เตรียมรับมือภัยแล้ง! ‘ภูเก็ต’ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ หาแหล่งน้ำสำรอง

23 ก.พ. 2568 - 05:29

  • ภูเก็ตพร้อมรับมือภัยแล้ง ตั้งศูนย์เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน

  • ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งหน่วยงานเร่งสำรวจหาแหล่งน้ำดิบสำรอง

  • ระดมทุกภาคส่วนทั้งจากแหล่งน้ำเอกชน และของท้องถิ่นที่มีอยู่

Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Hero.jpg

ชาวภูเก็ตต้องเผชิญกับฤดูแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ เพราะในปี 2568 นี้ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความกังวลว่าจะมีปัญหาในเรื่องของน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตมีอ่างเก็บน้ำดิบอยู่เพียง 3 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ.กะทู้, อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ.ถลาง และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ อ.เมืองภูเก็ต  

โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากความกังวลในประเด็นดังกล่าว จังหวัดภูเก็ตได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับมือไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค ชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการสำรวจหาแหล่งน้ำดิบสำรอง เพื่อรองรับหากเกิดปัญหาขึ้น เพราะเป็นที่ทราบดีว่าเรามีน้ำต้นทุนจำกัด ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร  ปัจจุบันเหลือน้ำอยู่ประมาณ  60% ของความจุ  ทั้งนี้แต่ละปีจะมีการใช้น้ำประมาณ 66 ล้านลูกบากศก์เมตร

Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo01.jpg

“จากปริมาณน้ำดิบที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน จึงจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการการใช้น้ำ ให้เหมาะสมเพื่อให้เพียงพอไปจนถึงหน้าฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม  จำเป็นจะต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา และทราบว่ามีบางท้องถิ่นเริ่มดำเนินการแล้ว เพราะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เกรงจะมีน้ำไม่ถึงช่วงหน้าฝนที่จะมาในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันต้องหาแหล่งน้ำสำรองไว้  ไม่ว่าจะเป็นขุมน้ำของเอกชน ขุมน้ำของส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

“เบื้องต้นได้มีการประสานไว้แล้ว หากถึงขั้นวิกฤตก็สามารถซื้อน้ำได้ทันที รวมถึงให้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำนำไปแจกจ่ายกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน  พร้อมกันนี้ยังได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือกรณีภัยแล้งแล้วด้วย จากมาตรการที่เตรียมไว้ และปริมาณน้ำที่มีอยู่ คาดว่าจะรับมือได้ เพราะปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างเหลือประมาณ 40% เราสามารถแก้ปัญหาไปได้”

ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวด้วยว่า จากการเติบโตของการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เราคงจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ตลอดไม่ได้ ทางจังหวัดภูเก็ตร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอโครงการนำน้ำจากเขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มาใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะกับจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจังหวัดพังงา และกระบี่ด้วย ทราบว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว 

ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บน้ำให้ได้มากขึ้น ทางโครงการชลประทานภูเก็ต ได้เสนอของบประมาณในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งได้งบประมาณมาแล้ว ในส่วนของอ่างเก็บน้ำบางวาด โดยจะเริ่มทำการขุดลอกในช่วงหน้าแล้งนี้ ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีๆ ละ 150,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนของอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จะเริ่มดำเนินการปี 2570 ต่อเนื่อง 3 ปี เช่นกัน โดยจะขุดลอกปีละประมาณ 140,000  ลูกบาศก์เมตร

Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo06.jpg
Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo03.jpg

เกริกศักดิ์ ลีลานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งของภูเก็ต ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบางวาด อ.กะทู้ , อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ.ถลาง และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ อ.เมืองภูเก็ต ภาพรวมถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คาดว่าจะสามารถใช้ได้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้ หรือประมาณปลายเดือนพฤษภาคมนี้ 

“แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำบางวาด จากการวางแผนเบื้องต้นพบว่าปริมาณน้ำเหลือค่อนข้างน้อย คาดว่าเมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคมจะเหลือน้ำอยู่ประมาณ 10% ของความจุ ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับทางการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ตในการวางแผนใช้น้ำไว้แล้ว เบื้องต้นทราบว่าจะมีการนำน้ำจากขุมเหมือง (ขุมน้ำ) มาใช้ ซึ่งจะลดภาระการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาดไป และจะเพียงพอเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการคาดการณ์ของอุตุนิยมวิทยาภูเก็ตว่า ปีนี้ฝนจะมาเร็ว”

เกริกศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเตรียมพร้อมนั้น นับตั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจราชการที่ภูเก็ต ได้สั่งการให้จัดทำแผนรองรับการบริหารจัดการน้ำ และจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนของชลประทานภูเก็ตนั้น เบื้องต้นในระยะเร่งด่วนจะมีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบางวาดในช่วงหน้าแล้งซึ่งพบว่าจะมีสันดอนโผล่ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนระยะยาวทางกรมชลประทานวางแผนในการดึงน้ำมาจากเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี โดยการผันน้ำมาไว้ที่อ่างเก็บน้ำลำลู่ใหญ่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ก่อนจะส่งต่อมายังภูเก็ต

Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo04.jpg
Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo05.jpg
Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo02.jpg

ด้าน สุกฤษฎิ์ กลิ่นสนธิ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต (กปภ.ภูเก็ต) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำบางวาด มีปริมาณกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางการประปาฯ จะใช้น้ำในส่วนนี้ร่วมกับทางเทศบาลนครภูเก็ต หากไม่มีการบริหารจัดการอะไรเลยจะสามารถใช้น้ำไปได้จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่เรามีแผนในการจัดหาน้ำดิบเพื่อมารองรับหากเกิดปัญหาขึ้น 

“ขณะนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 33 ล้านบาท เพื่อจัดหาน้ำป้อนเข้าสู่ระบบ จะสามารถยืดระยะเวลาไปด้จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2568 นอกจากนี้จะมีการขอความร่วมมือทางเทศบาลนครภูเก็ตในการลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางวาด ซึ่งได้มีการลงนามความตกลงไว้แล้วจะลดลงมาปริมาณเท่าใดตามความเหมาะสม เพื่อให้สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง และทันกับฤดูฝนที่มาถึง โดยปริมาณการใช้น้ำในส่วนที่การประปาฯ ผลิตเองอยู่ประมาณ 90,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมถึงสถานีผลิตของการประปาทั้ง 3 แห่ง ทั้งนี้มีผู้ใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 74,000 ราย”

สุกฤษฎิ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการวางแผนใช้น้ำ กปภ.ภูเก็ต ได้มีแผนในการบริหารจัดการน้ำไว้แล้ว รวมทั้งการประสานเพื่อขอใช้น้ำจากขุมเมืองเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับมาแล้วหลายแห่งเช่นกัน ดังนั้นจึงคลายความกังวลไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาบ้างในบางช่วงเวลาน้ำที่เคยไหลแรงก็อาจจะไหลเบาลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อรักษาระบบภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ จะต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้น้ำของประชาชน และจะต้องลดปริมาณน้ำที่สูญเสียด้วย

Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo07.jpg
Phuket-prepares-to-find-alternative-water-sources-to-cope-with-drought-SPACEBAR-Photo08.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์