‘สองแถว EV’ แก้ฝุ่นเชียงใหม่ ‘มช.’ เร่งทดสอบก่อนผลักดันใช้จริง

29 มิ.ย. 2567 - 05:30

  • ‘เชียงใหม่’ นำร่องใช้โดยสารไฟฟ้า (EV)ทดลองวิ่งกว่า 5 เดือน เจ้าของรถยืนยันใช้งานได้ดี ประหยัดกว่าใช้น้ำมัน

  • ผู้วิจัยโครงการฯ ยืนยันสามารถนำมาใช้ได้จริง ติดที่ต้นทุนยังสูง จับต้องยาก วอนรัฐบาลสนับสนุน ‘รถแดง EV’

  • ผู้โดยสารสุดตื่นเต้น ได้นั่งรถสองแถวไฟฟ้าครั้งแรก อยากให้ผลิตเพิ่มใช้จริงทั้งเมือง

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Hero.jpg

‘จังหวัดเชียงใหม่’ มักจะถูกเรียกว่า เป็นเมืองหลวงของภาคเหนือของประเทศไทย เป็นศูนย์รวมของหลาย ๆด้านในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ  

แต่สิ่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ยังขาดแคลน คือระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพที่ดำเนินการโดยจังหวัดเอง หลายครั้งก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีระบบขนส่งมวลชนเป็นของตัวเองแบบที่กรุงเทพฯ และขนส่งมวลชนหลักมีเพียงรถสองแถวสีต่าง ๆ โดยเฉพาะรถสี่ล้อแดง หรือ ‘รถแดง’ ที่คุ้นตานักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่ทั้งในตัวเมืองและพื้นที่รอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า คนส่วนใหญ่มักจะใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แม้แต่นักท่องเที่ยว หากไม่เช่ารถ ก็หันไปเลือกเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน หรือใช้บริการรถสองแถว

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo04.jpg

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเคยประกาศที่จะให้รถสองแถวในจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตัวใหม่ให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า หรือ ‘รถ EV’ เพื่อเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่ มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังนั้น การเร่งผลักดันให้รถสาธารณะ-รถแดงในตัวเมืองเชียงใหม่ ปรับเปลี่ยนมาขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า กำลังเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้รถสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo02.jpg

ล่าสุด มีรถสองแถวพลังงานไฟฟ้า 100% ที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร 2 คัน ได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พัฒนาเปลี่ยนรถสองแถวพลังน้ำมันที่มีการใช้งานมานานกว่า 10 ปี มาเป็นพลังงานไฟฟ้า และได้นำร่องนำมาทดสอบใช้จริงตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ

ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเปลี่ยนรถสองแถวน้ำมัน มาเป็นรถสองแถวพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า รถทั้ง 2 คัน เป็นรถของผู้ประกอบการที่มีอายุการใช้มานานมากกว่า 10 ปี เคยปล่อยควันดำที่เป็นมลพิษออกมาจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนมาเป็นรถพลังไฟฟ้า สามารถช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลงได้ และยังประหยัดมากขึ้น

จากเดิมที่ใช้น้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่กิโลเมตรละ 3 บาทกว่า แต่หากเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า จะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo12.jpg

สำหรับระยะทางในการวิ่ง อยู่ที่ประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอต่อการที่เจ้าของรถที่จะให้บริการในรูปแบบของรถประจำทาง ที่วิ่งอยู่ที่ 100-150 กิโลเมตรต่อวัน แต่ส่วนของต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งถือยังเป็นราคาที่สูงสำหรับผู้ประกอบการ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo14.jpg
Photo: บริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์ คนขับรถสี่ล้อประจำทางที่เปลี่ยนจากรถน้ำมันมาเป็นรถ EV

‘บริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์’ คนขับรถสี่ล้อประจำทางเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนจากรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาในการวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร การขับขี่ถือว่าดีเยี่ยม ให้คะแนนเต็ม 10 แต่ยังมีข้อควรระวังอยู่บ้าง หากขับผ่านน้ำหรือจอดในบริเวณที่น้ำขัง เพราะเสี่ยงกระทบกับระบบไฟฟ้าได้

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo07.jpg

และหากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ รถที่ใช้น้ำมันในหนึ่งเดือน ต้องเสียค่าน้ำมันประมาณ 14,000-15,000 บาท ก็เหลือประมาณ 3,000 กว่าบาท ซึ่งก็ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก และทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง

ซึ่งหลังจากนำรถ EV วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ก็มีเพื่อนร่วมอาชีพ เข้ามาพูดคุยถึงผลประกอบการและการใช้งาน หลายคนอยากเปลี่ยนมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% แต่ก็ติดปัญหาอยู่หลายด้าน หลัก ๆ คือต้นทุนที่จะนำมาดัดแปลงรถ หากไม่ได้รับการสนับสนุน

ส่วนตัวถือว่าโชคดีที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ จึงอยากจะฝากไปถึงภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากอยากผลักดันพลังงานสะอาด ก็ควรที่จะให้การสนับสนุนหรือทำให้ราคาต้นทุนในการดัดแปลงลดลงจนสามารถจับต้องได้

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo06.jpg

ทีมข่าว Spacebar Big City ตระเวนพูดคุยกับผู้โดยสารที่ได้นั่งรถสองแถวพลังงานไฟฟ้า 100% เป็นครั้งแรก บอกตรงกันว่า รู้สึกแปลกใจ เมื่อรู้ว่ารถที่นั่งเป็นรถไฟฟ้า

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo09.jpg

เนื่องจากหากมองดูจากภายนอกมีลักษณะเหมือนกับรถสองแถวทั่วไป และสังเกตว่า การทำงานของเครื่องยนต์รถเงียบมาก แทบจะแยกไม่ออกว่ารถกำลังติดเครื่องอยู่หรือไม่ และส่วนหนึ่งก็รู้สึกดีที่ไม่ต้องดมควันรถ และอยากให้เพิ่มจำนวนรถ EV ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo11.jpg

ข้อมูลจากสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ในปี 2561 มีจำนวนรถแดง 2,465 คัน แต่สถิติล่าสุดในปี 2567 เหลือรถแดงให้บริการ 2,100 คัน ซึ่งได้รับสัมปทานวิ่งรับส่งใน 21 เส้นทางในตัวเมืองเชียงใหม่

pick-up-truck-taxi-EV-Chiang-Mai-solving-dust-problem-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์