่ถูกจัดขึ้นโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่ ‘งานฟุตบอลประเพณี’ ที่จัดร่วมระหว่างนิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่า จึงออกตัวขออาสา ‘หามเสลี่ยง’ แทนนิสิตปัจจุบัน หากถึงวาระที่ศิษย์เก่าได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม
สำหรับประเด็นที่ถกเถียงกัน วัลลภเชื่อว่า หลายเรื่องถูกขยายไปใหญ่โตเกินไป อย่างขั้นตอนการอัญเชิญ ที่ส่วนตัวก็รู้สึกเฉยๆ ไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องแบกหามแบบอดีต แต่ก็มีความไม่สบายใจอยู่บ้าง ในกระบวนการตกแต่ง หรือการเลือกพาหนะอัญเชิญพระเกี้ยวลงสนาม ควรประดับประดาสวยงานให้สมเกียรติภูมิ มากการใช้รถกอล์ฟอย่างเช่นที่ปรากฏ ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีเหตุผลมาจากการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน
“การเมืองมันแบ่งขั้ว ไม่ใช่แค่รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่นะ รุ่นเก่าเองก็มีหลายขั้ว (ฮา) ทุกอย่างก็เลยมองเป็นการเมืองหมด ผมเชื่อว่าถ้าศิษย์เก่ากับนิสิตปัจจุบันได้มีการพูดคุยร่วมกัน ทุกอย่างจะลงตัวได้ มันจะไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง ผมจึงบอกว่าเฉยๆ เขาไม่อยากแบกเราก็แบกให้ได้”
วัลลภ กล่าว
วัลลภ กล่าวต่อว่า จริงๆ เรื่องการแบกหามไม่ใช่เรื่องล้าสมัย แต่เป็นการอนุรักษ์ทำเนียมในเชิงวัฒนธรรม อย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังคงธำรงไว้ซึ่งกิจกรรมอัญเชิญตราสัญลักษณ์สถาบัน ขึ้นยอดดอยสุเทพทุกปี ซึ่งเรื่องความเชื่อและศรัทธาต่อสถาบันการศึกษา อาจมีผลกับการแสดงออกของนิสิตปัจจุบันด้วย
อดีตนิสิตคณะครุศาสตร์ กล่าวเปรียบเปรยว่า การที่ศิษย์เก่าหลายคนยังให้ความสำคัญถึงจุดนี้ ก็เหมือนๆ กับการให้ความเคารพต่อผู้มีพระคุณในครอบครัว เพราะสถาบันก็ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะ ให้นิสิตเติบใหญ่ออกมาเป็นประชาชนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการประสาทองค์ความรู้ นำไปสู่การเป็นนักวิชาชีพสาขาต่างๆ ซึ่งกระแสที่เกิดไม่ต่างอะไรกับภาคการเมืองที่ขาดการพูดคุยในสังคม
“เหมือนๆ วันพ่อวันแม่ เราก็ไปล้างเท้าให้พ่อแม่ไม่ใช่หรือ มันก็คล้ายๆ กันนั้นแหละ อะไรที่เราศรัทธาเราทำได้ทุกอย่าง แต่อะไรที่เราไม่ศรัทธาเราก็ไม่ทำแค่นั้นเอง แต่ท้ายที่สุดผมว่าถ้าได้พูดคุยกันมันก็มีทางออก เหมือนสังคมไทย ที่แม้นจะตีกันแค่ไหน มันก็หาจุดร่วมกันได้อยู่ดี”
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวทิ้งท้าย
สายธารความคิดจากนิสิต (ปัจจุบัน)

“ผมเชื่อว่าการที่นิสิตใช้รถกอล์ฟแทนการหามเสลี่ยง มาจากเหตุผลที่ว่าไม่อยากเกณฑ์คนมาแบก และเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามธีมของกิจกรรม ซึ่งจุฬาฯ ได้รับมอบหมายให้สื่อสารเรื่องของอนาคต การใช้รถไฟฟ้าดูสอดคล้องกับตัวตนของเราที่เป็นมหา’ลัยแห่งความยั่งยืน”
ความเห็นของ ‘อภิสิทธิ์ ฉวานนท์’ หัวหน้าพรรคจุฬาของทุกคน ในฐานะว่าที่นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ปี 2567 ที่กล่าวถึงมิติซ่อนเร้นหลังม่านกิจกรรม ถึงเหตุผลที่นิสิตจุฬาฯ เลือกใช้รถกอล์ฟไฟฟ้าเป็นพาหนะอัญเชิญพระเกี้ยว แทนที่จะแบกคานหามเสลี่ยง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นไปตามแนวคิดที่ผ่านการสังเคราะห์มาจากธีมกิจกรรม และเหตุผลเรื่องการจัดสรรทรัพยากรบุคคล ที่พัฒนาต่างจากแบบแผนที่ช่วงหนึ่งเคยปฏิบัติ
อภิสิทธิ์ เล่าว่า จริงๆ ก่อนหน้านี้เคยเกิดปรากฏการณ์ดราม่าในลักษณ์ดังกล่าวขึ้น ในช่วงที่ ‘เนติวิทย์’ เป็นนายกอบจ. อยู่ แต่ข้อพิพาทตอนนั้น แตกต่างกับตอนนี้ เพราะเป็นเรื่องคนละส่วน
ในปี 2564 ขณะนั้นอภิสิทธิ์กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 กรณีดราม่าเกิดขึ้น ในประเด็นการขอยกเลิก ‘ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว’ หรือคนหนุ่มสาวหน้าตาดีที่นั่งอยู่บนเสลี่ยง และกรณีขอยุติการเกณฑ์นิสิตที่พักอยู่หอใน - นิสิตที่ได้รับทุนการศึกษาให้ไปหามเสลี่ยง แต่ อบจ. รุ่นล่าสุดที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันกับยุคเนติวิทย์ ที่พุ่งเป้าไปที่เรื่อง ‘การบังคับขู่เข็ญ’
ทว่าการออกแบบงานสานสัมพันธ์ฯ ในส่วนของจุฬาฯ วันนี้ คือการตัดสินใจละทิ้งขั้นตอนที่อาจส่งผลให้เกิดการใช้แรงงานแบกหามท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนจัด และเลือกใช้รถกอล์ฟไฟฟ้าตามเหตุผลที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ส่วนสาเหตุที่จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นเพราะทางสนามศุภชลาศัย มีข้อกำหนดว่าพาหนะที่จะสามารถขับเคลื่อนบนลู่วิ่งและสนามฟุตบอลได้ ต้องเป็นรถที่มีน้ำหนักเบา ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องความสวยงามอลังการตามมา บางคนถึงขั้นเชื่อมโยงไปถึง ‘การเอาชนะ’ ศิษย์เก่าของศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งอภิสิทธิ์ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่เรื่องจริง
ส่วนประเด็นที่ครหา ว่าคนรุ่นใหม่ถูกการเมืองแบบใหม่ครอบงำ จนส่งผลต่อการแสดงออกผ่านกิจกรรม ว่าที่นายกฯ อบจ. คนใหม่ แสดงความเห็นว่า การนำพระเกี้ยวไว้บนรถไฟฟ้า หาได้ตั้งใจหรือจงใจเชื่อมโยงให้เป็นนัยทางการเมืองใดๆ และไม่ได้ต้องการด้อยค่าสถาบันการศึกษาให้ต่ำลง ทุกคนที่ร่วมกิจกรรมล้วนลงแรงอย่างตั้งใจ บางคนกลับบ้านดึกดื่นทุกวัน เพราะอยากให้รูปแบบงานออกมาสมบูรณ์ตามคอนเซปต์มากที่สุด
ข้อวิพากวิจารณ์เรื่องความสวยงาน ทางศิษย์ปัจจุบันก็พร้อมน้อมรับและจะแก้ไขในโอกาสต่อไป ซึ่งทางพรรคเองก็ได้มีการจัดทำแบบสำรวจความเห็นของนิสิตและศิษย์เก่า ผ่านโพลออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ‘คุณคิดอย่างไรกับงานบอล’ เพื่อนำความเห็นจากทุกๆ ภาคส่วน ไปพัฒนาในการจัดกิจกรรมครั้งถัดไป
ทั้งนี้ การพยายามเชื่อมโยงประเด็นให้นิสิตกลายเป็นผู้ร้าย อาจจะยิ่งสร้างมุมมองและแนวคิด ให้นิสิตไม่อยากร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น และถือเป็นความบั่นทอนความรู้สึกของบุคคล ที่ลงแรงเพื่อให้ได้มาซึ่ง การจัดงานสายสัมพันธ์ฯ ครั้งนี้ด้วย
“ผมยอมรับว่านิสิตช่วงโควิด อาจไม่ได้ผูกพันกับสถาบันเทียบเท่ากับรุ่นก่อนๆ เพราะเราเรียนกันแบบออนไลน์ แต่ขอยืนยันว่าเราไม่มีนัยอะไรที่จะสื่อถึงการลดถอนคุณค่าของพระเกี้ยว ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ แม้มันจะไม่ได้ออกมาดีที่สุด แต่พวกเราพร้อมนำความเห็นไปพัฒนาอย่างไม่ปิดกั้น สุดท้ายอยากให้มองว่างานบอลคือพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน มากกว่าพื้นที่หาประโยชน์ทางความรู้สึกของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ หัวหน้าพรรคจุฬาของทุกคน กล่าวทิ้งท้าย
