น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนชาวภาคเหนือ เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด จนกระทั่งก่อให้เกิดอาการไอ จาม หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ ที่น่ากลัวที่สุด คือ ถึงขั้นเป็น ‘มะเร็งปอด’
เมื่อตรวจสอบดูค่าฝุ่น PM 2.5 จาก ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในวันนี้ (9 เม.ย.) พบว่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี กาญจนบุรี บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์
- ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35.0 - 192.7 มคก./ลบ.ม.
- ภาคอีสาน เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 30.5 - 83.8 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 14.8 - 50.4 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 4.3 - 26.0 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 11.1 - 23.3 มคก./ลบ.ม.
- กทม.-ปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 9.1 - 24.9 มคก./ลบ.ม.
หากดูเฉพาะ ‘ภาคเหนือ’ พบ พื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ อยู่ในระดับสีแดง ดังนี้
- ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร 77.7 มคก./ลบ.ม.
- ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน 78.9 มคก./ลบ.ม.
- ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน 98.5 มคก./ลบ.ม.
- ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา 90.6 มคก./ลบ.ม.
- ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 87.8 มคก./ลบ.ม.
- ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน 95.2 มคก./ลบ.ม.
- ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน 105.2 มคก./ลบ.ม.
- ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 101.1 มคก./ลบ.ม.
- ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 139.8 มคก./ลบ.ม.
- ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย 150.7 มคก./ลบ.ม.
- ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 119.2 มคก./ลบ.ม.
- ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 127.5 มคก./ลบ.ม.
- ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 147.3 มคก./ลบ.ม.
- ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 75.6 มคก./ลบ.ม.
- ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่125.8 มคก./ลบ.ม.
- ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 108.8 มคก./ลบ.ม.
- ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 95.8 มคก./ลบ.ม.
- ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 192.7 มคก./ลบ.ม.
ขณะที่ ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir ที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วโลก ตั้งแต่เช้าถึงช่วงเที่ยงของวันนี้ (9 เม.ย.) ‘เชียงใหม่’ ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) โดย AQI เฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 206 ตามมาด้วย เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล , เมืองเดลี ประเทศอินเดีย , Kuwait City ประเทศคูเวต ที่สลับกันในบางเวลา มีเพียง ‘เชียงใหม่’ ที่ครองอันดับ 1 อย่างมั่นคง
ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมื่อมลพิษอากาศเชียงใหม่ พุ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก จากสภาพที่ควันหนาทึบคลุมทั่วทั้งเมือง ด้วยเหตุไฟป่าที่รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับอันตราย ‘นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร’ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่ารวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอพร้าว พร้อมออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่องข้อแนะนำแนวทางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ กรณีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 9 - 11 เมษายน 2567 ดังนี้
- ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งในระบบการทำงานที่บ้าน Work From Home มาใช้โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน
- ขอความร่วมมือสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหาร พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก
- ขอความร่วมมือให้บริษัทห้างร้านสถานประกอบการพิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน Work From Home หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัท
- ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยวปรับลดกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านขอให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกครั้ง
- ขอความร่วมมือกลุ่มเปราะบาง เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน
- ขอให้หน่วยงานของรัฐเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน
- ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีการเรียนการสอน และไม่มีห้องลดฝุ่นพิจารณาหยุดการเรียนการสอน
- ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ออก 6 มาตรการ ดังนี้
- ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเฝ้าติดตามระวังสถานการณ์รายวัน เพื่อสื่อสารถึงประชาชนในการลดความเสี่ยงรับฝุ่น และออกให้ความช่วยเหลือ
- สำรวจกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ‘เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย’ ติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำและเฝ้าระวังผลกระทบ ทางสุขภาพ
- เปิด ‘คลินิกมลพิษ คลินิกมลพิษออนไลน์ และห้องจัดทำฝุ่น’ ในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางเข้าใช้ลดความเสี่ยงการรับสัมผัสฝุ่น ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้องและยังมีห้องปลอดฝนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 416 แห่ง
- จัด ‘หน่วยแพทย์เคลื่อนที่’ ออกดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกให้ความรู้ และสนับสนุนหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง โดยพื้นที่เชียงใหม่แจกหน้ากากไปแล้ว 153,557 ชิ้น และทุกอำเภอยังได้เตรียมการสำรองเวชภัณฑ์ยา หน้ากากป้องกันฝุ่น สำหรับผู้ป่วยเพื่อพร้อมให้การสนับสนุนทันที
- ถ่ายทอดความรู้การจัดทำ ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน
- กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพเวชกรรมกำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดให้กับประชาชนในพื้นที่เพราะนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและ ‘รักษามะเร็งปอดระยะเริ่มแรก’ ก่อนโรคจะลุกลาม
นี่อาจเป็นเพียงมาตรการดูแลประชาชนชาวภาคเหนือเพื่อหลีกหนีภัยร้ายจากฝุ่นพิษได้แค่ชั่วคราว หลังจากนี้ รัฐบาลคงต้องเดินหน้ามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะยาวอย่างเต็มสูบ โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้เกิดการเผา เพราะประเทศไทยคงไม่อยากเห็นการเจ็บป่วย รวมถึง ‘การสูญเสีย’ ที่เกิดจาก ‘ฝุ่นพิษ’ เหล่านี้อีกต่อไปแล้ว