











'ซิ ทูอ่อง' (Si Thu Anung) ชายชาวเมียนมาวัย 31 ปี เป็นหนึ่งใน 'ล่ามอาสาสมัคร' จาก Thai - Myanmar Interpreter Translator Association (TMIA) ที่แสดงเจตจำนง อำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร - การติดต่อประสานงาน ระหว่างแรงงานข้ามชาติและญาติผู้ประสบภัย กรณี 'อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน' แห่งใหม่ 'ถล่ม' จาก 'เหตุแผ่นดินไหว'
'ซิ' เป็นชาวเมียนมา (ถิ่นกำเนิดที่เมืองพะโค) ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาได้ 14 ปีแล้ว เคยประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งงานบริการธุรกิจร้านอาหาร และแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น 'เจ้าหน้าที่ล่ามเมียนมา' ประจำกรมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งภายหลังจากทราบข่าว 'ตึกสตง.' ถล่ม ในฐานะคนเมียนมา ที่มีความห่วงใยเพื่อนร่วมชาติ จึงขอ 'ลางาน' เพื่อมาทำหน้าที่ด้านมนุษยชน
วันนี้ ( 2 เมษายน 2568) เขาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ 'ล่ามอาสา' มาแล้ว กว่า 12 ชั่วโมง โดยเดินทางมาถึงหน้างานตั้งแต่ 21.00 น. ของวานนี้ (1 เมษายน 2568) และจะเลิกงานวันนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันกับตอนเข้าเวร
"ผมมองว่าถ้าไม่มีล่ามเมียนมา อาจจะลำบากเรื่องการสื่อสารระหว่างแรงงาน ญาติ และเจ้าหน้าที่ จึงอาสาเข้ามาทำงาน ณ จุดนี้ด้วยความสมัครใจ แม้ถานการณ์ในเมืองไทยจะดูรุนแรงน้อยกว่าเมียนมา แต่การที่มีเพื่อนร่วมชาติยังคงติดอยู่ในซากตึก ผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ตามกำลังและความสามารถจะทำได้"
ซิ กล่าว
ในฐานะล่าม 'ซิ' รู้สึกภาคภูมิใจกับการที่ได้มีส่วนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ แม้ในคืนที่ผ่านมาจะเหน็ดเหนื่อย - พักผ่อนน้อย แต่ระหว่างช่วงทำภารกิจ ก็ทราบดีว่า การที่มีชาวเมียนมาเป็น 'สื่อกลาง' ย่อมทำให้ขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นไปอย่างสะดวกโยธินมากขึ้น
เขายกตัวอย่าง การเป็นสื่อกลางส่งต่อแนวคิด - แนวการปฏิบัติ ระหว่าง 'นักจิตบำบัด' ชาวไทย ที่เข้าพูดคุยกับ 'ญาติของแรงงาน' ชาวเมียนมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญ เพราะครอบครัวของผู้ประสบภัยหลายคน อยู่ในภาวะรอคอยความหวัง ดังนั้นการที่เขามีหน้าที่ในการคอยแปลศัพท์ทางจิตวิทยา ย่อมมีผลในเชิงเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้เฝ้าคอย
ในฐานะชาวเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย 'ซิ' ได้ขอบคุณการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนต่างๆ ที่มุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ยังติดค้างในซากตึกอยู่ พร้อมทั้งส่งกำลังใจให้กับ 'ญาติ' ของแรงงานที่เฝ้ารอข่าวอยู่ว่า ขอให้ทุกคนตั้งมั่นด้วยสติ มีหัวใจที่เข้มแข็ง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คน ทั้งครอบครัวชาวไทย - เมียนมาด้วย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงมีความหวัง ขอให้ทุกคนอย่างเพิ่งหมดหวัง
ทั้งนี้ กลุ่มล่ามอาสาชาวเมียนมา ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ มีจำนวน 60 คน พวกเขาเป็นชาวเมียนมากลุ่มแรกๆ ที่เข้าถึงพื้นที่ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว - คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ท่ามกลางความหวังที่ไม่เคยถดถอยลง