เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ‘ปารีสเกมส์ 2024’ (Paris 2024 Olympic) ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พิธีเปิดถูกจัดนอกสนามกีฬา อย่างไรก็ตาม แม้งานนี้จะดูโดดเด่นโฉบเฉี่ยว จนได้รับคำชมอย่างล้นหลาม แต่ก็เรียกเสียงวิจารณ์ในเชิงลบได้เช่นกัน
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นติชมต่อพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าตัวระบุถึง ‘ข้อชม’ คือ
1. การคิดนอกกรอบ จัดพิธีเปิดนอกสนามกีฬา ใช้สถานที่สำคัญในเมืองปารีส เป็นที่จัดแสดง
2. การนำเสนอศิลปวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศส ครบถ้วน เอาคลิเช่แบบฝรั่งเศสๆที่คนทั่วโลกรู้จักดีอยู่แล้ว มาร้อยเรียงสอดประสานได้อย่างหมดจด
3. การนำเสนอความยิ่งใหญ่แบบฝรั่งเศส ภายใต้เสื้อคลุมของความหลากหลาย มนุษยนิยม สากลนิยม สิทธิมนุษยชน ทำได้แนบเนียนจนคนไม่ค่อยรู้สึกว่า ถูกยัดเยียดความเป็นชาตินิยมแบบฝรั่งเศสๆ (เช่น อะไรๆก็ต้องฝรั่งเศส อะไรๆก็เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส) แต่ทั้งที่จริงแล้ว ได้แอบซ่อนความคิด La grandeur de la France เอาไว้
ข้อนี้ ลองดูปฏิกริยาของคนไทยที่ดูพิธีเปิดก็ได้ ส่วนใหญ่เข้าไป “ติดกับ” ความยิ่งใหญ่แบบฝรั่งเศสๆ ไปโดยไม่รู้ตัว
ส่วน ‘ข้อติ’ ประกอบด้วย
1. ด้วยความที่ต้องนำเสนอคุณค่าแบบฝรั่งเศส เช่น Liberté Égalité Fraternité Solidarité Diversité République Féminisme LGBTQs เป็นต้น และยังต้องขายศิลปวัฒนธรรมฝรั่งเศสให้ครบด้วย ทำให้การแสดงตลอดเกือบ 4 ชั่วโมง หลายจุด ดูล้นเกินไป ดูยัดใส่เข้าใปมากไปนิด
2. การแสดงบางองก์ ยาวไป
3. ในพิธีเปิดนี้ มีการขาย “อดีต” ขายบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ขายประวัติศาสตร์ปฏิวัติ ขายประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม
แต่สิ่งที่ยอกย้อน ก็คือ หากบุคคลเหล่านั้น มาเกิดในยุคนี้ ต่อสู้ในวันนี้ หลายคนคงโดนระบอบมาครง รัฐบาล ตำรวจ จับกุม คุมขัง ปราบปราม ตี หรือถูกขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังแน่นอน
สำหรับรัฐแล้ว การลุกขึ้นสู้และปัญญาชน แอคติวิสต์นักต่อสู้ มีคุณค่าเป็น “สินค้า” ให้กับรัฐไว้ใช้โฆษณาอดีต แต่หากปรากฏในปัจจุบัน รัฐก็พร้อมจะกดขี่ปราบปรามเสมอ
เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า รัฐยินดียกย่อง Louise Michel ที่ตายไป แต่ไม่ลังเลที่จะปราบปราม Louise Michel ที่ยังมีชีวิต