วิกฤติ ‘ลูกหาบ’ ภูกระดึง! ‘กระเช้าลอยฟ้า’ คือทางเลือก?

21 ธ.ค. 2567 - 03:15

  • คนแห่เที่ยว ‘ภูกระดึง’ จน ‘ลูกหาบ’ รับจ้างแบกสัมภาระ ไม่เพียงพอบริการ

  • ‘กระเช้าลอยฟ้า’ ถูกพูดถึงอีกครั้ง หวังเป็นทางแก้และทางออกคนอยากขึ้นภูกระดึง

  • หลายคนอยากให้เกิดเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ก็กังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Hero.jpg

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย กลายเป็นหนึ่งหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ที่อยากจะไปสัมผัสกับอากาศหนาว และท้าทายความแข็งแรงของร่างกาย ที่จะต้องเดินขึ้นไปบนภูซึ่งเป็นภูเขาลาดชัน หน้าผาสูง มีระยะทางกว่าจะถึงหลังแป 5.5 กิโลเมตร ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติในช่วง 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคมของทุกปี

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo04.jpg

ปีนี้พบว่า มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลขึ้นภูกระดึง เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 50% โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์-นักขัตฤกษ์ จนทำให้ ‘ลูกหาบ’ ที่หาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงไม่เพียงพอ

อดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีลูกหาบที่ลงทะเบียนกับทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ทั้งหมด 222 คน บางวันนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงมากกว่า 2,000 คน ทำให้เกิดปัญหาลูกหาบไม่เพียงพอ

ยังมีลูกหาบบางส่วน ที่ต้องหาบของให้กับร้านค้าขึ้นไปบนภูกระดึงด้วย ทางอุทยานได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้นักท่องเที่ยวนำของที่จำเป็นไว้กับตัวเอง ส่วนสัมภาระให้นำมาไว้กับทางอุทยาน และจะให้ลูกหาบ หาบขึ้นภูภายหลัง

อดิสร กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo12.jpg
Photo: อดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ยอมรับว่า ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงหยุดยาว โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวเกิน 2,000 คน ก็จะเกิดปัญหา เพราะปริมาณนักท่องเที่ยวและลูกหาบไม่สมดุลกัน เป็นอาชีพที่น้อยคนที่จะอยากทำ ทำให้อาชีพนี้ลดจำนวนลงทุกปี โดยปีที่แล้วมีลูกหาบ 230 กว่าคน ปีนี้ลดเหลือ 222 คน ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องอายุที่มากขึ้น และคนรุ่นใหม่ก็ไม่นิยมทำอาชีพนี้

จำนวนลูกหาบไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเป็นปัญหาหนึ่งที่หลายหน่วยงานพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นที่มีการเสนอให้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

อดิสร กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo10.jpg

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดเผยว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง แม้ไม่ได้สร้างเม็ดเงินให้กับอุทยานมากนัก เนื่องจากเก็บค่าบริหารเพียง 30 บาท ส่วนชาวต่างชาติ 100 บาท แต่จะเป็นการสร้างโอกาสหรือทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินขึ้นภูกระดึงได้

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ชอบการท้าทายยังคงเดินขึ้นได้ตามปกติ ที่สำคัญคือจะช่วยแก้ปัญหาลูกหาบไม่เพียงพอ เช่น นักท่องเที่ยวอาจจะเดินขึ้นไปแต่สัมภาระก็ฝากขึ้นกระเช้า ซึ่งประเด็นนี้ ได้คุยกับลูกหาบส่วนใหญ่ ยังมีความกังวล แต่อุทยานฯ จะไม่ทอดทิ้งและจะไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งสองฝ่าย แต่อาจจะให้ลูกหาบมาหาบสัมภาระร้านค้า หรืออาจจะจ้างลูกหาบไปขนสัมภาระขึ้นกระเช้าแทน

หากสร้างกระเช้าสำเร็จ เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขนักเที่ยวตั้งเดือนตุลาคม 2567 ถึง พฤศจิกายน 2567 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50% ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาจากพลังของโซเชียล มีการรีวิว มีการโพสต์ภาพสวยลงในออนไลน์ทำให้คนอื่นๆอยากมาเที่ยวภูกระดึง

อดิสร กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: กระเช้า (ตัวอย่าง)

เทรนด์การท่องเที่ยวภูกระดึง กำลังมาแรง โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก คือ ผานกแอ่น ชมพระอาทิตย์ขึ้น มีทะเลหมอก ส่วนตอนเย็นก็จะไปดูพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก และยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก พร้อมกับชมต้นเมเปิลสีแดงสวยงาม ส่วนจุดกางเต้นท์ก็สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 3,500 คน แต่ละวันจำกัดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3,500 คน เช่นกัน

อดิสร กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo03.jpg

ธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เลย เปิดเผยว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงตอนนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการของบประมาณเพื่อออกแบบ เนื่องจากเวลายื่นอีไอเอ (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม / Environmental Impact Assessment: EIA) ต้องมีแบบชัดเจน โดยของบประมาณไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 แบ่งเป็น

  • งบฯ ออกแบบ 28 ล้านบาท 
  • งบฯ ก่อสร้างประมาณ 997 ล้านบาท
  • รวม 1,025 ล้านบาท

กรณีลูกหาบไม่เพียงพอ ยอมรับว่าไม่เพียงพอนานแล้ว หลายฝ่ายจึงพยายามหาแนวทางที่เหมาะสม ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปคือทำเป็นกระเช้าลอยฟ้า ซึ่งในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วย และสิ่งที่ได้จากการสร้างกระเช้าฯ จากผลการศึกษาพบว่าช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ เชื่อว่าหากเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสามารถเที่ยวแบบ One Day Trip ได้ เพราะตอนนี้การขึ้นปะเที่ยวบนภูกระดึง ต้องใช้เวลา 2-3 วัน และร่างกายต้องแข็งแรง การสร้างกระเช้าลอยฟ้าจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

ธรรมนูญ กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo11.jpg
Photo: ธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เลย

ธรรมนูญ ยังเล่าภูมิหลังของที่มาการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงว่า จริงๆ แล้วตั้งแต่ปี 2525 ประเทศไทยมีแนวคิดที่ล้ำหน้ามาก มีการศึกษาโครงการกระเช้าภูกระดึงเพื่อให้บริหารคนทั้งมวล ให้ทุกคนเข้าไปศึกษาภูกระดึง ลดการทำลายธรรมชาติ เพราะการเดินเป็นการทำลายธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ก่อนจะมีแนวคิดสร้างกระเช้าก็มีทางเลือกหลายอย่าง สุดท้ายก็เลือกกระเช้าซึ่งจะะรบกวนธรรรมชาติน้อยสุด

ส่วนที่ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมานาน อาจจะด้วยหลายสาเหตุ ทั้งการเมืองเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน ทำให้ไม่ได้สร้างเสียที การศึกษาสมัยก็มีความเหมาะสม แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ครั้งนี้ก็เป็นการนำรายละเอียดการศึกษาในอดีตมาทบทวนปรับแก้

ธรรมนูญ กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo09.jpg
Photo: กระเช้า (ตัวอย่าง)

ระยะทางในการสร้างกระเช้า 4.4 กิโลเมตร เป็นแนวที่ไม่มีป่าไม้ เหลือแต่ต้นไม่ไผ่ ไม่มีการตัดไม้ใหญ่ โดยใช้พื้นที่เพียง 50 ตารางเมตรในการวางเสา ส่วนเสาจะอยู่ตรงไหนต้องมีการสำรวจอีกครั้ง ตามไทม์ไลน์นักท่องเที่ยวน่าจะได้ใช้กระเช้าช่วงปลายปี 2569

ธรรมนูญ กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo08.jpg

ประโยชน์ของกระเช้า นอกจากจะอำนวยความสะดวกเรื่องการขนสัมภาระ ขนนักท่องเที่ยว แล้วยังใช้บริหารจัดการขยะด้วย โดยเฉพาะลูกหาบไม่ต้องแบกขึ้น อาจจะให้ลูกหาบแบกเฉพาะต้นทางมาใส่กระเช้า นี่เป็นการสร้างงานอีกรูปแบบหนึ่ง พอปลายทางลูกหาบก็นำส่งให้นักท่องเที่ยว ลูกหาบไม่ตกงานแต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเท่านั้น ซึ่งได้มีการทำความเข้าใจและสื่อสารกับลูกหาบทั้งหมดแล้ว

ธรรมนูญ กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: บุญหอง จันทาสี ประธานลูกหาบภูกระดึง

บุญหอง จันทาสี ประธานลูกหาบภูกระดึง ยอมรับว่ามีปัญหาลูกหาบจริง เนื่องจากปัจจุบันไม่มีคนอยากทำ ไม่มีคนสืบทอด ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่จะมีลูกหาบให้บริการนักท่องเที่ยวมากถึง 300-400 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 222 คนเท่านั้น

ส่วนกรณีจะมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง บุญหอง ย้ำว่า ส่วนตัวยังไม่อยากแสดงความคิดเห็นมากนักว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่เกิดขึ้น ยังเหลือขั้นตอนอีกหลายอย่าง

เคยพูดกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2525 แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มีเพียงการศึกษา สำรวจ แต่ไม่เคยจริงจัง เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แล้วแต่มุมมองว่าใครยืนอยู่จุดไหน ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม

บุญหอง กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทำชีพลูกหาบมานานกว่า 18 ปี ปัจจุบันอายุ 50 ปี อาชีพนี้พ่อเคยทำมาก่อน จึงทำต่อจากพ่อ เพราะสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด เป็นชีพดั้งเดิมที่อยากให้อนุรักษ์ไว้ ถ้าหากสร้างกระเช้าเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอนถ้าหากจัดการไม่ดี เพราะคนที่มาจำนวนมากก็จะกระจุกตัว การกิน การใช้ ก็มีของเสียเยอะขึ้น โดยเฉพาะขยะเพิ่มมากขึ้น การแก้ปัญหาส่วนใหญ่ฝังกลบ ถ้าเป็นขวดน้ำ ขวดพลาสติกก็จะให้นักท่องเที่ยวถือลงมาด้วย ส่วนลูกหาบก็ช่วยหาบกันลงมา เป็นกฎของอุทยานฯ

บุญหอง กล่าว

บุญหอง เผยด้วยว่า ในการหาบสัมภาระขึ้นภูกระดึง จะคิดค่าบริการกิโลกรัมละ 30 บาท ผู้ชายส่วนใหญ่จะหาบได้ประมาณ 50 กิโลกรัมขึ้นไป จะได้ค่าบริการ 1,500 บาท 

ส่วนลูกหาบผู้หญิงก็จะหาบได้ประมาณ 30 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนใหญ่จะหาบได้เพียงแค่เที่ยวเดียว เพราะใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 6 ชั่วโมง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร

ส่วนกรณีที่ลูกหาบไม่เพียงพอ เกิดขึ้นเพียงบางช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน จึงเสนอทางออกว่าควรประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ควรนำสัมภาระเฉพาะที่จำเป็นมา เพราะสิ่งของอำนวยความสะดวกบางอย่าง ทางอุทยานก็ได้เตรียมไว้ให้ เช่น เต็นท์ ที่นอน เก้าอี้ เป็นต้น

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo07.jpg

ณัฎฐ์ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากชาวจังหวัดจันทบุรี ยอมรับว่า มาภูกระดึงครั้งแรก เพราะอยากสัมผัสอากาศหนาวบนภู ส่วนตัวเป็นคนชอบผจญภัย โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ก็ขึ้นลงหลายรอบ ครั้งนี้อยากมาสัมผัสที่ภูกระดึง หาประสบการณ์ที่แปลกใหม่

กรณีที่มีแนวคิดว่าจะมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แล้วแต่คนมองจะมุมไหน มองมุมกลางๆ จะสร้างได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าสามารถสร้างได้ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกกับคนอยากขึ้นแต่ไม่สามารถเดินขึ้นไปได้ ส่วนคนที่มีสุขภาพที่ดี ร่างกายพร้อมการเดินทางขึ้นก็ไม่น่าใช่ปัญหา ส่วนตัวเป็นคนชอบความท้าทาย ต่อให้มีกระเช้า ก็จะขอเดินขึ้นไปเอง

ณัฎฐ์ (นักท่องเที่ยว) กล่าว

บุญมา เศษวงค์ อายุ 76 ปี นักท่องเที่ยวชาวกาฬสินธุ์ เล่าถึงประสบการณ์ได้เดินขึ้นภูกระดึง ว่า มีโอกาสเดินขึ้นภูกระดึงประมาณ 5 ปีที่แล้ว ไม่นึกว่าการเดินขึ้นภูจะต้องใช้เวลาในการเดินทั้งวัน ระหว่างทางที่เดินรู้สึกเหนื่อย เพราะอายุมากแล้ว แต่ที่ตัดสินใจไป เพราะอยากทดสอบว่ายังจะเดินขึ้นได้หรือไม่

เดินตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนถึงหลังแป เวลาประมาณ 5 โมงเย็น กว่าจะเดินถึงที่พักก็มืดค่ำแล้ว เคยได้ยินข่าวว่าจะมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ส่วนตัวคิดว่าอยากเห็นโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพราะคิดถึงผู้สูงอายุคนอื่นๆ ที่อาจจะต้องการชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติบนภูกระดึง แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะใช้เวลาในการเดินทั้งวัน ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับการก่อสร้างกระเช้า

บุญมา (นักท่องเที่ยว) กล่าว

Phu-Kradueng-case-of-people-hired-to-carry-things-and-the-cable-car-SPACEBAR-Photo01.jpg

การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกขึ้น แต่อยากรู้จะมีอะไรบ้างหลังจากมีกระเช้าแล้ว เช่น ขึ้นกระเช้าและขึ้นรถต่อไปยังหลังแป เพราะถ้าหากเป็นผู้สูงอายุ ต่อให้มีกระเช้าก็ต้องเดินต่อไปอยู่ดี เชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวสนใจใช้บริการกระเช้าอย่างแน่นอน แต่ก็กังวลว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น จะทำให้สิ่งแวดล้อมบนภูกระดึงเปลี่ยน อยากให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกบ้าง แต่ก็ขอให้ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีเหมือนเดิม

บุญมา (นักท่องเที่ยว) กล่าว

การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยมีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2525 ต้องรอลุ้นว่าความพยายามครั้งล่าสุด จะสามารถผลักดันและสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงได้หรือไม่ หากผลักดันสำเร็จ คาดว่าภายในปี 2559 จะได้เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์